
คอลัมน์ แตกประเด็น
โดยนายประโยชน์ เพ็ญสุต สำนักงานพาณิชย์ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ในครั้งที่แล้วได้เล่าว่า GSP มีที่มาที่ไปอย่างไร และสหรัฐได้จัดทำโครงการนี้มาเพื่ออะไร และไทยใช้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้ (คลิกอ่าน>>จีเอสพี (GSP) คืออะไร) ครั้งนี้จะเล่าประโยชน์ของ GSP และการใช้ประโยชน์ GSP ของไทยครับ
เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปพูดในสัมมนา Washington International Trade Association กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในฐานะตัวแทนของประเทศผู้ที่ได้รับประโยชน์จาก GSP ต่อประเทศกำลังพัฒนา
ผมได้ชี้ให้ผู้ร่วมสัมมนาเห็นหัวใจของการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือ การแข่งขัน (competitiveness) ถ้าประเทศใดมีความสามารถในการแข่งขันสูงก็ขายได้มาก ดังนั้น ประเทศที่กำลังพัฒนาจึงพยายามหาทางสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยวิธีการต่าง ๆ
ในกรณีที่ไม่มีโครงการ GSP ประเทศกำลังพัฒนาต้องพยายามหาวิธีทุกวิถีทางให้สินค้าของตนเองแข่งขันได้ เพื่อให้สินค้าตนมีราคาถูกลง หรือมีต้นทุนการผลิตสินค้าที่ลดลง เช่น ทำค่าแรงของประเทศต่ำหรือไม่สูงจนเกินไป เนื่องจากสินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่อาศัยแรงงานคน นอกจากนี้อาจมีการอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศ เพื่อให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าถูกลง หรือในหลาย ๆ ประเทศละเลยมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานทางสังคมต่าง ๆ เช่น ชั่วโมงการทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าไม่สูงจนเกินไป จนบางครั้งนำไปสู่การใช้แรงงานเด็ก หรือแรงงานบังคับ เป็นต้น นอกเหนือไปจากนั้น อาจใช้มาตรการทางการเงิน เช่น การทำให้ค่าเงินของตนต่ำลง เพื่อให้สินค้าราคาถูกลง
สิ่งเหล่านี้มีต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจทั้งสิ้น ซึ่งเป็นต้นทุนทางอ้อมที่ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องแก่ประเทศในระยะยาว ได้แก่ การทำให้มาตรฐานการครองชีพของผู้ใช้แรงงานในประเทศลดลง การเกิดปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมตามมา และอาจทำให้ค่าเงินของตนเองบิดเบี้ยว และส่งผลตรงข้ามทำให้ประเทศต้องจ่ายเงินนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้น หรือทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นในระยะยาว
โครงการ GSP ช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น โดยลดผลกระทบต่อมาตรฐานการครองชีพ ทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม เพราะสินค้าที่ส่งออกจากประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP จะไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้า ทำให้สามารถแข่งขันกับประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิ GSP ได้ดีขึ้น ส่งผลให้การจ้างงานและเศรษฐกิจดีขึ้น และมีผลกระทบทางอ้อมน้อยหรืออาจจะไม่มีเลย
จากข้อมูลพบว่า ไทยใช้สิทธิประโยชน์ GSP ของสหรัฐมากเป็นอันดับสอง รองจากอินเดีย มีมูลค่าส่งออก 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561 หรือร้อยละ 21 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าภายใต้สิทธิ GSP ทั้งหมดของสหรัฐ สินค้าที่ใช้สิทธิ GSP มากที่สุด ได้แก่ ชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ถุงมือยาง อาหารปรุง และเครื่องคอมเพรสเซอร์ เป็นต้น
ในปี 2560 ที่ผ่านมาสหรัฐให้สิทธิ์ GSP สินค้าเกี่ยวกับการท่องเที่ยว (travel goods) เพิ่มกับไทย โดยในปัจจุบันสหรัฐนำเข้าปีละ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยร้อยละ 60 นำเข้าจากจีน รองลงมาร้อยละ 10 นำเข้าจากเวียดนาม ขณะที่นำเข้าจากไทยเพียง 90 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น GSP จึงถือเป็นโอกาสให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น
ถึงแม้ GSP จะสร้างโอกาสและความสามารถในการแข่งขัน แต่ก็มีสิ่งที่ต้องระวัง…ซึ่งเรื่องนี้คงต้องยกไปเล่าในครั้งต่อไปครับ