อ.เสรี เผยพายุโนรู อาจไม่ใช่พายุลูกสุดท้ายของปี จี้รัฐอย่ายึดติดกับดักปี54

อ.เสรี เผยพายุโนรูอาจไม่ใช่พายุลูกสุดท้ายของปี จี้รัฐอย่ายึดติดกับดักปี’54 ทั่วโลกเผชิญภาวะ Weather Extremes “สภาวะอากาศสุดขั้ว” อนาคตพายุไต้ฝุ่นมีโอกาสกลายเป็นพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นได้ง่าย นักวิชาการชี้ทุกคนควรตระหนักโลกร้อนซ้ำวิกฤตบริหารจัดการน้ำยังแก้ไม่ตรงจุด 

วันที่ 29 กันยายน 2565 รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ Weather Extremes สภาวะอากาศสุดขั้ว? จัดโดย Decode.plus SEA-Junction ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม (The Thai Society of Environmental Journalists)  Bangkok Tribune ว่า

จากสถิติพบว่าไทยเคยอยู่ในประเทศที่เสี่ยงภัยพิบัติเป็นอันดับ 10 และ 13 ของโลก และได้รับเสียหายจากภัยแล้งที่สุด ในปี 2561 อยู่ลำดับที่ 8 ของโลก เฉพาะเรื่องอุณหภูมิของประเทศไทย จะเห็นว่าอุณภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 0.4 องศาเซลเซียส จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าภูมิอากาศส่งผลต่อทรัพยากรน้ำที่ปัจจุบันเราต่างอยู่บนโลกที่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากภาวะโลกร้อน

โดยรหัสแดงอันตรายทางธรรมชาติที่โลกต้องเผชิญจากนี้คือ “แพร่หลาย รวดเร็ว รุนแรง” ที่ไม่ว่าจะมองแค่ในแง่อุณหภูมิที่สูงขึ้น แต่ปัญหาที่จะตามมาคือภัยแล้ง น้ำท่วม หรือน้ำทะเลสูงจะเพิ่มขึ้นสาหัสไม่แพ้กัน ขณะที่ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายต่างให้คำมั่นสัญญา COP21 เพื่อลดอุณภูมิโลกแต่อาจจะช้าเกินไป

เนื่องจากอุณภูมิโลกต่อไปหากไม่ทำอะไรเลยจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยจากงานวิจัย IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้ว่าตอนนี้พายุต่าง ๆ จะอ่อนกำลังจากไต้ฝุ่น เป็นพายุโซนร้อน และอ่อนกำลังเป็นร่องความกดอากาศก็ตาม แต่จากสถิติงานวิจัยข้างต้น

เชื่อได้เลยว่า มีความเป็นไปได้ที่พายุไต้ฝุ่นจะมีโอกาสเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นได้ในอนาคต ซึ่งหากดูจากความถี่น้ำท่วมที่เห็นในไทย มีข้อมูลบ่งชี้แล้วว่าหลายพื้นที่ “แล้งจะแล้งหนักและท่วมจะท่วมหนัก” ขณะที่อุณภูมิของไทยที่สูงสุดรายวันก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่แน่ว่าอนาคตไปเชียงรายอาจจะไม่หนาวอีกต่อไป ถามว่าหากทุกคนไม่ปรับตัวจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อโลกของเราได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่อุณหภูมิของโลกกำลังสูงขึ้น และมันกำลังรุนแรงขึ้น

หันมาดูข้อมูลพื้นที่ กทม. จากข้อมูลปริมาณฝนรายวันเปลี่ยนแปลงไป และน้ำหลากปี 2554 เดิมที่เคยคำนวณว่าอยู่ในรอบ 50 ปี แต่มองปีนี้แล้วเปลี่ยนไปเร็วขึ้นวงรอบ 10 ปี ซึ่งมีสาเหตุจากการสร้างถนน ตึก การพัฒนาเมืองที่รวดเร็ว ยกถนนมากขึ้น และแนวโน้มปริมาณฝนเพิ่มขึ้น และอนาคตคาดว่าจะเกิดในทุก ๆ 10 ปี แต่อาจจะเร็วกว่านั้นหากเราไม่ทำอะไรเลย 

ขณะนี้สถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นปีนี้ 2565 เมื่อเทียบน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 การระบายน้ำผ่านเจ้าพระยาเทียบปีนี้ต่างกันครึ่งต่อครึ่ง แม้น้ำเหนือไม่ทะลักเข้ามาแน่ แต่รัฐไม่ควรไปติดกับดักข้อมูลปี 2554 แม้ต่างกันน้ำมากกว่า แต่ขอให้ตั้งคำถามว่า ทำไมน้ำยังท่วม นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อสิบปีที่แล้ว อย่าลืมว่าเรายกถนน สร้างตึก น้ำไม่มีที่อยู่ กว่าน้ำจะลงแม่น้ำคนอยุธยาก็รับไปเต็ม ๆ

ดังนั้น “พายุโนรู” ปีนี้อาจจะทำให้น้ำท่วมยาวไปถึงเทศกาลลอยกระทงหรือปีใหม่ เพราะจากการติดตามสภาพอากาศกันยายน-พฤศจิกายน หลายเขื่อนเริ่มมีปริมาณมาก เช่นเขื่อนกระเสียว ป่าสักฯ และจาก “ตกกระจุกก็เริ่มกระจาย”

และจากการติดตามแนวโน้มพายุ คาดว่าพายุโนรูอาจไม่ใช่พายุลูกสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะมาอีก 1 ลูก ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนั้น เราต้องปรับตัวและมีมาตรการเชิงโครงสร้างที่มากกว่าการเตือนภัย ช่วยเหลือ เยียวยา 

“ปีนี้เราคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดพายุ 23 ลูก และตอนนี้เหลืออีก 7-8 ลูกเท่านั้นที่ยังไม่เกิด และเราก็ไม่อาจคาดเดาได้ในอนาคต หรืออาจจะเกิดหรือไม่เกิด ลูกไหนมันจะกระทบกับเราได้บ้าง ตอบไม่ได้ในทันที เพราะเรายังคาดการณ์ไม่ได้แม่นยำขนาดนั้น มันเป็นแค่การพยากรณ์ ขอให้การรับมือของรัฐบาลมีมากกว่าการเตือนภัย ช่วยเหลือ เยียวยา เวลาพายุมา แต่เราทำได้แค่นี้ วนอยู่อย่างนี้มาตลอด 10 ปี”

มองรัฐจัดการปัญหาไม่ตรงจุด

ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่าสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง หรือ ‘สภาวะอากาศสุดขั้ว (Weather Extremes) คือสาเหตุหลักของปัญหาในการจัดการน้ำประเทศไทยโดยตรง เมื่อโลกเปลี่ยน ชีวิตมนุษย์ก็ต้องเปลี่ยนแปลงตาม แต่การที่ไม่ปรับตัว เช่นจะเห็นว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือผังเมืองในกรุงเทพมหานครไม่ได้จัดการให้ตรงจุด โดย กทม.ซึ่งมีที่ระบายน้ำหลักเป็นคลองที่รู้จักกัน 2-4 คลอง เพื่อใช้ในการระบาย 

“เมื่อการขยายตัวเมืองมีมากขึ้นและรวดเร็ว คลองเหล่านี้ถูกถมที่เป็นตึกสูง สร้างอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้น้ำท่วมกรุงเทพมหานครได้สักที ขณะที่มีพื้นที่ป่าลดลง มากไปกว่านั้น แผนการฟื้นฟูระยะยาวตัองไม่ลืมว่าธรรมชาติอาจไม่ให้เวลาเรานานขนาดนั้น” 

อีกข้อสำคัญคือ นโยบายภาครัฐ เรามักจะมองกันที่การระบายน้ำเมื่อหน้าฝน แต่กลับลืมภัยแล้ง เช่น การผันน้ำยวมมาลงเขื่อนภูมิพล ซึ่งใช้งบจำนวนกว่าแสนล้านบาท เพื่อจัดการปัญหาที่ไม่ตรงจุด งบประมาณยังมองไปในระดับเมกะโปรเจ็กต์มากเกินไป ซึ่งขณะนี้อยากให้ทุกคนช่วยกันจับตา 9 แผนหลักเจ้าพระยา ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิด คุ้มค่า เอื้อผลประโยชน์ทางทางเมืองหรือไม่ 

ดังนั้น การรับมือกับสภาวะอากาศสุดขั้ว ทำอย่างไรที่ประเทศไทยจะแก้ไขปัญหานี้โดยไม่สร้างปัญหาอื่นเพิ่ม

สทนช.ออกแบบแผนแม่บทน้ำหวังบริหารเอกภาพ

นายอัตถพงษ์ ฉันทานุมัติ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนแม่บท สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า  สนทช.มีหน้าที่กำกับดูเเลการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำหนุน และน้ำเสีย ภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งต้องดูทั้งต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ และขยายผลการพัฒนามองไปถึงป่าต้นน้ำ

ซึ่งต้องยอมรับว่าทรัพยากรแหล่งน้ำต้องกลับมายกเครื่อง ปรับกลไกการทำงานเดิม ๆ ที่ว่า ตามแผนแม่บทน้ำ กฎหมายผังน้ำ รวมถึงป่าชายเลน ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ซึ่งทั้ง 38 หน่วยงานน้ำร่วมบูรณาการ ทำฐานวิเคราะห์ เพื่อรองรับความเสี่ยง ลด 4 เพิ่ม 3 ลดความสูญเสียเศรษฐกิจ เพิ่มเครือข่ายความร่วมมือ ต่อไปจะต้องทำงานอย่างมีเอกภาพ โดยภาครัฐกับประชาชนมาหาทางออกร่วมกัน อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ยิ่งสะท้อนปัญหาความเสี่ยงและความท้าทายการบริหารจัดการน้ำ

ปัจจุบัน สถานการณ์น้ำ สภาพภูมิอากาศทำให้ต้องปรับ เช่นแต่ละปีมีข้อแตกต่างเรื่องปริมาณฝน ขึ้นอยู่กับรูปแบบซึ่งส่งผลต่อความหนักเบาของฝน จากเดิมปริมาณฝนในกรุงเทพฯจะอยู่ที่ 900 กว่ามิลลิเมตร ปีนี้กระโดดขึ้นไปเกือบ 2,000 มิลลิเมตร นี่คือสิ่งสะท้อนความแปรปรวนของสภาพอากาศที่มีผลต่อปริมาณฝน 

ส่วนพื้นที่ประเทศไทยตอนบน ปีนี้ก็มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ บางจุดก็มีปริมาณฝนน้อยลงมากกว่า ร้อยละ 10 บางจุดไม่มีฝนตกเลยก็มี ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกได้รับผลกระทบน้อย สวนทางกับภาคใต้ฝั่งตะวันตกที่มีปริมาณฝนสูงขึ้นร้อยละ 17 

น่าสนใจว่า หากกลับมาดูจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาเก็บค่าฝนเฉลี่ยมาตลอด จะพบว่าพายุที่เข้าไทยมีน้อยลง แต่รูปแบบเปลี่ยนแปลงไป เช่น “พายุโนรู” ที่เข้ามาเต็ม ๆ รวดเร็ว จะพบว่าอุ้มน้ำมาเยอะก่อนเข้าไทย ตรงนี้เชื่อมโยงกับฝน

ดังนั้น ปีนี้ความเข้มข้นของฝนดูเหมือนจะตกเท่าเดิม แต่จากข้อมูลพบว่า ถ้าเราเชื่อมโยงกับข้อมูลฝนปี 2554 ค่าเฉลี่ยฝนที่ตกในปีนี้น้อยกว่า สะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะยิ่งพบ “ความเสี่ยง” กลายเป็นสีเเดงค่อนข้างเยอะ และสิ่งหนึ่งที่เป็นปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูง น้ำไปไหนไม่ได้ การกัดเซาะชายฝั่งค่อนข้างเยอะ นี่คือภาพฉายว่าต้องทำอย่างไรในอนาคต 

สื่อต้องรายงานด้วยข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำภายใต้สถานการณ์วิกฤต 

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gistda) มองว่า สื่อต้องระมัดระวังและให้ความสำคัญกับข้อมูลที่จะรายงาน ซึ่งต้องมีข้อมูลความถูกต้องและแม่นยำเป็นสำคัญ สื่อจะเป็นตัวแสดงสำคัญในลำดับต้น ๆ เพราะสารที่กำลังจะถูกส่งนั้นมีความสำคัญยิ่งกว่า ภายใต้สถานการณ์วิกฤต ข่าวสารอาจทำให้เกิดความสับสนและความไม่แน่นอน ผลร้ายที่สุดของมันคือทำให้เราไม่รู้ความจริงที่แน่นอนต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น จนอาจนำไปสู่ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของประชาชนได้

“นอกจากนี้ บุคลากรทุกวิชาชีพเองก็มีบทบาทสำคัญในการประเมินสถานการณ์ภัยพิบัติหรือด้านน้ำ ซึ่งมุมมองของนักวิศวกรอาจแตกต่างกับด้านวิทยาศาสตร์ หรือบุคลากรที่มาดูเรื่องนี้ต้องมีความรู้พื้นฐานทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ดังนั้น ทุกหน่วยควรได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน ซึ่งควรเอาการพัฒนาเป็นตัวตั้ง 

ขณะที่ดาต้าที่มีก็ควรปรับ เช่น ด้านภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาเก็บข้อมูลอยู่แล้วเป็นรูทีน แต่ควรจะต้องมองในเรื่องของการวางแผนการเก็บข้อมมูลเพื่อตอบโจทย์ที่จะเป็นข้อมูลชี้ชัด ที่ไม่ต้องเสียเวลาเก็บย้อนหลังหลายสิบปี ในส่วนนี้ควรต้องมีการทุ่มงบประมาณลงทุนการวิจัยอย่างน้อย 1% ก็ถือว่ายังดี” ดร.อานนท์กล่าวทิ้งท้าย