“เมล็ดกาแฟไทย” ตกที่นั่งลำบากหลังเปิดเสรี TAFTA

พาณิชย์ถกเอกชนเตรียมพร้อมรับมือ “กาแฟออสเตรเลีย” ถล่มไทย หลัง FTA ขีดเส้นไทยยกเลิกโควตาลดภาษี 0% ปี’63 ด้านสมาคมกาแฟฯ หวั่นแข่งขันลำบาก ติดปัญหาวัตถุดิบไม่พอ-นำเข้ามีโควตา บังคับประกันราคารับซื้อจากเกษตรสูงกว่าตลาดโลก แบกต้นทุนอ่วม แนะยกเลิกโควตาช่วยเอกชนนำเข้าวัตถุดิบเสรีจากเพื่อนบ้านอาเซียน พร้อมยกระดับกาแฟพรีเมี่ยม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในการเป็นประธานงานสัมมนา “อนาคตการค้ากาแฟไทยในโลกค้าเสรี” เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกาแฟ เพื่อเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากลดภาษีนำเข้าตามความตกลงเปิดการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ว่า ไทยต้องยกเลิกโควตาและลดภาษีเมล็ดกาแฟดิบ-เมล็ดกาแฟคั่ว-กาแฟสำเร็จรูปเป็น 0% ในวันที่ 1 มกราคม 2563 จากปัจจุบันที่เมล็ดกาแฟ จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีการกำหนดโควตานำเข้า (TRQ) ปีละ 5.25 ตัน ภาษี 4% หากนำเข้านอกโควตามีภาษี 81% ส่วนกาแฟสำเร็จรูป กำหนดโควตาปีละ 134 ตัน ภาษีนำเข้า 5.33% หากนำเข้านอกโควตามีภาษี 44.1%

“การรับฟังความเห็นทำ 2 ครั้ง ที่ จ.เชียงราย แหล่งปลูกอราบิก้าก่อน ครั้งต่อไปจัดในภาคใต้แหล่งปลูกกาแฟโรบัสต้า เพื่อนำผลสรุปเสนอต่อปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก่อนนำไปหารือในคณะอนุกรรมการพืชสวน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการสินค้าต่อไป”

เบื้องต้นหากผู้เกี่ยวข้องกังวล ภาครัฐมีมาตรการดูแลทั้งกองทุน FTA กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ การนำผู้ประกอบการไปร่วมงานแฟร์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญาช่วยส่งเสริมเรื่องอัตลักษณ์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กาแฟไทยส่งไปตลาดโลกได้

นางวารี สดประเสริฐ นายกสมาคมกาแฟไทย กล่าวว่า การลดภาษีตามความตกลง ส่งผลให้ไทยแข่งขันได้ยาก เพราะไทยผลิตวัตถุดิบได้ปีละ 25,000-26,000 ตัน ต้องนำเข้าปีละ 50,000-60,000 ตัน มีระบบโควตาภาษี และเงื่อนไขต้องซื้อกาแฟจากเกษตรกรในประเทศในราคาประกันที่รัฐกำหนด ซึ่งสูงกว่าตลาดโลก หรือหากต้องการนำเข้านอกโควตา เสียภาษี 90% จึงมีต้นทุนสูงกว่าออสเตรเลีย ที่นำเข้าแบบไร้ภาษี มีเทคโนโลยีการคั่วกาแฟทันสมัย และมีแบรนด์ที่มีศักยภาพขยายไปสู่ตลาดโลกได้ และบางแบรนด์เริ่มขยายตลาดมาไทย เช่น The Coffee Club แต่ไทยขยายตลาดไปออสเตรเลียไม่ได้ เพราะคนออสเตรเลียนิยมบริโภคแบรนด์ออสเตรเลีย

แนวทางแก้ไขต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน เกษตรกรต้องยกระดับการผลิตกาแฟพรีเมี่ยม คุณภาพดีสม่ำเสมอ ภาครัฐต้องแก้ไขกฎ/ระเบียบเก่า เช่น ยกเลิกระบบโควตาและภาษี จากเดิมไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออก ต้องปกป้องเกษตรกร แต่ปัจจุบันนำเข้ามาแปรรูปส่งออก จึงควรปลดล็อก เพื่อให้นำเข้าต้นทุนต่ำลง เพราะไทยอยู่ในยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของแหล่งปลูกกาแฟในอาเซียนทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ซึ่งลดภาษีตามกรอบอาฟต้าไปแล้ว จึงควรดึงประเทศเหล่านี้มาเป็นพาร์ตเนอร์ ส่งวัตถุดิบให้ไทยมีทางเลือก เพราะไทยไม่สามารถเพิ่มพื้นที่ปลูกได้ หากไม่แก้ไขทำให้แข่งขันไม่ได้ ท้ายที่สุดส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูก

นายธีรวัฒน์ วงศ์วรทัต นายกสมาคมกาแฟและรองประธานสมาคมกาแฟเอเชีย กล่าวว่า ภาครัฐควรส่งเสริมเกษตรกรยกระดับประสิทธิภาพการผลิต จัดเกรดและควบคุมมาตรฐาน พร้อมสร้างเอกลักษณ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กาแฟไทย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ มาช่วยผูกโยงการทำธุรกิจบริการกาแฟเข้ากับการท่องเที่ยว หรือธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น สร้างจุดให้บริการ Coffee Station ที่ จ.เชียงราย แหล่งปลูกกาแฟอราบิก้า มีแบรนด์ดอยช้างเป็นที่รู้จัก เพื่อให้เป็นสถานที่จำหน่ายจุดนัดพบ เช็กอิน เป็นต้น

นางสาวราตรี เม่นประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2557-2561 ไทยผลิตเมล็ดกาแฟได้ปีละ 26,000 ตัน ขณะที่ความต้องใช้กาแฟเพิ่มขึ้นจาก 70,000 เป็น 90,000 ตัน ปีนี้คาดว่าความต้องการเพิ่มขึ้นใกล้เคียง 1 แสนตัน ไทยจึงต้องนำเข้าปีละ 58,000-60,000 ตัน จากเวียดนาม และมาเลเซีย

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”