อยุธยา เตรียมรับมือ พายุโนรู น้ำยังท่วม 8 อำเภอ

น้ำท่วม
ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประชุมทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์และผลกระทบจากพายุโซนร้อน “โนรู” ช่วงวันที่ 28 ก.ย.-1 ต.ค. 65 ปัจจุบันน้ำยังท่วม 8 อำเภอ

วันที่ 27 กันยายน 2565 นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในการประชุม พร้อมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยจากพายุโซนร้อน “โนรู” ช่วงวันที่ 28 กันยายน-1 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุมมหาธาตุ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดยที่ประชุมได้นำข้อสั่งการของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เรื่อง การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์และผลกระทบจากพายุโซนร้อน “โนรู” ปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงมีผลกระทบน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน รวม 8 อำเภอ 88 ตำบล 535 หมู่บ้าน 25,366 ครัวเรือน ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอบางไทร อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน อำเภอมหาราช และอำเภอวังน้อย รวมพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ 2,285.25 ไร่ รวมระยะเวลาประสบภัยแล้วประมาณ 1 เดือนเศษ

ทั้งนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แจ้งเตือนไปยังทุกอำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน รวมถึงประชาชน ให้ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ ข่าวสารจากทางราชการ และเฝ้าระวังสถานการณ์ พายุโซนร้อน “โนรู” โดยขอให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ เร่งตรวจสอบจุดเสี่ยงอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว รวมทั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ และต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ใกล้เสาไฟฟ้า

หากประเมินว่าประชาชนจะได้รับอันตรายให้รีบตัดกระแสไฟฟ้าโดยทันที ตลอดจนประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้ประชาชน เพิ่มความระมัดระวังอันตรายจากกรณีกระแสไฟฟ้ารั่ว แนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัยจากกรณีไฟฟ้ารั่วช่วงที่มีฝนตก และมีน้ำท่วมขัง

ในส่วนพื้นที่น้ำท่วมขัง ให้อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และประชาชนจิตอาสา ร่วมตรวจตราเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะในเขตชุมชน สถานศึกษา ที่มีน้ำท่วมขังบริเวณเสาไฟฟ้า ตลอดจนให้ความช่วยเหลือ แจ้งเตือนประชาชนที่สัญจรผ่านบริเวณดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากเกิดสถานการณ์สาธารณภัยในพื้นที่ ให้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ และให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดชุดปฏิบัติการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา หรือหน่วยงานอื่น ๆ เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์อย่างทันท่วงที พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่าง ๆ ตลอดจนตั้งโรงครัวพระราชทาน แจกถุงยังชีพตามวงรอบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมทั้งรายงานสถานการณ์ให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาทราบทันที