ขายกล้าทุเรียนปีละ 20 ล้านต้น ทุนจีน-เวียดนามบุกปลูกในลาว

กล้าทุเรียน

ไทย-เทศ แห่ปลูกทุเรียน เผยขายต้นพันธุ์ปีละ 20 ล้านต้น ทุนจีน-เวียดนาม ลุยไม่ยั้ง ทุ่มลงทุนขอสัมปทานพื้นที่ใน สปป.ลาวกว่า 7 หมื่นไร่ หวังตั้งฐานอุตสาหกรรมทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ กัมพูชา ไม่น้อยหน้าผลผลิตเริ่มออกแล้ว ทาบจีนขอเปิดตลาดส่งออก ด้านมณฑลไห่หนาน-กวางตุ้ง เร่งปั๊มสายพันธุ์ใหม่ส่งผลิตสู้สินค้านำเข้า

ทุเรียนกลายเป็นผลไม้ที่สร้างชื่อ สร้างมูลค่าส่งออกให้ประเทศไทยปีละกว่าแสนล้านบาท โดยปี 2564 ส่งออกทุเรียน 894,005 ตัน มูลค่า 104,828 ล้านบาท ขึ้นเป็นอันดับ 1 แซงสินค้าภาคเกษตร ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย โดยช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ก.ค.) ไทยส่งออกทุเรียน 706,940 ตัน มูลค่า 75,944 ล้านบาท

ขณะที่รายงานข่าวจากสำนักเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ปี 2564 ประเทศไทยมีการปลูกทุเรียนรวม 1,213,315 ไร่ ต้นที่ให้ผลรวม 865,486 ไร่ รวมผลผลิต 1,216,728 ตัน อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลให้เกษตรกรและนักธุรกิจต่างหันมาลงทุนปลูกทุเรียนจำนวนมากในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการลงทุนของหลายประเทศ

นายเกียรติศักดิ์ ตั้งเจริญสุทธิชัย ผู้เชี่ยวชาญในวงการทุเรียน กล่าวว่า ช่วง 3 ปีข้างหน้า คาดว่าปริมาณผลผลิตทุเรียนไทยจะมากกว่าปัจจุบันเท่าตัว และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ประเมินว่า ระยะ 5 ปี (2569) ทุเรียนจะเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า คิดเป็นผลผลิตประมาณ 2.9 ล้านตัน

พันธุ์ทุเรียนขายดี 20 ล้านต้น/ปี

นายวีรพันธ์ จิตตวงศ์ชวลิต เลขาธิการสมาคมทุเรียนใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนจำนวนมากแทบทุกจังหวัด และภาคใต้เป็นศูนย์การผลิตต้นกล้าพันธุ์ใหญ่สุด อยู่ที่ จ.ชุมพร โดยส่งต้นพันธุ์ขายทั่วประเทศ

ตลาดใหญ่สุด คือ ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี ประมาณว่ามีต้นพันธุ์จำหน่ายปีละ 20 ล้านต้น โดย 90-95% เป็นพันธุ์หมอนทอง ปลูกในประเทศไทยประมาณ 15 ล้านต้น ส่งไปเมียนมา เวียดนาม กัมพูชา ประมาณ 5 ล้านต้น นอกจากนี้ยังมีต้นพันธุ์ของสายพันธุ์หนามดำ มูซังคิง ที่ อ.เบตง จ.ยะลาอีก

“ในอนาคตแม้จะมีทุเรียนออกมามาก แต่ในจีนก็ยังสามารถจะทำตลาดได้อีกมาก เพราะการบริโภคทุเรียนยังไม่ถึง 10% และทางออกของทุเรียนไทยอย่างหนึ่งก็คือ ต้องรวมตลาดทุเรียนกับเวียดนามเป็นตลาดเดียวกัน และส่งเข้าตลาดจีน เพราะเวียดนามได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษี และมีชายแดนติดประเทศจีน จะทำให้การขนส่งสะดวกรวดเร็ว ซึ่งทุเรียนไทยมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด”

ด้านนายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตัวเลขต้นพันธุ์ทุเรียนที่ผลิตออกขายแต่ละปีจะสะท้อนถึงพื้นที่ปลูกที่เพิ่มขึ้น และปริมาณผลผลิตทุเรียนที่กำลังจะออกสู่ตลาดในวันนี้ และในอนาคต ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง

ผู้ผลิตต้นพันธุ์รายใหญ่บอกว่า แต่ละปีทำพันธุ์ทุเรียนขายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านต้น หากรวมกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ในแต่ละปี ภาคตะวันออกจะผลิตต้นพันธุ์ทุเรียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านต้น

โดยต้นพันธุ์จำนวนนี้ส่งขายกระจายทั่วประเทศ โดย 25% ซื้อไปปลูกซ่อมในสวนเดิม ที่เหลืออีก 75% นำไปปลูกพื้นที่ใหม่ ถ้าคิดคำนวณที่ 25 ต้นต่อไร่ ตกปีละ 300,000 ไร่ วิเคราะห์คำนวณแล้วคาดว่าปีหน้าผลผลิตรวมทุเรียนภาคตะวันออกทะลุล้านตันแน่นอน จะต้องเตรียมวางแผนรับมือกัน

เพื่อนบ้านแห่ปลูกทุเรียน

รายงานข่าวจากฝ่ายเกษตร สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ระบุว่า ปัจจุบันจีนเป็นแหล่งนำเข้าทุเรียนอันดับ 1 ของโลก โดยในช่วงครึ่งปีแรก 2565 มีการนำเข้าปริมาณ 500,546 ตัน เพิ่มขึ้น 5.20% โดยราคาขายส่งทุเรียนในตลาดค้าส่ง ผักและผลไม้ เจียงหนาน นครกว่างโจว อยู่ที่ 48.53 หยวน/กก. เพิ่มขึ้น 0.76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 48.17 หยวน/กก.

ปัจจุบันไทยเป็นประเทศเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนได้ แต่หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จีนเริ่มพิจารณาอนุญาตให้ทุเรียนจากประเทศอื่น ๆ ส่งเข้าไปในจีนได้ และมีแนวโน้มว่าตลาดทุเรียนจะมีการแข่งขันสูงขึ้นในอนาคต

ทุนจีนบุกลาว 3 หมื่นไร่

ล่าสุด ประเทศ สปป.ลาว เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีเป้าหมายส่งออกไปจีน ภายหลังจากการเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ทำให้การขนส่งสะดวกขึ้น เริ่มมีนักลงทุนจีนเข้าไปลงทุนเพาะปลูกทุเรียนในลาว อาทิ บริษัท Jiarun Agriculture Development จำกัด ที่ได้ขอสัมปทานพื้นที่กว่า 31,418 ไร่ ในเมืองสนามไชย แขวงอัตตะปือ เซ็นสัญญาร่วมกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โดยบริษัท Jiarun มีแผนจะเข้าไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรสาธิต มีเป้าหมายจะพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ และเป็นฐานอุตสาหกรรมทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ทดสอบต้นพันธุ์ต้นกล้าทุเรียนลอตแรก และมีต้นกล้าพร้อมจะปลูกแล้ว และมีการลงนามความร่วมมือเปิดการลงทุนปลูกทุเรียนระหว่างบริษัท Sichuan Yangguang Jiarun กับบริษัท Hainan Lianpin Keji

เวียดนาม-กัมพูชาแห่ปลูก

ขณะเดียวกัน เวียดนามและจีนก็ได้บรรลุข้อตกลงพิธีสารการตรวจสอบกักกันทุเรียนผลสด เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา และเวียดนามอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนสวน 123 แห่ง และโรงคัดบรรจุ 57 แห่ง เพื่อเริ่มส่งออกไปยังประเทศจีน

ปัจจุบันเวียดนามมีผลผลิตทุเรียนปริมาณ 640,000 ตัน และเป็นส่วนที่ปลูกเพื่อการส่งออก 312,500 ตัน บนพื้นที่ 375,000 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้

เช่นเดียวกับกัมพูชา ที่มีการปลูกทุเรียนกว่า 34,000 ไร่ ในพื้นที่ จ.กัมปอต กำปงจาม เกาะกง และพระตะบอง ให้ผลผลิตแล้ว 22,000 ไร่ ปีละกว่า 37,000 ตัน และอยู่ระหว่างเจรจากับศุลกากรแห่งชาติจีน เพื่อขอเปิดตลาดส่งออกทุเรียนสดไปจีน

นอกจากนี้ สำหรับจีนยังได้มีการลงทุนปลูกทุเรียนในมณฑลไห่หนาน เมื่อปี 2501 และปี 2565 เริ่มให้ผลผลิตครั้งแรก ปริมาณ 50 กว่าลูก ซึ่งเป็นการยืนยันว่าสภาพภูมิอากาศและดินของมณฑลนี้สามารถปลูกทุเรียนได้

พร้อมกันนี้ ไห่หนานยังได้รวบรวมและพัฒนาพันธุ์ทุเรียนต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาไฮบริด และมีการสร้างฐานสาธิตการปลูกทุเรียนในพื้นที่สำนักวิจัยพืชเขตร้อนเป่าถิง 208 ไร่ เพื่อหาสายพันธุ์ที่เหมาะสม ขณะที่มณฑลกวางตุ้ง ได้มีการทดลองปลูกทุเรียนมูซังคิง และหนามดำ จากมาเลเซีย โดยลงต้นกล้าไปแล้ว 41.7 ไร่ มีต้นกล้าทุเรียนที่ต่อกิ่งเสร็จแล้ว 20,000 ต้น และมีต้นกล้าที่ยังไม่ต่อกิ่ง 200,000 ต้น

ทุนเวียดนามบุกลาว 4 หมื่นไร่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้นายเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง หรือซิโก้ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนให้กับสโมสรฟุตบอลฮอง อันห์ยาลาย ประเทศเวียดนาม

ได้เผยแพร่คลิปทาง Zico Channel พาไปดูสวนทุเรียนของนายดว่าน เหวียน ดึก (Doan Nguyen Duc) ประธาน บริษัท ฮอง อันห์ยาลาย (HAGL Group) เจ้าของสโมสรฟุตบอลใหญ่ฮอง อันห์ยาลาย และเป็นเจ้าของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เหมืองแร่ ธุรกิจพลังงานรายใหญ่ของเวียดนาม รวมทั้งเป็นเจ้าของสัมปทานสวนยางพารานับแสนไร่ใน สปป.ลาว ได้เช่าพื้นที่เพิ่มอีก 42,000 ไร่ปลูกทุเรียนพันธุ์มูซังคิง ที่แขวงจำปาศักดิ์

แนะรวมตลาดหนึ่งเดียว

นายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย แสดงความเห็นในเรื่องนี้ โดยคาดการณ์ว่าปี 2566 จะเริ่มเห็นการแข่งขันมากขึ้น เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่ 2 ที่สามารถส่งผลทุเรียนสดเข้าจีนได้ และมีปริมาณผลผลิตค่อนข้างสูง

ส่วนประเทศอื่นน่าจะต้องใช้เวลาอีกสัก 2-3 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะจีนที่ปลูกทุเรียนได้ เป็นสายพันธุ์โอฉี่ หรือหนามดำ มูซังคิง และยังยากที่จีนจะปลูกสายพันธุ์หมอนทองได้

ทั้งนี้ คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ปริมาณทุเรียนจะเพิ่มขึ้นสูงมาก จากทั้งประเทศไทยและเพื่อนบ้าน ดังนั้น การปรับตัวที่ดีที่สุดคือร่วมกันทำทุเรียนไทยให้มีชื่อเสียงเรื่องคุณภาพมาตรฐาน

นายณัฐกฤษฏ์ โอฬารหิรัญ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน และผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ จ.จันทบุรี กล่าวว่า ปริมาณผลผลิตส่งออกทุเรียนไทยอีก 5 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 100,000 ตู้ นอกจากนี้ ยังมีทุเรียนของประเทศอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะทุเรียนเวียดนาม ที่ออกตรงกับทุเรียนไทย การแข่งขันสูงจะทำให้ราคาต่ำลง

แต่ประเทศเพื่อนบ้านได้เปรียบที่ได้สิทธิไม่เสียภาษีนำเข้า หากอนาคตเวียดนามพัฒนาปลูกทุเรียนสายพันธุ์หมอนทองได้ไม่แตกต่างจากไทย ดังนั้น การร่วมทำตลาดทุเรียนเป็นตลาดหนึ่งเดียว คือทางออกที่ดีที่สุดเพื่อให้การขนส่งสะดวกรวดเร็วขึ้น

สอดคล้องกับนายธีรภัทร อุ่นใจ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ทุเรียนไทย ภาคตะวันออก กล่าวว่า เวียดนามปลูกหมอนทอง 80% อีก 20% เป็นพันธุ์พื้นเมืองรีเสา (RI 6) อนาคตผลผลิตเป็นล้านตัน ตอนนี้ราคาทุเรียนหมอนทองถูกกว่าไทย 40% เมื่อเวียดนามได้รับอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนผลสดได้ อาจจะปลายปี 2565 ถึงเวลานั้นไทยจะมีคู่แข่งขันเพิ่มขึ้นและมีปริมาณทุเรียนเพิ่มมากขึ้น