หวั่นเวียดนามฮุบตลาดจีน หมดยุคผูกขาดทุเรียนไทย

หมดยุคผูกขาดทุเรียนไทยในตลาดจีน หลัง “เวียดนาม” ได้ไฟเขียวจากจีนให้นำเข้าทุเรียนสดได้ ผู้ส่งออกไทยกังวลราคาถูกกว่า-ขนส่งใกล้กว่า-รสชาติ-รูปพรรณแยกไม่ออก แห่เข้าไปตั้งล้งในเวียดนาม จีนแก้เกี้ยวตั้งจุดรับซื้อทั้งไทยและเวียดนาม ชี้ทุเรียน “ฟิลิปปินส์-ลาว-เขมร” จ่อคิวทะลักเข้าจีนอีก แนะไทยยกระดับเป็น “ทุเรียนพรีเมี่ยม” หนีตลาดล่าง

แม้ว่าในปี 2564 ประเทศไทยสามารถส่งออกทุเรียนสดไปจีน คิดเป็นปริมาณ 807,226 ตัน และแนวโน้มปี 2565 จะส่งไปได้เกินกว่า 1 ล้านตัน จนทำให้ “ทุเรียนไทย” ครองส่วนแบ่งตลาดจีนสูงที่สุด แต่นับจากนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว หลังจากที่สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้ประกาศลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 อนุญาตให้ “ประเทศเวียดนาม” ส่งทุเรียนผลสดเข้าจีนได้เป็นประเทศที่ 2 ด้วยการรับรองการขึ้นทะเบียนรายชื่อสวน 51 สวน และโรงคัดบรรจุอีก 25 ราย

ขณะที่ผลผลิตมีประมาณ 700,000 ตัน ขณะที่สื่อจีนเองก็รายงานข่าวการนำเข้าทุเรียนเวียดนาม ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นลำดับที่ 2 ต่อจากประเทศไทยด้วย

ล่าสุดจีนได้นำเข้าทุเรียนสดลอตแรกจากเวียดนาม เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา จำนวน 20 ตู้ ประมาณ 500 ตัน โดยทุเรียนดังกล่าวใช้เวลาไม่ถึง 2 วัน “ขายหมดเกลี้ยง” ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้สร้างความกังวลให้กับวงการทุเรียนไทย ในข้อที่ว่าในอนาคตอันใกล้ ประเทศจะสูญเสียโอกาสครองตลาดทุเรียนอันดับ 1 ในจีน และราคาจะปรับลดลงตามผลผลิตทุเรียนที่เข้าไปตีตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น

นอกจากเวียดนามแล้วยังมี ประเทศฟิลิปปินส์ จะส่งออกทุเรียนไปจีนได้ภายในปลายปีนี้ ตามมาด้วย สปป.ลาว-กัมพูชา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาทำข้อตกลงพิธีสารจากจีน เพื่อนำเข้าทุเรียนสดได้เช่นเดียวกัน

ผู้ส่งออกไทยแห่ไปตั้งล้งที่เวียดนาม

นางสาวลิลพัชร์ ทองโสภา เจ้าของบริษัท เดอะลิส อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทส่งออกทุเรียนไทยรายใหญ่ที่ขยายฐานไปประเทศเวียดนาม กล่าวว่า ได้ส่งทุเรียนเวียดนามจำนวน 1 ตู้ ไปเปิดตลาดที่ “เจียงหนาน” ซึ่งเป็นตลาดผลไม้ใหญ่ที่สุดของจีน โดยทุเรียนสามารถขายหมดภายใน 1 ชั่วโมง เนื่องจากช่วงนี้ทุเรียนในตลาดเจียงหนานมีน้อยวันละ 9-10 ตู้

ดังนั้นทุเรียนเวียดนามที่ส่งเข้าไปจึงช่วยกระตุ้นตลาดที่มีช่องว่างและคนจีนรอคอยทดลองรสชาติทุเรียนเวียดนาม ซึ่งราคาก็ไม่ได้ต่างกันมากสามารถทำตลาดได้ดี ทุเรียนเวียดนามกล่องขนาด 18 กก. ราคากล่องละ 800-950 หยวน ส่วนทุเรียนไทย 980-1,000 หยวน เมื่อดูจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้วไม่มีความแตกต่างกันเลย ทั้งรูปทรง-เปลือกสวย การควบคุมอุณหภูมิทำได้ดี ทุเรียนไม่แตก มีความสุกพอดี

ต่อจากนี้ไป “เวียดนาม” จะกลายเป็นคู่แข่งทุเรียนไทยอย่างเป็นทางการ ทุเรียนเวียดนามมีตลาดไปได้ไกล ด้วยราคาที่ถูกกว่าเกือบ 50% เพราะต้นทุนการผลิตต่ำกว่าและระยะทางขนส่งที่รวดเร็ว ทำให้ทุเรียนตัดแก่กว่าไทย รสชาติตรงกับความชื่นชอบของตลาดจีน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออกทุเรียนไทยที่ต้องเตรียมการคือ

1) การขนส่งติดด่านเวียดนาม หากมีทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามส่งออกพร้อม ๆ กันจำนวนมาก 2) การแข่งขันด้านราคา ทุเรียนเวียดนามราคา “ถูกกว่า” ทุเรียนไทยเกือบ 50% ด้วยต้นทุนการผลิต การดูแล ต้นทุนการขนส่งต่ำกว่า และจำนวนใบรับรอง GAP และ GMP ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผลผลิตทุเรียนเวียดนามมีมาก การส่งออกจะแข่งขันราคากันมากขึ้น และ 3) คุณภาพทุเรียนเวียดนาม มีโอกาสพัฒนาให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพเช่นเดียวกับทุเรียนไทย และมาตรการควบคุมการตัดทุเรียนอ่อน โดยสวนทุเรียนที่ได้ใบรับรอง GAP ทางการเวียดนามมีการเข้มงวดมาก

“ทุเรียนไทยที่ส่งไปตลาดจีนตอนนี้มีปริมาณน้อย ดังนั้นทุเรียนเวียดนามจะช่วยเติมเต็ม แต่เป็นทุเรียนนอกฤดู มันยังวัดกันไม่ได้ ต้องรอดูสถานการณ์อีก 2-3 เดือน (ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม) ข้างหน้า ตอนนั้นทุเรียนเวียดนามจะออกตรงกับทุเรียนภาคใต้ของไทย ส่วนทุเรียนภาคตะวันออกจะออกในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

นอกจากนี้เรายังพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกทุเรียนไทย โรงคัดบรรจุไทย-เวียดนามนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดียวกัน มีเถ้าแก่ใหญ่ในไทย-จีนเป็นคนคนเดียวกัน โดยบริษัทต่าง ๆ ในไทยได้เข้าไปขยายสาขาตั้งโกดังที่เวียดนาม แต่ยังมีจำนวนไม่มาก เพราะจำนวนสวนและโรงคัดบรรจุที่ได้รับการขึ้นทะเบียนยังน้อย การแข่งขันด้านราคาตอนนี้ยังไม่สูง

แต่การขยายสาขารับซื้อทุเรียนเวียดนามที่ราคาถูกกว่าจะลดการผูกขาดทุเรียนไทย ทางเดอะลิสฯเองก็มีโกดังอยู่ 3 แห่ง ภาครัฐ-ภาคเอกชนไทยต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเรื่องการขนส่งทางบกติดที่ด่าน และรถไฟลาว-จีนที่จะผ่านด่านบ่อเต็น-โหยวอี้กวน ควรเจรจาให้ผ่านเข้าไปจีนได้ไม่ต้องย้ายตู้สินค้า” นางสาวลิลพัชร์กล่าว

ทำไมทุเรียนเวียดนามเติบโต

ด้าน นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายสมาคมผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ไทย และเจ้าของล้ง “ดรากอน เฟรช ฟรุท” จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นผู้ส่งออกทุเรียนไทยรายใหญ่ กล่าวว่า ทุเรียนเวียดนามมีโอกาสเติบโตในตลาดจีน ด้วยเหตุผล 3 ข้อหลัก ๆ คือ 1) ระยะทางขนส่งใกล้กว่า 2) ต้นทุน-ค่าแรงต่ำกว่า มีการใช้ปุ๋ย-สารเคมีน้อยกว่า และ 3) ทุเรียนตัดแก่เป็นที่ชื่นชอบตลาดจีน

ตอนนี้ทางล้ง ดรากอน เฟรช ฟรุท ได้ศึกษาดูลู่ทางที่จะเข้าไปตั้งโกดังรับซื้อทุเรียนในเวียดนามเช่นกัน เพราะทุเรียนเวียดนามถูกกว่าไทยเฉลี่ย กก.ละ 100 บาท เริ่มตั้งแต่ต้นทุนการผลิตของสวนเวียดนาม ถูกกว่าไทยอยู่ที่ประมาณ 20 บาท/กก. (ต้นทุนสวนทุเรียนไทยเฉลี่ย 35-50 บาท/กก.)

ส่วนราคาที่ผู้ส่งออกซื้อทุเรียนเวียดนามได้ประมาณ 125 บาท/กก. ขณะที่ราคาทุเรียนไทยที่ผู้ส่งออกซื้อได้ประมาณ 200-220 บาท/กก. แต่ตอนนี้ปริมาณทุเรียนเวียดนามยัง “น้อยกว่า” ทุเรียนไทยมาก ประมาณ 30-50% ขณะที่พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือ ช่วงที่ทุเรียนไทยออกมาชนกับทุเรียนเวียดนาม 7-8 เดือน หรือเกือบทั้งปี จะทำให้ราคาทุเรียนไทยลดต่ำลง ยกเว้น 3 เดือนช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และเวียดนามยังไม่มีระบบการรับซื้อ ไม่แบ่งคัดเป็นเบอร์

“ทางออกทุเรียนไทยต้องทำส่วนแบ่งการตลาดด้วยคุณภาพ เพราะต่อไปยังมีประเทศฟิลิปปินส์ที่จีนกำลังจะอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนได้แล้ว และกัมพูชาที่ขอนำเข้าเช่นเดียวกัน ราคาทุเรียนเวียดนามที่ถูกกว่าทำให้ผู้ประกอบการในไทยเล็งเปิดสาขาในเวียดนามเพิ่มขึ้น ปัญหาสำคัญของการส่งออกทุเรียนไทยต้องเร่งแก้ไข คือ ระบบการขนส่งทางบก ที่เป็นคอขวดระหว่างประเทศที่ 3 ส่วนทางรถไฟจีน-ลาว การขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ข้ามแดนมีค่าใช้จ่ายสูง ที่ผ่านมามีการขนส่งทางรถไฟน้อยมาก มีเพียง 200 ตู้จากการส่งออกทั้งหมด 100,000 ตู้” นายสัญชัยกล่าว

ต้องขายทุเรียนพรีเมี่ยม

นางสาวปทุมวดี อิ่มทั่ว อัครราชทูตที่ปรึกษา สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำปักกิ่ง ให้ข้อมูลสถานการณ์ทุเรียนตลาดจีน หลังเวียดนามส่งออกทุเรียนไปลอตแรกอย่างเป็นทางการว่า ถือเป็นการทดลองตลาด สร้างกระแสการตื่นตัวคึกคักมาก มีรีวิวกดโหวตเปรียบเทียบทุเรียนไทย-เวียดนาม ดังนั้นในอนาคตทุเรียนไทยไม่ใช่ผู้ส่งออกทุเรียนสดเพียงรายเดียวที่ได้รับอนุญาตนำเข้าจีนอีกต่อไปแล้ว และฟิลิปปินส์เป็นประเทศต่อไป ตามด้วย สปป.ลาว-กัมพูชา และยังมีทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซียด้วย

ดังนั้น ทุเรียนสดไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านซัพพลาย ส่วนแบ่งทางการตลาด “จะถูกแย่งชิงไป” จากที่จีนเคยนำเข้าทุเรียนไทย 95-97% ต่อไปราคาทุเรียนไทยจะถูกลง จึงต้องวางแผนล่วงหน้า ด้านการขนส่งภาครัฐ-เอกชนต้องผลักดันเร่งเปิดด่านการค้าทางบกที่ค้างอยู่ 2-3 ด่านเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทางรถไฟจีน-ลาว และแก้ปัญหาการขนส่งคอขวดที่ด่าน

“การวางโพซิชั่นของทุเรียนไทย เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเป้าหมายกลุ่มแมสจะแข่งขันกับทุเรียนเวียดนามด้วยราคาที่ค่อนข้างถูก ถ้าทำตลาดทุเรียนพรีเมี่ยมจะเป็นโอกาสดึงส่วนแบ่งการตลาดกลุ่มบนของจีน และกลุ่มชนชั้นกลางที่พร้อมจะจ่ายถ้าสินค้าดีมีคุณภาพ จากรูปลักษณ์ภายนอกทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามไม่ต่างกัน

ดังนั้น ต้องสร้างความแตกต่างของทุเรียนไทย ทำแบรนดิ้งสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อเพิ่มมูลค่า อาจจะมีนำเสนอทุเรียนพันธุ์ใหม่ ๆ ทำ rare item เพิ่มจากหมอนทองที่เป็นฐาน การแปรรูปสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ป้อนตลาดจีน สร้างคิวอาร์โค้ดให้ตรวจสอบย้อนกลับ และการทำประชาสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ ๆ ทันสมัย ที่มีอิมแพ็กต์แรง ๆ เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ การร่วมมือกับผู้ประกอบการทำไลฟ์สตรีมมิ่งออนไลน์ ที่มียอดผู้ติดตามจำนวนมาก


“ช่วงนี้ทุเรียนในตลาดจีนราคาสูง เพราะทุเรียนไทยมีน้อย โดยราคาทุเรียนเวียดนามช่วงต้นเดือนกันยายนก่อนที่จะมีการนำเข้าอย่างเป็นทางการ กล่องละ 650-950 หยวน ทุเรียนไทยกล่องละ 1,000-1,300 หยวน แต่เมื่อนำเข้าทุเรียนเวียดนามอย่างเป็นทางการแล้ว ปรากฏราคาทุเรียนเวียดนามได้เพิ่มสูงขึ้นใกล้เคียงกับทุเรียนไทย เนื่องจากทุเรียนเวียดนามที่นำเข้ามีปริมาณไม่มาก อย่างตอนนี้ราคาทุเรียนเวียดนามกล่องละ 950-1,000 หยวน ทุเรียนไทย 1,000-1,100 หยวน ทำให้ผู้บริโภคจีนมีทางเลือกมากขึ้น” น.ส.ปทุมวดีกล่าว