บีโอไอปิดดีลรถ EV อีก 4 ราย ยกเว้นภาษี 13 ปี กิจการยานยนต์ FCEV

บีโอไอเบียดเวียดนาม เตรียมชง พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามประกาศสิทธิยกเว้นภาษี 13 ปี ให้กิจการยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง Fuel Cell Electric Vehicles หรือ FCEV  และกิจการลงทุนไฮเทคโนโลยี มีผล 3 มกราคม 2566 ลุ้นสร้างดีมานด์รถยนต์ไฟฟ้า ดึงโรงงานแบตเตอรี่ออกจากอินโดนีเซียเข้าไทย เผยมีค่ายรถอีวี 4 ราย เจรจาจบแล้ว ปีหน้าโรดโชว์ 200 ครั้ง

เตรียมประกาศ 3 ม.ค. 2566 ยกเว้นภาษี 13 ปี

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ ทำเนียบรัฐบาลว่า เร็ว ๆ นี้ บอร์ดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนการส่งเสิรมการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมไฮเทค รถยนต์อีวี เช่น กิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicles : FCEV)

และกิจการผลิตอุปกรณ์สำหรับเซลล์เชื้อเพลิง กิจการสถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station) กิจการผลิตไฮโดรเจนจากน้ำโดยใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจน กิจการผลิตอาหารแห่งอนาคต กิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศ

โดยมาตรการใหม่ดังกล่าว เป็นการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ  จัดเป็นกลุ่ม A1+ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 10-13 ปี ในอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง และกิจการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย ประกอบด้วย ไบโอเทค นาโนเทค และเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง ที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับสถาบันการศึกษา

เทียบข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบเวียดนาม

“เราให้ยกเว้นภาษีสูงสุด 13 ปี ไม่เคยมีการให้สิทธิประโยชน์สูงเท่านี้มาก่อน อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ เวียดนามให้สิทธิประโยชน์ 15 ปี แต่ให้เป็นขั้นบันได สำนักงานบีโอไอ มาตรการเราปรับตัวตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขณะนี้เตรียมแพ็กเกจ และเงื่อนไขการลงทุน เตรียมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ดบีโอไอ ลงนามในประกาศ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ให้นักลงทุนยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนได้ ในวันที่ 3 มกราคม 2566”

เลขาธิการบีโอไอเปรียบเทียบไทยกับเวียดนามด้วยว่า แม้ว่าเราจะไม่อยากฉายภาพว่าเป็นคู่แข่ง แต่เทียบจุดแข็ง 2 ประเทศ ก็ต่างคนต่างมี เวียดนามเขาได้เปรียบเรื่องแรงงานที่มีคนหนุ่มสาวมาก วัยกำลังทำงานสูง ขณะที่ไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย เวียดนามมี FTA มากกว่าไทย โดยเฉพาะ FTA เวียดนาม-ยุโรป ซึ่งไทยไม่มี รัฐบาลเขาเบ็ดเสร็จมากกว่าเรา อีกทั้งที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐ สามารถมีลูกเล่นในการจัดสิทธิประโยชน์ได้มากกว่า ในขณะที่ประเทศไทยที่ดินเป็นของเอกชน

“แม้ว่าขณะนี้การลงทุนด้านไฮเทค ไปเวียดนามเยอะ แต่ส่วนใหญ่เป็นกิจการประกอบชิ้นส่วน ผลิตชิ้นส่วน ที่ใช้แรงงานสูง ส่วนไทยก็มีขีดความสามารถในการแข่งเรื่องอุตสาหกรรมนวัตกรรมสูง สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นตอนนี้ทุกประเทศก็ต้องชูจุดแข็งของตัวเอง ไทยต้องมีจุดขายของตัวเองเพื่อขึ้นเป็นผู้นำ เช่นเรื่องแบตเตอรี่รถอีวี เราจึงมีแผนที่จะดึงโรงงานมาจากอินโดนีเซีย”

ดึงโรงงานแบตเตอรี่จากอินโดนีเซีย

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวด้วยว่า นโยบายของรัฐบาล คือ มาตรการกระตุ้นดีมานด์เพื่อสร้างตลาด โดยมีเป้าหมาย 30/30 คือ ในปี 2030 จะมีการผลิตอีวี 30% ของยอดผลิต หรือ 725,000 คัน ต้องการแบตเตอรี่ 40 จิกะวัตต์ เป็นที่มาของการดึงโรงงานแบตเตอรี่ขนาดใหญ่จากอินโดนีเซีย ให้มาลงทุนในประเทศไทย เพื่อตอบสนองดีมานด์ในอนาคต โดยคาดว่ายอดจดทะเบียนในปีนี้ถึงปีหน้า ประมาณ 2-3 หมื่นคัน

โดยบรรดาค่ายรถยนต์อีวี จากจีนจะมาคุยกับบีโอไอเป็นด่านแรกทุกครั้ง เวลาจะตัดสินใจมาลงทุน ในระยะข้างหน้า ยังมีหลายบริษัทเตรียมเข้ามาเจรจา เพราะรถไฟฟ้าจีนมีประมาณ 100 แบรนด์

ดีลค่ายรถอีวีใหม่จบแล้ว 4 ราย

เลขาธิการบีโอไอเล่าว่า เรื่องรถยนต์อีวี ไทยสร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้โลกตะลึง ด้วยยอดขายและยอดจองท่วมท้นในปีแรก “ตอนนี้ต้องบอกว่าตลาดรถยนต์อีวีจุดติดแล้ว และไทยมีความโดดเด่นและสามารถเป็นผู้นำอีวีในภูมิภาค ทำให้ค่ายรถต่าง ๆ หันมามองมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะจีน ซึ่งจีนมีค่ายรถยนต์ไฟฟ้า 100 แบรนด์ โดยบีโอไอคุยกับบริษัทโดยตรงหลายราย ที่มีความชัดเจนแล้ว 3-4 ราย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ มีทั้งประเทศจีนและประเทศอื่นด้วย ยุโรป อเมริกา ในแง่จำนวนจีนจะมากหน่อย เพราะมีผู้เล่นเยอะ และเทคโนโลยีอีวี วันนี้จีนเป็นอันดับหนึ่งของโลก แบตเตอรี่เป็นอันดับหนึ่งของโลก”

ทั้งนี้ นายนฤตม์ระบุว่า บอร์ดบีโอไอได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการลงทุน เพื่อแก้ปัญหาให้นักลงทุน โดยไม่ต้องเข้าบอร์ดที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยจะพิจารณามาตรการ และประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ตั้ง 10 บิ๊ก ดูแลนักลงทุนต่างชาติ

คณะกรรมการประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการ, เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ประธาน Joint Foreign Chamber of Commerce (JFCCT), หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร, นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

คณะกรรมการชุดนี้จะประชุมนัดแรกในกลางเดือนธันวาคม 2565 โดยจะพิจารณาให้มีการจัดตั้งศูนย์กลางในการประสานงาน ที่ช่วยเหลือนักลงทุน ประกอบด้วย บีโอไอ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, กรมสรรพากร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

“ส่วนงานนี้จะให้บริการแบบครบวงจรทั้งก่อนและหลังการลงทุน สร้างอีโคซิสเต็มเพื่ออำนวยความสะดวกในการมาลงทุนมากที่สุด เนื่องจากนักลงทุนจะไม่ได้คำนึงถึงสิทธิประโยชน์อย่างเดียว โดยตั้งวันสต็อปเซอร์วิส โดยจับมือกับ 4 ราย มีบีโอไอเป็นด่านหน้า คาดว่าจะเริ่มได้ต้นปีหน้า”

ดึงเอกชนร่วมโรดโชว์ลงทุนปีหน้า 200 ครั้ง

ในปี 2566 บีโอไอจะผนึกกำลังพันธมิตร ทั้งไทยและต่างชาติ ในการเดินทาง Roadshow และจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน  เช่น EEC, กนอ., กระทรวง อว. และกลุ่ม Influencers เช่น ธนาคาร สภาธุรกิจฯ สมาคม อุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งแบบ Physical, Virtual, Hybrid  รวมกว่า 200 ครั้ง  และจัดกิจกรรมพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม  ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด  รวม 25 ครั้ง