“กลุ่มสมอทอง” รุกขยายฐานผลิต เล็งขึ้นอันดับ 4 “โรงสกัดปาล์มดิบ”

สมอทอง

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอันดับ 3 ของโลก รองจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ขณะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีถือเป็นผู้ผลิตปาล์มเป็นอันดับ 1 ภายในประเทศ มีพื้นที่ปลูกรวมกว่า 1.3 ล้านไร่

ตอนนี้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน กำลังรวมตัวกันผลักดันปาล์มอย่างยั่งยืน ทั้งการทำ RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) สร้างผลผลิตปาล์มให้มีคุณภาพสูง

สอดคล้องกับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันประเทศไทยที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นหลังจากได้รับอานิสงส์จากวิกฤตโควิด-19 และสงครามยูเครน-รัสเซีย แต่การพัฒนาและยกระดับให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้อย่างยั่งยืนยังขาดระบบการจัดการ

และการสนับสนุนจากภาครัฐอีกมาก โดยเฉพาะมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป

“ศักดา ทองรอง” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กลุ่มสมอทอง จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ประกอบการธุรกิจโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ เปิดเผยว่า ปัจจุบันตัวเลขของอุตสาหกรรมปาล์มในประเทศไทยมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท/ปี

เป็นน้ำมันปาล์มดิบแบ่งขายในประเทศประมาณ 85% ส่งออก 15% คู่ค้าอันดับ 1 ที่ส่งออกในช่วงเกิดโควิด-19 ผ่านมาคือ อินเดีย และประเทศโซนยุโรปบ้างเล็กน้อย

โดยน้ำมันปาล์มนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอาหารอยู่ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน นอกจากนี้นำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง แต่ยังน้อยมาก

“จริง ๆ แล้วอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทยสามารถเติบโตได้อีก โดยเฉพาะปาล์มที่ได้มาตรฐาน RSPO ที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน หากนำโอลิโอเคมิคอลจากปาล์มน้ำมัน (oleochemical) มาใช้ในการแปรรูปเพิ่มขึ้น อย่างการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (cosmetics)

ที่เป็นตลาดใหญ่และมีมูลค่ามหาศาล รวมถึงเวชภัณฑ์ต่าง ๆ จะสามารถสร้างเงินสร้างรายได้อีกจำนวนมาก ส่วนนี้อยากให้รัฐเข้ามาส่งเสริมมากขึ้น เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีอยู่เพียงบริษัทใหญ่ไม่กี่รายที่สามารถทำได้”

ที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากประเทศต่าง ๆ ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น จีน ยุโรป ทั้งประเภทโลชั่น สบู่ คลีนซิ่ง และอื่น ๆ เป็นตัวชี้วัดได้ดีว่า หากผู้ประกอบการของไทยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องการแปรรูปมูลค่าของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันจะเพิ่มขึ้น

แม้บริษัทผู้ผลิตหลายรายไม่มีความรู้มากนัก แต่มีงานวิจัยจากหลายสถาบันมาสนับสนุน แต่หากภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนจะดีกว่าการจับมือของภาคเอกชนกับเอกชนด้วยกัน

นอกจากนี้ การทำ RSPO เพื่อให้ผลผลิตปาล์มได้คุณภาพ และนำมาแปรรูป ต่อได้ จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ โดยต้องมีความร่วมมือจาก 3 ภาคส่วนคือ ภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร แต่ต้องยอมรับว่าเกษตรกรทำสวนปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่เป็นรายย่อยกว่า 80% มีที่ดินประมาณ 10-50 ไร่ หลายพื้นที่รวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่

แต่มีเพียงส่วนน้อยที่มีความเข้มแข็ง ทำให้ระบบการจัดการยาก ส่วนรายกลางถึงใหญ่มากที่อยู่ในรูปแบบบริษัทสัดส่วนอยู่ที่ 20% ขณะเดียวกันในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย เกษตรกรที่ปลูกแปลงใหญ่หลายร้อยไร่ มีภาครัฐเข้ามากำกับดูแลดี

“ศักดา” บอกว่า “น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาสกัดสารสำคัญมาทำเป็นเครื่องสำอางได้จะประสบความสำเร็จจะเพิ่มมูลค่าได้มหาศาล ผมเคยคิดจะสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเข้าสู่ตลาด ทำวิจัยนำวัตถุดิบจากปาล์มน้ำมันไปใช้ในการผลิต

ด้วยการดึงเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากปาล์มมาใช้ แต่ไปไม่ถึงฝันเพราะเงินไม่พอ ต่อให้ทำผลิตภัณฑ์ออกมาได้ แต่ก็แข่งขันต่อไม่ไหว อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมปาล์มยังต้องมี cooking oil และ biodiesel ในประเทศไทยยังไปได้อยู่

เพราะน้ำมันเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ที่สำคัญ อุตสาหกรรมต่อเนื่องในบ้านเรามีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น การผลิตบะหมี่ การทอดไก่ แต่ภาครัฐควรจะต้องเข้ามาพัฒนาให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น”

ทั้งนี้ บริษัท กลุ่มสมอทอง ที่ควบรวมกิจการของบริษัท สมอทอง น้ำมันปาล์ม จำกัด, บริษัท สมอทองปาล์ม 2 จำกัด, บริษัท สมอทองปาล์ม 3 จำกัด และบริษัท สมอทองปาล์ม 4 (สระบุรี) จำกัด เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ มีรายได้เฉลี่ย 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี ติดอันดับ 1 ใน 5 บริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของประเทศ

และในปี 2565 ได้ตั้งเป้าขยายฐานการผลิตไต่ระดับขึ้นไปติด 1 ใน 4 ของประเทศ เพราะปัจจุบันบริษัทสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะได้ผลผลิตจากเกษตรกรมากน้อยเพียงใด คุณภาพอย่างไร เพราะมีข้อมูลจากเกษตรกรที่เป็นคู่ค้าซึ่งได้รับมาตรฐาน RSPO

ด้าน “กุศล เขียวดํา” เกษตรกรเจ้าของสวนปาล์มน้ำมัน สมาชิกสหกรณ์นิคมพนม และเจ้าของลานเทรับซื้อปาล์มน้ำมัน พี.เค. จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อนาคตของปาล์มน้ำมันไทยดีแน่นอนเพราะน้ำมันดิบจะแพงและมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ

คาดว่าในอนาคตภาคใต้จะมีการทำสวนปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นพืชที่ปลูกแล้วทนทาน ให้ผลผลิตสูง เฉลี่ยพื้นที่ 1 ไร่ให้ผลผลิต 3 ตัน/ไร่/ปี หรือมากกว่านั้น หากดูแลรักษาและลงรายละเอียดการปลูกให้ได้มาตรฐานจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ซึ่งมีกำไรดี

“ตอนนี้อยากให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนนำน้ำมันปาล์มดิบไปใช้ในโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งจะดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าถ่านหิน”

“กุศล” กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ปาล์มไทยนั้นสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างแน่นอน หากรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาช่วยกันพัฒนาความรู้มากกว่านี้

ต้องจัดโซนนิ่งการปลูกปาล์มน้ำมันทั้งดูดินให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องปาล์ม โดยเฉพาะการพยุงราคาก็แค่ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นนโยบายหาเสียงเท่านั้น”


อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูความเคลื่อนไหวต่อไปว่าทิศทางของตลาดปาล์มน้ำมันไทยจะพัฒนาก้าวไปสู่อนาคตได้อย่างไร