หมูเถื่อนเงินสะพัด 5 พันล้าน สมาคมผู้เลี้ยง 5 ภาคจี้รัฐแก้

หมู

สมาคมผู้เลี้ยงสุกร 5 ภาคผนึกกำลังแจงยิบหมูเถื่อนลักลอบนำเข้ามาในรูป “หมูกล่อง” เกลื่อนเมือง พร้อมแฉมีเงินสะพัด 5,000 ล้านบาท วอนรัฐบาลเร่งปราบจริงจัง ก่อนฟาร์มหมูทั้งประเทศถูกทำลายล้าง จากการถล่มราคาขายหมูกล่องถูก ๆ แถมยังนำโรคระบาดร้ายแรง แอฟริกันในหมู ASF กลับเข้ามาในประเทศอีก

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า สมาคมได้เฝ้าสังเกตการ “ลักลอบ” นำเข้าเนื้อและชิ้นส่วนหมูผิดกฎหมายเข้ามาจำหน่ายในประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเครือข่ายผู้เลี้ยงหมูพยายามที่จะหาเบาะแสมาตลอด โดยช่วงแรกมีการลักลอบนำเข้ามาไม่มากเท่าทุกวันนี้ “ซึ่งมีการทำตลาดกันอย่างเปิดเผย” โดยกรมปศุสัตว์จับได้เพียงส่วนน้อย

ดังนั้นสมาคมจึงต้องการให้กรมปศุสัตว์ออกมากวาดล้างขบวนการลักลอบค้าหมูเถื่อนกันอย่างจริงจัง ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดในการกำจัดขบวนการดังกล่าว เพราะปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่เสียหายจากปัญหาโรคระบาดแอฟริกันในสุกร (ASF) ให้เริ่มกลับมาเลี้ยงหมูขุนใหม่แล้วกว่า 1 ล้านตัว ซึ่งผลผลิตหมูขุนรุ่นนี้จะออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาสที่ 4 ดังนั้นการปล่อยให้ฟาร์มที่กลับมาเลี้ยงหมูใหม่ต้องมาแข่งกับการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูแบบนี้ทำให้ไปต่อไม่ได้

“ต้นทุนการผลิตหมูได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น มี supply น้อยกว่าความต้องการและถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระต้นทุนในไตรมาสที่ 2-3/2565 อยู่ในช่วง 98-101 บาท/กิโลกรัม

ในขณะที่ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มต้องให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศ (ราคาขอความร่วมมือ กก.ละ 100 บาท) ดังนั้นปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่มีราคาต่ำมาจำหน่ายในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่เอารัดเอาเปรียบผู้เลี้ยงสุกรไทย จนถึงขั้นสามารถทำลายล้างการเลี้ยงสุกรไทยเลยก็ว่าได้”

เงินสะพัด 5,000 ล้าน

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวถึงขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมีเข้ามากันเป็น 1,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 40 ฟุต บรรจุหมูได้ประมาณ 27 ตัน/ตู้ เท่าที่ทราบมามี “กลุ่มผลประโยชน์” ที่มีอำนาจบางส่วนรู้เห็นเป็นใจ “ปล่อย” ให้มีการลักลอบนำเข้ามาขายกันอย่างเอิกเกริก ทั้งในตลาดสดกับตลาดออนไลน์เป็นจำนวนมาก

ซึ่งเชื่อกันว่าจะมีเงินผลประโยชน์สะพัดไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท และถ้ายังปล่อยให้มีการลักลอบนำหมูเถื่อนราคาถูกเข้ามาขายต่อไป นอกจากจะทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยแล้ว ยังเป็นการนำโรคระบาดร้ายแรงแอฟริกันในหมู หรือ ASF กลับเข้ามาในระบบการเลี้ยงหมูของไทยอีกด้วย

“ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มคุมโรค ASF ได้แล้ว แต่เนื้อหมูเถื่อนเหล่านี้มีวางจำหน่ายแพร่กระจายไปทุกภูมิภาค ส่วนใหญ่เป็นหมูแช่แข็งมาจากยุโรป ตามรายงานข่าวเมื่อ 4 กรกฎาคม 2565 พบว่ามีการระบาดของ ASF ที่ประเทศเยอรมนี ยิ่งเสี่ยงเข้าไปใหญ่

ดังนั้นเนื้อหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาจึงเสมือนเป็นขยะที่ต้องทำลาย หากปล่อยให้เนื้อหมูเถื่อนอยู่ในระบบ มีโอกาสที่คนงานในฟาร์มไปสัมผัสนำเชื้อ ASF เข้ามาในฟาร์มได้ ดังนั้นการกลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่จึงต้องเผชิญทั้งหมูเถื่อนส่วนเกินและเชื้อไวรัส ASF จำเป็นต้องเร่งหาทางกำจัดการลักลอบนำเข้าอย่างด่วนที่สุด” นายพิพัฒน์กล่าว

ด้าน นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้าในช่วงนี้มีราคาขาย “ต่ำกว่า” ราคาหมูในประเทศไทยมาก แต่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งโลกกลับแพงพอ ๆ กัน ดังนั้นเนื้อหมูที่ลักลอบ หรือที่ตลาดเรียกกันว่า “หมูกล่อง” ที่มีราคาเสนอขายต่ำมากนั้น “ผมมั่นใจว่าเป็นหมูติดเชื้อ ASF ทั้งหมด”

ถ้ายังจำกันได้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2565 โดย ส.ส.ภาคเหนือท่านหนึ่ง ได้นำหลักฐานผลการตรวจพบเชื้อ ASF ในเนื้อหมูจากที่ขายลดราคาในตลาดกรุงเทพฯ ตรวจซ้ำถึง 2 ครั้ง เข้ามายืนยันในสภา จึงเป็นหลักฐานที่ค่อนข้างเชื่อได้ว่า เนื้อหมูลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายเป็นเนื้อหมูที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ASF เกือบทั้งหมด

ดังนั้น “หมูกล่อง” ที่เก็บตามห้องเย็นต่าง ๆ จึงเสมือนเป็น “ระเบิดเวลา” ของประเทศไทย ที่จะทำให้เกิดการระบาดของโรคไม่สิ้นสุด และเชื่อว่ากลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู กลุ่มแปรรูปถนอมอาหาร ก็น่าจะสำรองเนื้อหมูเถื่อนเหล่านี้ไว้เช่นกัน โดยอ้างเหตุผลที่ว่า “ไวรัส ASF ไม่ติดต่อสู่คน” มาเป็นประโยชน์ในการรับซื้อของขบวนการลักลอบนำเข้าหมูกล่อง “วันนี้เราจึงต้องหาทางจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน” นายสัตวแพทย์วรวุฒิกล่าว

อีสานหวั่นโรคระบาด ASF

ส่วน นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ภาคอีสานเป็นตลาดที่มีหมูเถื่อนลักลอบสูงเช่นกัน เนื่องจากมีตลาดการแปรรูปถนอมอาหารที่ใหญ่มาก ถ้าเนื้อหมูดังกล่าวปนเปื้อนไวรัส ASF ภาคอีสานก็จะมีการกระจายเชื้อ ASF จำนวนมากในพื้นที่อีกระลอก

สุดท้ายแล้วจะกลับมาทำร้ายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเอง ซึ่งตอนนี้ประเมินว่ามีเกษตรกรในภาคอีสานเริ่มกลับมาลงเลี้ยงหมูใหม่ประมาณ 10% ถึงแม้ภาระต้นทุนการเลี้ยงต่าง ๆ ยังหนักหนามาก เช่น ค่าลูกสุกรพันธุ์ที่สูง ค่าอาหารสัตว์ ค่าพลังงานก็ตาม

ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาต้องให้ 3 หน่วยงาน (กรมศุลกากร-กรมปศุสัตว์-กรมการค้าภายใน) ที่รับผิดชอบประสานงานร่วมกัน เข้ามาดำเนินการตรวจจับผู้ที่จำหน่ายเนื้อหมูราคาถูกเกินจริง ซึ่งถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เพราะเป็นการกระทำความผิดต่อผู้เลี้ยงและผู้ค้า เพื่อไม่ให้ประเทศเสียหายเพราะการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่อาจปนเปื้อนเชื้อไวรัส ASF หรือแม้แต่สารเร่งเนื้อแดงก็ตามถือว่าผิดกฎหมายทั้งสิ้น

ฟาร์มใต้-เหนือยอดขายวูบ 30%

นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวว่า สำหรับภาคใต้ยังมีจำนวนหมูเพียงพอต่อการบริโภคในพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาน่าสงสัยว่าจะมี “หมูกล่อง” หรือเนื้อหมูเถื่อนลักลอบเข้ามาแทรกผ่านช่องทางห้างค้าส่ง-ค้าปลีก

เนื่องจากมีการตั้งราคาจำหน่ายปลีกต่ำมาก จนยอดจำหน่ายของฟาร์มหมูขนาดใหญ่ครบวงจรในภาคใต้ช่วงที่ผ่านมาลดลงไปประมาณ 30% ก็เพราะแหล่งต้นตอของหมูกล่องที่มาจำหน่ายในพื้นที่ภาคใต้น่าจะมาจากภาคกลาง โดยพื้นที่ที่มีการเข้ามาทำตลาดมากที่สุดจะเป็น จังหวัดนครศรีธรรมราช ภูเก็ต และสงขลา

“ผลกระทบก็คงเป็นในลักษณะเดียวกับภูมิภาคอื่น ๆ คือ การมาสร้าง supply ส่วนเกินให้ตลาดภาคใต้ ที่ถือว่าได้รับผลกระทบจาก ASF น้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆ มีผลผลิตหมูไม่ขาดแคลน เพียงแต่ว่าช่วงหลังมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น โดยประเด็นเชื้อไวรัส ASF ที่อยู่ในหมูกล่องเหล่านี้มีโอกาสจะทำความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงหมูให้เกิดการระบาดในรอบใหม่ได้”

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ปริมาณเนื้อหมูไม่เพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่แรกที่เสียหายจากการระบาดของโรค ASF ในสุกร จากปกติปริมาณสุกรเข้าโรงฆ่าในพื้นที่อยู่ที่ 2,000-3,000 ตัว/วัน และมีการนำเข้าซากหมูที่เชือดแล้วประมาณ 70-100 ตัน/วัน

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 มีการนำเข้า “ซากสุกร” ขึ้นมาทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นเป็น 160-170 ตัน/วัน ส่งผลกระทบต่อยอดขายหมูมีชีวิตในฟาร์มเริ่มออกช้าลงประมาณ 30% ทำให้ผู้เลี้ยงต้องเลี้ยงหมูต่อไปจนมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ราคาหน้าฟาร์มมีทิศทางที่จะอ่อนตัว

“แม้การกลับมาลงเลี้ยงหมูขุนใหม่ของผู้เลี้ยงจะเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตยังไม่มาก คาดว่าจะพอเพียงในพื้นที่ถึงสิ้นปีนี้ แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ภาคเหนือกลับมีปริมาณเนื้อหมูในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งคาดว่าเป็นเนื้อหมูเถื่อนลักลอบนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องรีบกำจัดเนื้อหมูผิดกฎหมายโดยเร็วที่สุด” นายสุนทราภรณ์กล่าว

ระวังสินค้าปรับขึ้นราคา

ด้าน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมา CPF ได้มีการปรับค่าแรงและให้สวัสดิการพนักงานด้านต่าง ๆ ในระดับที่สูงอยู่แล้ว เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน แม้ว่าจะเริ่มคลี่คลายลงไปบ้าง แต่ยังไม่เป็นปกติทั้งหมด

บริษัทจึงได้มีการปรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการนำเครื่องจักรอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตไก่ ซึ่งได้มีการลงทุนไปแล้ว 60-70 เครื่องเพื่อช่วยชดเชยในบางส่วนงานที่ขาด และกระจายพนักงานไปยังส่วนงานที่ใช้แรงงานน้อย

“การปรับราคาสินค้าในส่วนของบริษัทจะไม่มีการปรับราคาแล้วเพราะ ต้นทุนหลายอย่างมีแนวโน้มดีขึ้นโดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์”

ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นตั้งแต่ 1,000-10,000 คนจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปรับขึ้นค่าแรงรอบนี้ ภาคเอกชนเองก็เห็นถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าแรงเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับขึ้นไปสูงมาก

แต่แน่นอนว่า มันจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคเอกชน ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวด้วยการลงทุนนำเข้าเครื่องจักรเข้ามาให้มากขึ้นถือเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ทั้งการขาดแคลนแรงงานและต้นทุนค่าจ้างแรงงาน

ทั้งนี้จากผลการสำรวจ CEO ครั้งล่าสุดพบว่า อัตราเงินเฟ้อ ค่าไฟฟ้า ค่าแรง ค่าพลังงาน ที่ปรับเพิ่มขึ้นมีแนวโน้มว่า ราคาสน้คาก็จะต้องปรับขึ้นอีก 10% ภายในสิ้นปี 2565 ด้วย