รายได้กลุ่มบริษัทบางจาก 9 เดือนทะลุ 2.2 แสนล้าน โรงกลั่นกำไรพุ่ง 149%

กลุ่มบริษัทบางจาก

ผลการดำเนินงานกลุ่มบริษัทบางจาก 9 เดือนแรกปี 2565 รายได้ 2.22 แสนล้าน กำไรรวม 12,103 ล้านบาท ไตรมาส 3 ของปี 2565 มีกำไร 2,470 ล้านบาท ท่ามกลางผลกระทบของราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับลดลง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับตัวอย่างโดดเด่นของธุรกิจโรงกลั่น และผลจากการลงทุนในธุรกิจต้นน้ำที่นอร์เวย์ผ่านบริษัท OKEA ASA ยึดโมเดลธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ประเทศนอร์เวย์เป็นต้นแบบธุรกิจ เร่งให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ สร้างสมดุล

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2565 ว่า กลุ่มบริษัทบางจาก มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 227,619 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 มี EBITDA 37,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 128 และมีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 12,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 106 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 8.64 บาท

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

โดย EBITDA ที่ปรับเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนวิธีบันทึกเงินลงทุนใน OKEA เป็นบริษัทย่อยตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นต้นมา และส่วนที่เหลือปรับเพิ่มขึ้นจาก

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นกำไรพุ่ง 149%

สำหรับผลการดำเนินงานของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ดังนี้ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มี EBITDA รวม 15,658 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 149 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางฟื้นตัวขึ้น

ขณะที่อุปทานน้ำมันยังมีความตึงตัวจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 จากความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย และอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่ได้รับแรงหนุนจากการที่กลุ่มโอเปกพลัสปรับลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน

โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 100.29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจำนวน 33.93 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือสูงขึ้นกว่าร้อยละ 51 จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ส่งผลให้กลุ่มบริษัทบางจากฯ มี Inventory Gain 5,754 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว

โรงกลั่นบางจาก

 

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ธุรกิจโรงกลั่นมีค่าการกลั่นพื้นฐานที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีกลุ่มธุรกิจโรงกลั่น สามารถคงอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยที่สูงในระดับ 122,600 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 102 ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น

กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA รวม 2,789 ล้าน

กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA รวม 2,789 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้รับปัจจัยบวกจากปริมาณการจำหน่ายปรับเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง อีกทั้งค่าการตลาดรวมสุทธิต่อหน่วยปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากในไตรมาสก่อนหน้า ภาครัฐมีนโยบายผ่อนคลายเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้เป็นไปตามสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกมากขึ้น

และในไตรมาสนี้ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยปรับลดลงตามภาวะตลาดโลก ส่งผลให้ราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการสะท้อนต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปมากขึ้น นอกจากนี้อุปสงค์การใช้น้ำมันดีเซลในโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาสูง ส่งผลให้ทั้งปริมาณและค่าการตลาดของตลาดอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มี EBITDA รวม 5,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 71 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยหลักมาจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 3 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญารวม 65 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว ได้รับปัจจัยบวกจากการแข็งค่ามากขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับเงินบาท อีกทั้งรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนทั้งหมดในบริษัท Star Energy Group Holdings Pte. Ltd. 2,031 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มี EBITDA รวม 471 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 71 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการจำหน่ายไบโอดีเซล (B100) ปรับลดลง จากการที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ประกาศปรับเปลี่ยนส่วนผสม B100 ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจาก B10 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่แล้ว มาเป็น B5 ในช่วงเดียวกันของปีนี้ อีกทั้งปริมาณการจำหน่านเอทานอลปรับลดลงจากการบริหารแผนการขาย

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสที่สามของปีที่แล้วยังมีการรับรู้กำไรจากการปรับปรุงมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุน

กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่ มี EBITDA รวม 13,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 305 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้รับปัจจัยบวกจากการลงทุนในธุรกิจต้นน้ำที่นอร์เวย์ โดย OKEA ASA มีรายได้จากการขายน้ำมันดิบและก๊าซประมาณ 2 เท่าของช่วงเวลา 9 เดือนแรกของปีที่แล้ว เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 153 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดีผลดำเนินงานได้รับผลกระทบจากการตั้งด้อยค่าแหล่ง Yme ประมาณ 220 ล้านบาท (หลังหักภาษีและตามสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มบริษัทบางจากฯ)

อันดับเครดิตองค์กรขยับเป็นระดับ “A”

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทบางจากฯฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากวิกฤต COVID-19 ตลอดจนสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท เป็นที่ระดับ “A” จากเดิม “A-” นอกจากนี้ BCPG ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลัก และ BBGI ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น “A” จากเดิม A- และ “A-” จากเดิม BBB+ ตามลำดับ ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิตของทุกบริษัทยังคงเป็น Stable

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัท และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 74,767 ล้านบาท และมี EBITDA 11,487 ล้านบาท ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน โดยหลักมาจากผลกระทบของราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับลดลง ส่งผลให้ไตรมาสนี้กลุ่มบริษัทบางจากมี Inventory Loss 2,698 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มี Operating GRM ปรับลดลงตาม Crack Spread อีกทั้ง Crude Premium ปรับเพิ่มขึ้น กลุ่มธุรกิจตลาด แม้ว่าจะมีค่าการตลาดปรับเพิ่มขึ้น แต่ได้รับผลกระทบจาก Inventory Loss ซึ่งส่งผลให้ผลการดำเนินงานปรับลดลง

ในขณะที่ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติฯ ช่วยลดผลกระทบดังกล่าวข้างต้น โดยในไตรมาสนี้ OKEA มีรายได้จาการขายน้ำมันดิบและก๊าซสูงสุด เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 136 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่งผลให้ไตรมาสนี้มีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 2,470 ล้านบาท คิดเป็น กำไรต่อหุ้น 1.73 บาท

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ช่วงไตรมาส 4 ของปีเป็นช่วง High Season ที่มีปัจจัยหลายประการช่วยหนุน  อุปสงค์การใช้น้ำมัน ทั้งเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวภายในประเทศ ภาครัฐประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทยต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้โรงไฟฟ้ายังมีความต้องการใช้ดีเซลอย่างต่อเนื่อง เพื่อทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาสูง

กลุ่มบริษัทบางจากฯให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และ Net Zero ในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ขององค์กร โดยการสร้างสมดุลระหว่างความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ อันได้แก่ ความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security) การเข้าถึงพลังงาน (Energy Affordability) และความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability)