เช็ก 38 จังหวัดเสี่ยงท่วม เปิดแผนรับมือ พายุโนรู เข้าไทยคืนนี้

กรมอุตุฯเตือนโนรูฉบับ4

พายุ “โนรู” จ่อเข้าภาคอีสานคืนนี้ 28-29 ก.ย. 65 และคาดว่าจะกระทบ 38 จังหวัด ส่งผลให้ทุกหน่วยงานระดมกำลัง สื่อสาร ซักซ้อมแผนอพยพช่วยเหลือประชาชนล่วงหน้าพร้อมวางแผนพร่องน้ำ 2 เขื่อนใหญ่ แม้ได้รับการยืนยันว่าจะไม่ซ้ำรอยปี 2554 แต่น่าห่วงว่า 16 เขื่อน เริ่มมีปริมาณน้ำมากเกินความจุ

วันที่ 28 กันยายน 2565 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์พายุ “โนรู” ร่วมกับศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ว่า

จากการติดตามสถานการณ์พายุไต้ฝุ่นโนรู อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามที่เมืองฮานอยในวันนี้เวลา 04.00 น. และเคลื่อนผ่านประเทศลาวตอนล่างก่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทยบริเวณ จ.อำนาจเจริญ และอุบลราชธานีในวันที่ 29 กันยายนนี้ (ช่วงดึกคืนนี้ 28 ก.ย. 65) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ 


   

16 เขื่อนเฝ้าระวังน้ำล้นเกินความจุ

โดย “พายุโนรู” ซึ่งถือเป็นพายุลูกแรกที่เข้าสู่ประเทศไทยในปีนี้ กอนช. พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำใน “แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังปริมาณน้ำกักเก็บสูงสุดถึง 16 แห่ง” (กราฟิก) รวมถึงขนาดเล็กในจุดเสี่ยงต่าง ๆ การตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน เตรียมพร้อมวางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ตรวจความมั่นคงและปลอดภัยคัน ทำนบ พนังกั้นน้ำ

พร้อมทั้งให้ข้อมูลจุดเสี่ยงได้รับผลกระทบเพื่อประสานงาน อำนวยความสะดวกจัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ “ที่สำคัญ คือ การแจ้งเตือนประชาชน” ให้เข้าถึงทุกพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง การระดมสรรพกำลังทหาร พลเรือน เครื่องจักรเครื่องมือ ระบบสื่อสาร การอพยพช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด

เตรียมพร่องน้ำเขื่อนป่าสัก-อุบลรัตน์

เพื่อรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาเพิ่มเติมแม้จะเป็นข้อจำกัดค่อนข้างมาก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีปริมาณฝนที่ตกมากระจายตัวในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

จึงต้องมีการตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เพื่อบูรณการบริหารจัดการน้ำการ “พร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่” ให้สอดคล้องกับคาดการณ์ปริมาณฝน โดยมีการเตรียมการ “พร่องน้ำเป็นการล่วงหน้า” เพื่อรองรับน้ำ ได้แก่ เขื่อนป่าสักฯ มีที่ว่างรับน้ำได้ประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เขื่อนอุบลรัตน์รับน้ำได้อีก 360 ล้าน ลบ.ม. 

“ขณะนี้ได้เริ่ม เพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาทำให้มีช่องว่างในการรับน้ำได้มากขึ้น และกำลังเตรียมการรับน้ำเข้าทุ่งต่าง ๆ ในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ในกรณีที่มีปริมาณน้ำมาก และมีการประสานแจ้งประชาสัมพันธ์ชาวบ้าน ที่จะมีการระบายน้ำ ให้เข้าถึงข้อมูลสถานการณ์น้ำทันที”

ภาคอีสาน พื้นที่แรกรับพายุ “โนรู”

อย่างไรก็ดี จากการประเมินที่ว่า “ภาคอีสาน” จะเป็นพื้นที่แรกที่จะได้รับอิทธิพลจากพายุ “โนรู” เข้าฝั่งไทยก่อนนั้น ล่าสุด มีน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ ได้แก่ อ.พิมาย อ.จักราช จ.นครราชสีมา อ.จอมพระ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ อ.ห้วยทับทัน อ.เมืองศรีสะเกษ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี และทุกสถานีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

ขณะที่ลุ่มน้ำชีปริมาณน้ำล้นตลิ่งเกือบตลอดแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น อ.เมืองโกสุมพิสัย อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด อ.บ้านใหม่ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร อ.เขื่องใน 

จ.อุบลราชธานี ส่วนสถานการณ์น้ำภาคกลางล่าสุดในลุ่มน้ำป่าสักมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ต้นน้ำป่าสักบริเวณ อ.หล่มสัก 

จ.เพชรบูรณ์ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ และท้ายน้ำมีปริมาณน้ำเกินความจุลำน้ำอยู่เล็กน้อยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำบริเวณคลองโผงเผงแม่น้ำน้อยแม่น้ำเจ้าพระยาแนวโน้มระดับน้ำยังทรงตัว

เช็ค 38 จังหวัดได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2565 (หรือคืนนี้) คาดว่าจะมีผลกระทบ 38 จังหวัด บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ซึ่ง กอนช.ได้มีการเตรียมการมาตั้งแต่ต้นฤดูตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนไว้ล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเพื่อให้ข้อมูลหน่วยงานได้เตรียมการในระดับพื้นที่ ขณะนี้ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่พร้อมรับสถานการณ์

โดย 38 จังหวัด เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ําท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ดังนี้

1.ภาคเหนือ

จังหวัดเชียงใหม่ (อําเภอฮอด จอมทอง ดอยหล่อ ดอยเต่า และแม่วาง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อําเภอสบเมย และแม่สะเรียง) จังหวัดลําปาง (อําเภอห้างฉัตร เกาะคา เสริมงาม เมืองลําปาง และสบปราบ) จังหวัดลําพูน (อําเภอเวียงหนองล่อง ป่าซาง แม่ทา และป่าซาง) จังหวัดกําแพงเพชร (อําเภอปางศิลาทอง และคลองลาน) จังหวัดตาก (อําเภอพบพระ อุ้มผาง และแม่สอด)

จังหวัดแพร่ (อําเภอวังชิ้น ลอง และเด่นชัย) จังหวัดอุตรดิตถ์ (อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแล และทองแสนขัน) จังหวัดพิษณุโลก (อําเภอนครไทย วัดโบสถ์ และชาติตระการ) จังหวัดนครสวรรค์ (อําเภอแม่วงก์) จังหวัดอุทัยธานี (อําเภอบ้านไร่) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อําเภอหล่มสัก เมืองเพชรบูรณ์ บึงสามพัน และวิเชียรบุรี)

2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จังหวัดชัยภูมิ (อําเภอคอนสาร เกษตรสมบูรณ์ และหนองบัวแดง) จังหวัดขอนแก่น (อําเภอภูผาม่าน และภูเวียง) จังหวัดนครราชสีมา (อําเภอเสิงสาง ปักธงชัย ครบุรี วังน้ำเขียว โชคชัย ปากช่อง หนองบุญมาก สูงเนิน สีคิ้ว และเมืองนครราชสีมา)

จังหวัดบุรีรัมย์ (อําเภอบ้านกรวด ประโคนชัย ละหานทราย เฉลิมพระเกียรติ พลับพลาชัย โนนดินแดง ปะคํา นางรอง กระสัง โนนสุวรรณ หนองกี่ เมืองบุรีรัมย์ และชํานิ) จังหวัดสุรินทร์ (อําเภอพนมดงรัก สังขะ บัวเชด พนมดงรัก ปราสาท กาบเชิง ลําดวน ศรีณรงค์ ศีขรภูมิ เขวาสินรินทร์ และเมืองสุรินทร์) จังหวัดศรีสะเกษ (อําเภอขุขันธ์ ภูสิงห์ ไพรบึง ปรางค์กู่ ขุนหาญ วังหิน และกันทรลักษ์)

3.ภาคกลาง

จังหวัดสิงห์บุรี (อําเภอพรหมบุรี บางระจัน และท่าช้าง) จังหวัดอ่างทอง (อําเภอ เมืองอ่างทอง แสวงหา ไชโย วิเศษชัยชาญ และโพธิ์ทอง) จังหวัดลพบุรี (อําเภอลําสนธิ และพัฒนานิคม) จังหวัด สระบุรี (อําเภอเมือง แก่งคอย หนองแซง หนองแค พระพุทธบาท เสาไห้ และเฉลิมพระเกียรติ) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (อําเภอผักไห่ เสนา บางบาล บางปะหัน พระนครศรีอยุธยา นครหลวง ภาชี และท่าเรือ)

จังหวัดนครปฐม (อําเภอกําแพงแสน และบางเลน) จังหวัดสุพรรณบุรี (อําเภอด่านช้าง และเดิมบางนาง บวช) จังหวัดกาญจนบุรี (อําเภอสังขละบุรี และหนองปรือ) จังหวัดราชบุรี (อําเภอเมืองราชบุรี บ้านโป่ง ปากท่อ สวนผึ้ง และบ้านคา) รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

4.ภาคตะวันออก

จังหวัดนครนายก (อําเภอปากพลี) จังหวัดสระแก้ว (อําเภอตาพระยา โคกสูง อรัญประเทศ วัฒนานคร และคลองหาด) จังหวัดระยอง (อําเภอเมืองระยอง แกลง วังจันทร์ และบ้านค่าย) จังหวัดจันทบุรี (อําเภอขลุง แหลมสิงห์ ท่าใหม่ เมืองจันทบุรี เขาคิชฌกูฏ โป่งน้ําร้อน และนายายอาม) จังหวัดตราด (อําเภอเกาะกูด คลองใหญ่ เมืองตราด บ่อไร่ เกาะช้าง แหลมงอบ และเขาสมิง)

5. ภาคใต้

จังหวัดระนอง (อําเภอเมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ และสุขสําราญ) จังหวัด พังงา (อําเภอเมืองพังงา กะปง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า และตะกั่วทุ่ง) จังหวัดภูเก็ต (อําเภอเมืองภูเก็ต และถลาง) จังหวัดนครศรีธรรมราช (อําเภอเมืองนครศรีธรรมราช ท่าศาลา และปากพนัง) จังหวัดนราธิวาส (อําเภอศรีสาคร จะแนะ และสุคิริน)

ยืนยัน กทม. ไม่ซ้ำรอยเหตุการณ์ปี 2554

สำหรับการเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาหากมีการเพิ่มขึ้น กอนช.ได้เน้นย้ำกรมชลประทานให้มีการแจ้งเตือนประชาชนท้ายน้ำล่วงหน้า รวมถึงระดับน้ำที่คาดว่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อให้ประชาชนยกของขึ้นที่สูงหรือเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน หรืออพยพไปยังจุดที่ปลอดภัยได้ล่วงหน้าทันที

“และผมขอย้ำว่า พื้นที่ กทม.และปริมณฑลที่หลายฝ่ายมีข้อห่วงกังวลว่าจะซ้ำรอยเหตุการณ์ปี 2554 นั้น แม้ว่าอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ แต่จะไม่เหมือนกับปี 2554 ที่ปัญหาน้ำท่วมเกิดจากพายุเข้าประเทศไทยถึง 5 ลูก

และมีปริมาณน้ำเหนือที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์มากถึง 3,935 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) และระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาถึง 3,709 ลบ.ม./วินาที (อัตราการะบายสูงสุด 2,840 ลบ.ม./วินาที) แต่ในปัจจุบันมีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,100  ลบ.ม./วินาที และสถานีวัดน้ำ C.29A ที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,738 ลบ.ม./วินาที จากความจุ 3,500 ลบ.ม./วินาที ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะมีน้ำเหนือหลากเข้า กทม.และปริมณฑล เหมือนปี 2554″

เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนได้ทันที แต่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ถึงสถานการณ์น้ำในปีนี้เนื่องจากปีนี้ต้องยอมรับว่าปีนี้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติ โดยในเดือน ต.ค.จะปริมาณฝนมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จากนั้นช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.ปริมาณฝนจะตกมากในพื้นที่ภาคใต้ตามลำดับ