
กลุ่ม ปตท. เปิดโรงงานผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (nonwoven fabric) ของ “อินโนโพลีเมด” ผลิตวัตถุดิบสำหรับวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ลดพึ่งพาการนำเข้า ยกระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ดันไทยก้าวสู่ Medical Hub
วันที่ 7 ตุลาคม 2565 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (ไออาร์พีซี) และ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (อินโนบิก) ร่วมในพิธีเปิดโรงงานผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (nonwoven fabric)
- Young FTI สะท้อน 8 ปัญหาถึง “พิธา” นวัตกรรมดีแต่พี่ไม่เหลียวแล
- กรมอุตุฯอัพเดต เส้นทางพายุไต้ฝุ่น “มาวาร์” เตือนฝนตกหนัก 27-30 พ.ค.
- เวียดนามไฟดับ สะเทือนถึง “นักลงทุนไทย”
ได้แก่ ผ้าเมลต์โบลน (M) ผ้าสปันบอนด์ (S) และผ้าไม่ถักไม่ทอแบบหลายชั้น (SS, SMS, SMMS) ของ “บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด” (อินโนโพลีเมด) กำลังการผลิตประมาณ 5,600 ตันต่อปี ที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จ.ระยอง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565
โดย อินโนโพลีเมด ใช้เม็ดพลาสติกพีพี (โพลิโพรพิลีน) ที่ปราศจากสารทาเลต (Phthalate) คิดค้นวิจัยพัฒนาและผลิตโดย ไออาร์พีซี ในการผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ จึงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ ผ้าเมลต์โบลนมีลักษณะเป็นเส้นใยขนาดเล็ก มีความละเอียดในระดับนาโนเมตรถึงไมโครเมตร ทำให้มีประสิทธิภาพในการกรองสูง ในขณะที่ผ้าสปันบอนด์ และผ้าไม่ถักไม่ทอแบบหลายชั้น มีความแข็งแรงสูง ป้องกันของเหลว และเชื้อโรค เหมาะสำหรับนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย ได้แก่ หน้ากากอนามัย ชุดกาวน์ ชุด PPE ผ้าอ้อมเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงแผ่นกรองต่าง ๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ได้ร่วมทุนก่อตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ของกลุ่ม ปตท. โดยโรงงานผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอนี้เกิดจากการบูรณาการองค์ความรู้ด้านธุรกิจปิโตรเคมี และชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) ในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุด PPE และชุดกาวน์
ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งหมด และเป็นการต่อยอดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์โดยคนไทย ลดการนำเข้า สร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขและสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ New S-curve ทางด้านการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ของไทย