ต่างชาติสนใจนำ GIT Standard ตรวจสอบอัญมณี-เครื่องประดับ

GIT Standard ตรวจสอบอัญมณี

“สินิตย์” มอบ GIT เดินหน้าผลักดันห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า เพื่อยกระดับการตรวจสอบอัญมณี ล่าสุดพบห้องปฏิบัติการต่างชาติสนใจเข้าร่วมเพียบ ทั้งจากสวิสและสหรัฐ

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ผลักดันมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า หรือ GIT Standard ให้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า ทั้งในสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับห้องปฏิบัติการและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค แต่ยังส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของโลก

ทั้งนี้ หลังจากมอบนโยบายไป ได้รับรายงานผลการดำเนินการ โดยขณะนี้มีห้องปฏิบัติการที่ผ่านเกณฑ์ขึ้นทะเบียนมาตรฐาน GIT Standard แล้วจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ห้องปฏิบัติการอัญมณี คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา, ห้องปฏิบัติการ บริษัท เอ็มทีเอส รีไฟเนอรี่ แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, ห้องปฏิบัติการ บริษัท พรีเชียส พลัส จำกัด, ห้องปฏิบัติการ บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด และห้องปฏิบัติการ บริษัท จีซีไอ แล็บ จำกัด

“ได้ขอให้ GIT นำห้องปฏิบัติการที่ผ่านเกณฑ์เหล่านี้ ไปช่วยถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ในการนำมาตรฐานห้องปฏิบัติการไปใช้จริง ให้กับห้องปฏิบัติการจากสถาบันการศึกษา และห้องปฏิบัติการต่างประเทศที่มีสาขาในไทย ซึ่งล่าสุดได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีห้องปฏิบัติการต่างประเทศให้ความสนใจมาเข้ารับการอบรม

เช่น GFCO GEM LAB Co., Ltd. จากสวิตเซอร์แลนด์ และ Gemological Institute of America (GIA) จากสหรัฐ และได้แสดงความสนใจนำ GIT Standard ไปประยุกต์ใช้ในการอ้างอิงการทดสอบ เพื่อยกระดับมาตรฐานการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับด้วย” นายสินิตย์กล่าว

ปัจจุบัน GIT ได้ดำเนินการจัดทำและประกาศใช้มาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบ อัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า และมาตรฐานด้านหลักเกณฑ์ จำนวน 22 ขอบข่าย และมีนโยบายการขยายขอบข่ายมาตรฐานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการนำ GIT Standard ไปสู่ภาคสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อยกระดับมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย