จับตากระแสรักษ์โลก ดันตลาด “ถุงมือยางธรรมชาติ” พุ่ง

ถุงมือยาง

ช่วง การระบาดโควิด-19 ธุรกิจส่งออกถุงมือยางที่เติบโตสวนทางธุรกิจอื่น มีผู้เล่นหน้าใหม่กระโดดลงสนามจำนวนมาก ปัจจุบันถึงแม้ไทยจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลก มีข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบ

แต่ก็มีอุปสรรคจาก “ประเด็นการแพ้โปรตีนในยางธรรมชาติ” ทำให้ยังเติบโตไม่มากเท่าที่ควร เมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดเสวนาหัวข้อ “ไทยกับการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติ : ฝันเป็นจริงหรือเพ้อฝัน”

5 ปีถุงมือยางยังเป็นดาวรุ่ง

รศ.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาโรคระบาดทำให้ความต้องการถุงมือยางทางการแพทย์มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันมีสัดส่วน 35% โดยมีทั้งถุงมือยางธรรมชาติ (latex) และถุงมือยางสังเคราะห์ (nitrile) ซึ่งมีคุณสมบัติต่างกัน

“แม้ระยะหลังจะมีการใช้ไนไตรล์เพิ่มขึ้นมากกว่าจากประเด็นการแพ้โปรตีนในยางธรรมชาติ แต่เมื่อทั่วโลกหันมาใส่ใจประเด็นสิ่งแวดล้อมจึงเป็นจุดขายที่โดดเด่นของถุงมือยางธรรมชาติเพราะ ใช้ระยะเวลาย่อยสลายเพียง 5 ปี ส่วนถุงมือยางสังเคราะห์ใช้เวลากว่า 100 ปี”

แนวโน้มตลาด 5 ปี

แนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดโลกยังมีความต้องการถุงมือยางเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11.4% ต่อปี แม้ว่าเศรษฐกิจโลก ปี 2566-2567 จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) แต่หลังปี 2567 ความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ พฤติกรรมการรักษาสุขภาพอนามัย

จึงคาดว่าปี 2570 ความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกเท่ากับ 662,163 ล้านชิ้น จากปัจจุบัน 400,000 ล้านชิ้น ซึ่งจะเป็นถุงมือยางธรรมชาติ 35.8% ถุงมือยางไนไตรล์ 47.8% และถุงมือประเภทอื่น ๆ 16.4%

“น่าสนใจว่าเฉพาะความต้องการถุงมือยางธรรมชาติของโลกใน 5 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 6.4% ต่อปี และมีความต้องการในปี 2570 ถึง 237,173 ล้านชิ้น”

ส่วนความต้องการใช้ถุงมือยางของไทยมีแนวโน้มเติบโตเช่นเดียวกับความต้องการของโลก โดยสามารถขยายตัวเฉลี่ย 16.7% ต่อปี และมีความต้องการในปี 2570 เท่ากับ 5,096 ล้านชิ้น โดยแบ่งเป็นถุงมือยางธรรมชาติ 65.3% ถุงมือยางไนไตรล์ 32.3%

ตาราง มูลค่าส่งออกถุงมือยาง

ขณะที่การผลิตถุงมือยางของไทยใน 5 ปีข้างหน้า จะเห็นการผลิตถุงมือยางธรรมชาติขยายตัวเฉลี่ย 8.3% ต่อปี หรือมีปริมาณการผลิตในปี 2570 เท่ากับ 41,086 ล้านชิ้น

3 ฝ่ายมองต่างมุม

นายบุญหาญ อู่อุดมยิ่ง รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า จุดแข็งของไทยคือไทยมีวัตถุดิบน้ำยางข้นอันดับ 1 ของโลก ศูนย์กลางการตลาดควรเป็นประเทศไทย แต่กลับมีข้อจำกัด

“หากเทียบกับมาเลเซีย อัดฉีดเงินทุนเร็ว มีเป้าหมายชัดเจน หากรัฐบาลไทยมีนโยบายใช้ยางธรรมชาติในประเทศ สนับสนุนเงินทุน จะขยับเข้าใกล้มาเลเซียมากขึ้น เพราะในตลาดโลกยังมีช่องว่างอีกมาก โดยเฉพาะถุงมือยางทางการเเพทย์ที่มาจากธรรมชาติบวกกับเทรนด์รักษ์โลก จะยิ่งดึงดูดตลาดเดิมและตลาดใหม่ ๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่เพ้อฝัน ถ้าไทยลงมือลงแรงและทำจริง”

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มองว่า โควิดทำให้อุตสาหกรรมถุงมือยางพลิกกลับมาเป็น rising star แต่เมื่อดีมานด์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ปรับตัวไม่ทัน สิ่งแรกที่ไทยเจอทันทีคือ เทคโนโลยีการผลิตยังเป็นรุ่นเก่า ไม่สามารถเพิ่มกำลังผลิตได้ทันความต้องการ ปัญหาเงินทุน เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ไม่ใช่ดาวเด่นจึงขอรับสนับสนุนด้านสินเชื่อจากธนาคารได้ไม่เต็มทั้งที่ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างมาก

“เมื่อมีตลาดถุงมือยางเกิดขึ้นแล้ว ต้องทราบว่าตลาดต้องการถุงมือยางชนิดไหน ทุกคนทราบดีว่าถุงมือยางธรรมชาติตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม แต่ยังขยายได้ไม่เยอะ เพราะมีประเด็นเรื่องการแพ้โปรตีน ยุโรปใช้แล้วแพ้แต่เอเชียไม่แพ้ เราจะเจาะตลาดไหน ฝันนี้จะเป็นจริงได้ต้องอาศัยความร่วมมือและเพิ่มการสื่อสารจุดแข็งของยางธรรมชาติ”

ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มองว่า หัวข้อนี้เป็นไปได้ทั้งเพ้อฝันและมีวันเป็นจริง ไทยต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า “อยากจะเป็นผู้นำถุงมือยางธรรมชาติหรือเปล่า” ช่วงโควิดอุตสาหกรรมนี้ถือว่าลำบากมาก ถุงมือยางสังเคราะห์เติบโตกว่า

ซึ่งทั้งสองมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกัน ถุงมือยางธรรมชาติสวมใส่สบาย แต่ผู้ใช้อาจจะแพ้โปรตีน ขณะที่ถุงมือยางไนไตรล์ มีต้นทุนน้อยกว่า ทำให้ไทยและมาเลเซียหันไปผลิตมากขึ้น แต่ล่าสุดเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อม และคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นเป็นโอกาสสำหรับการทำตลาดถุงมือยางธรรมชาติ

นายเธียรธรรม เธียรสิริไชย ตัวแทนสมาคมวิชาการยาง และถุงมือยาง มองว่า ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยางพาราโลก แต่ไม่เป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยาง เป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะ 1.ประเทศไทยไม่มีนโยบายส่งเสริมอย่างจริงจัง 2.ไม่มีการอุดหนุนเงินทุนจากภาครัฐ

ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานควบคุมมากกว่าปฏิบัติ อีกทั้งหน่วยงานยังมุ่งเน้นเพียงผลิตยังไปไม่ถึงอุตสาหกรรม รวมทั้งงานวิจัยไม่ลงสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่มีการนำงานวิจัยโปรตีนออกมาใช้เลย มากไปกว่านั้นยังพบเจอการทุจริตคอร์รัปชั่น ทำให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ ซึ่งเมื่อปลายทางอย่าง สหรัฐ สหภาพยุโรป ตีกลับสินค้ามาแล้ว และผลทางคดีทั้งหมดที่ผ่านมา รัฐบาลไม่สามารถเอาผิดได้ มิหนำซ้ำยังกลับมาย้อมแมวขายได้อีก

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางถุงมือยางธรรมชาติได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานช่วยกันผลักดัน

ซึ่งปัจจุบัน กยท.จัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออก (CESS) คงที่ กก.ละ 2 บาท ได้ปีละประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท นำไปพัฒนาอยู่แล้ว แต่ท้ายที่สุด ปลายทางของการพัฒนาอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

5 ยุทธศาสตร์ยาง

เพื่อให้ไทยใช้โอกาสก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของโลก รัฐบาลควรมี 5 ยุทธศาสตร์ โดยอาศัยจุดเเข็งวัตถุดิบ ประกอบด้วย

1.ยุทธศาสตร์การผลิตสู่มาตรฐาน FSC มุ่งสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางพาราทำสวนยางพาราแบบ FSC (Forest Stewardship Council)

2.ยุทธศาสตร์การแปรรูปถุงมือยางธรรมชาติสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้ประกอบการ/โรงงานถุงมือยางธรรมชาติของไทย ต้องร่วมมือสร้างคลัสเตอร์ตลาดถุงมือยางธรรมชาติ สร้างราคาและตลาดน้ำยางข้น FSC เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พัฒนาไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

3. ยุทธศาสตร์การตลาด วิเคราะห์ตลาดถุงมือยางธรรมชาติเชิงลึก สร้างการรับรู้ข้อมูลถุงมือยางธรรมชาติของไทย ในตลาดใหม่ เช่น อินเดีย

4.ยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสมัยใหม่ ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ถุงมือยางธรรมชาติ เป็นพัฒนา “ถุงมือยางรักษ์โลก” และต้องสอดคล้องกับมาตรฐานตลาดผู้นำเข้า

และข้อสุดท้าย 5.ยุทธศาสตร์อื่น ๆ เช่น ส่งเสริมการใช้ถุงมือยางธรรมชาติของหน่วยงานสาธารณสุขในประเทศ ทุนสนับสนุนจากภาครัฐสู่ผู้ประกอบการ SMEs นำงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และส่งเสริมมีมาตรการด้านภาษี เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่อุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติ