CPF ทุบสถิตินิวไฮปี’65 จ่อลงทุนตะวันออกกลาง

CPF

CPF ปี’65 ยอดขายพุ่ง 20% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จ่อปักหมุด “ตะวันออกกลาง” ฐานผลิตประเทศที่ 18 เดินหน้าสู่เป้าหมายปี’66 โต 8-10% ฝ่าปัจจัยเสี่ยงต้นทุนอาหารสัตว์-การเมืองโลกระอุ-โรคระบาด พร้อมวางกลยุทธ์ 3 สมาร์ท สู่การเติบโตยั่งยืน

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากยอดขายเติบโต 20% จากปี 2564 ซึ่งมีรายได้ 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนล้านบาท

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ

ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา เป็นผลจากการเติบโตในธุรกิจไก่ ที่สามารถขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้น และเป็นจังหวะที่ดีจากที่หลังจากเกิด ASF ผลผลิตหมูเสียหาย คนหันมาบริโภคไก่ ซีพีเอฟสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตไก่ได้ทันเวลา เพราะมีลูกไก่ และสินค้าสุกร ซึ่งผลผลิตของบริษัทไม่ได้รับความเสียหายจากโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) จึงทำให้มีสินค้ารองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ภาวะต้นทุนการผลิตภาพรวมปรับสูงขึ้น ประมาณ 10% จากต้นทุนหลักวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดที่มีราคาสูงขึ้น 30-40% จากที่เคยมีราคาต่ำสุดไม่ถึง 10 บาท จนตอนนี้ปรับขึ้นต่อเนื่อง มาถึงปีนี้ปรับขึ้นไป 13.40 บาทต่อ กก. ทั้งที่ราคาวัตถุดิบควรจะลดลงไป 12 บาท แต่ก็ไม่ลดลง จากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตโลกลดลง ซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องมาถึงปีนี้

หากเปรียบเทียบกันแล้ว สัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็น 60% ขณะที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าถึงแม้ว่าค่าเอฟทีจะปรับสูงขึ้น แต่คิดเป็นสัดส่วน 5-10% เท่านั้น ส่วนระดับราคาสินค้าปศุสัตว์ปีนี้ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมามากนัก ยกตัวอย่าง เช่น ราคาหมูหน้าฟาร์ม ปีก่อน ราคา กก.ละ 100 บาท ส่วนปีนี้ใกล้เคียงระดับราคา กก.ละ 100 บาท เช่นเดิม

“แนวโน้มยอดขายในปี 2566 บริษัทคาดว่าจะกลับมาเติบโตในอัตราประมาณ 8-10% จากปี 2565 กลับสู่ภาวะปกติ โดยยังมองว่าแนวโน้มปัจจัยบวกที่มาสนับสนุนหลักจะมาจากความต้องการบริโภคในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากการที่จีนเปิดประเทศและมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ผลจากการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง จะช่วยกระตุ้นให้กำลังซื้อและการบริโภคคึกคัก”

ส่วนปัจจัยท้าทายที่ยังต้องระวังยังเป็นเรื่องปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่กระทบกับกำลังซื้อ ปัญหาโรคระบาดในสัตว์ และการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนที่ผิดกฎหมายเข้ามา หากไม่มีการป้องกันและเฝ้าระวังโรคระบาดจะส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงปศุสัตว์ในประเทศที่เพิ่งกลับมาฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรหลัง ASF ไม่สามารถฟื้นตัวได้ ทางกรมปศุสัตว์เดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องนี้ตลอด

“แผนการลงทุนในปี 2566 เราจะเน้นลงทุนในส่วนที่เป็น core business อาจจะมีการลงทุนเพิ่มในต่างประเทศ จากปัจจุบันที่มีการผลิตในต่างประเทศ ใน 17 ประเทศ แต่ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย

ทำให้มีการส่งออกไปได้มากขึ้น ซึ่งทางเราได้มองถึงโอกาสศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนขยายฐานการผลิตแห่งที่ 18 ไปยังกลุ่มตะวันออกกลาง เบื้องต้นมองถึงโอกาสการขยายการลงทุนการผลิตอาหารแปรรูป ที่เป็นหนึ่งสาขาที่ซีพีเอฟเชี่ยวชาญ อาจจะเป็นการแปรรูปไก่ หรือกุ้ง ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดนี้ได้ วางงบประมาณหลักพันล้าน โดยจะเป็นการร่วมทุน (joint) กับพันธมิตรในตลาดนั้น”

ส่วนการลงทุนในประเทศอื่น มีการขยายตัวตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดฟิลิปปินส์ที่เข้าได้ลงทุนในธุรกิจสุกร และไก่ เติบโตได้ดี จากที่ตลาดนี้มีประชากรมากกว่า 110 ล้านคน มีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น การผลิตในจีนและเวียดนามก็ยังเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ฐานการผลิตในประเทศไทยซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด ก็ยังมีความสามารถเพียงพอในการผลิตสินค้ารองรับความต้องการผู้บริโภคได้จึงยังไม่ต้องมีการขยายการลงทุนเพิ่มในส่วนนี้

นายประสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญซีพีเอฟมุ่งให้ความสำคัญกับลงทุนโดยใช้โมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นทิศทางของประเทศและทั่วโลก

“เรามองว่า ซี.พี.เป็นองค์กรที่มีอายุ 100 ปี ขณะที่ซีพีเอฟมีอายุ 40-50 ปี วิสัยทัศน์ที่เราอยากให้ทุกคนบนโลกมีอายุเกินกว่า 100 ปี และมีสุขภาพแข็งแรง โดยวางพันธกิจสำคัญโดยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ตอบโจทย์ 2 เรื่อง คือ ดีต่อสุขภาพ และทำให้มีรสชาติดี อร่อยขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น”

“ซีพีเอฟมีกระบวนการในการจัดการ ที่ทำให้เรามั่นใจจะไปได้ เพราะบิสซิเนสโมเดลของเราที่สามารถดูได้ถึงต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามแนวทาง 3 Smart หนุนกระบวนการดำเนินธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ (smart sourcing) กระบวนการผลิต (smart production) และการบริโภค (smart consumption) ส่วนหนึ่งเราทำเอง

ส่วนหนึ่งก็ทำร่วมกับพันธมิตร โดยแน่นอนว่าจะคุณภาพดี ต้องมีการควบคุมดูแลต้นทุน (cost control) เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารคุณภาพดี ในราคาที่เหมาะสม 2) เรื่องความปลอดภัยในอาหาร (food safety) ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพ ลดเค็ม ใช้น้ำตาลน้อยลง แต่ให้คงความอร่อย และอีกเรื่องคือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (food security)”