ซีพีเอฟ บรรลุเป้าเลิกใช้ถ่านหิน 100% ในไทย เดินหน้าโรดแมปสู่ Net-Zero

ซีพีเอฟ บรรลุเป้าเลิกใช้ถ่านหิน 100%

ซีพีเอฟ กางโรดแมปเส้นทางขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero) พร้อมทั้งประกาศความสำเร็จยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100%

วันที่ 18 มกราคม 2566 นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยถึงแผนขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero) ว่า บริษัทสามารถยกเลิกการใช้ถ่านหินตามเป้าหมายปี 2565 หรือ Coal Free 2022 ได้สำเร็จ 100% สำหรับกิจการในประเทศไทย

และได้หันมาใช้พลังงานจากชีวมวลทดแทน ส่งผลให้สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของบริษัท มีสัดส่วน 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ถือเป็นบริษัทอันดับต้น ๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่มีสัดส่วนการใช้ พลังงานหมุนเวียนสูงที่สุด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 600,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบกับการปลูกต้นไม้ 64 ล้านตัน หรือ 320,000 ไร่ ซึ่งบริษัทได้ใช้เงินลงทุนในการเปลี่ยนผ่านเพียง 120 ล้านบาทเท่านั้น

“การจะยกเลิกการใช้ถ่านหินนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เรามีการซื้อจากซัพพลายเออร์ใหญ่ ๆ มีคอมมิตเมนต์ และต้องมีการลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต ซึ่งทั้งหมดเราจะทำเพียงคนเดียวไม่ได้ต้องมีพันธมิตรช่วย สิ่งที่จะได้รับตอบรับการปรับเปลี่ยนนั้นผลตอบแทนทันทีที่เห็นคือ ทุกนาทีที่ลดใช้ถ่านหินคุณลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไป 40 เท่า

ซึ่งไม่ใช่แค่ผลตอบแทนรายได้เท่านั้นแต่เป็นเรื่องการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เรากำลังเตรียมทีมวิศวกรที่จะเข้าไปช่วยซัพพลายเออร์ของเราให้ปรับเปลี่ยนไปพร้อมกันด้วย แต่ก่อนที่จะทำให้เขาเปลี่ยนเราต้องไปสร้างความยั่งยืนให้เขาก่อน เขาต้องมีรายได้มั่นคงก่อน จึงจะคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลง”

นายประสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การมุ่งพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนของซีพีเอฟเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิต-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำ ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ตระหนักถึงภารกิจของการเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก ที่มุ่งมั่นดูแลการผลิตอาหารให้เพียงพอรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในสถานการณ์ปกติและภาวะวิกฤต

พร้อมทั้งมีส่วนร่วมสนับสนุนเป้าหมายของโลกในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้งหมด 17 ด้าน

“และในการประชุมเอเปคที่ผ่านมา ประเทศไทยได้หยิบยกประเด็นเรื่อง BCG ขึ้นมาหารือประสบความสำเร็จอย่างมาก แม้ว่าไทยเป็นประเทศขนาดกลางแต่กล้าที่จะประกาศนโยบายที่เป็นประเด็นระดับโลก และทางคุณศุภชัย (เจียรวนนท์) เป็นผู้นำในเรื่องการดำเนินการขององค์กรตาม SDGs และเราได้มีการทำงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัท เช่น ไทยเบฟ ทียู มิตรผล ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นคู่แข่งทางธุรกิจแต่เรามีการแชร์ Best Practice กัน เพราะแต่ละธุรกิจมีแนวทางที่แตกต่างกัน”

สำหรับการทำงานซีพีเอฟ ในปี 2566 ซีพีเอฟทั้งกิจการในไทยและต่างประเทศทั่วโลก 17 ประเทศ จะร่วมกันกำหนดแผน ภาพรวม (Roadmap) และแผนลงมือปฏิบัติ (Climate Transition Action Plans)

โดยใช้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือน กระจกของซีพีเอฟทั่วโลกในปี 2020 (พ.ศ. 2563) เป็นปีฐาน เพื่อวางแผนและกำหนดเป้าหมายโลกลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ระยะใกล้ (ปี 2030) และระยะไกล (ปี 2050) ตามมาตรฐานที่ดีที่สุด ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทยที่กำหนดไว้ในปี 2065

โดยบริษัทได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยี AI IOT และระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตามแนวทาง 3 Smart หนุนกระบวนการดำเนินธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ (Smart Sourcing) กระบวนการผลิต (Smart Production) และการบริโภค ( Smart Consumption)

ทั้งนี้ Smart Sourcing การจัดหาวัตถุดิบ ยกระดับมาตรฐานการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยวัตถุดิบหลักทางการเกษตรที่สำคัญ รวมถึงข้าวโพด และถั่วเหลือง จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้และมาจากพื้นที่ที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า

Smart Production กระบวนการผลิต การใช้พลังงานชีวมวลเพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากถ่านหิน และการ จัดการมูลสัตว์และน้ำเสียมาใช้เป็นพลังงาน (Waste to Energy) ด้วยระบบก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) ในการบำบัด มูลสัตว์และน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงสุกรและไก่ไข่ และนำก๊าซมีเทนที่ได้จากก๊าซชีวภาพไปผลิตกระแสไฟฟ้ากลับมาใช้ ในฟาร์ม ซึ่งสามารถทดแทนการใช้ไฟฟ้าในฟาร์มได้ถึง 50-70%

Smart Consumption การบริโภค บริษัทมีการคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อนำไปสู่การกำหนดแผนในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์อาหาร และการให้ความสำคัญในการใช้บรรจุ ภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร กล่าวถึงแผนการทำงานด้าน Net Zero ในปีนี้ บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำเตรียมข้อมูล สำหรับเป็นฐานใช้คำนวณการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้เป็นเป้าหมาย Net Zero โดยจะใช้มูลปี 2020 เป็นปีฐาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานจะเป็นไปตามหลักทางวิทยาศาสตร์ ภายใต้ข้อกำหนดขององค์กร Science Based Initiatives (SBTi)

ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง CDP, United Nations Global Compact, World Resources Institute และ World Wide Fund for Nature โดยตั้งแต่ปี 2015 (พ.ศ. 2558) มีบริษัทมากกว่า 2,000 แห่ง เข้าร่วม เพื่อกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิทยาศาสตร์ ในการรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

สำหรับภาพรวมการใช้พลังงานของซีพีเอฟ ปัจจุบันมีความต้องการใช้ไฟฟ้า 3,000 GWHต่อปี ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจากปี 2563 ที่มีสัดส่วน 26% เป็น 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมดนั้น แบ่งเป็น ก๊าซชีวภาพ 30% จากฟาร์มสุกร 100% ฟาร์มไก่ 100% พลังงานชีวมวล 68% และพลังงานแสงอาทิตย์ 2% ใน 36 โรงงาน คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 20 เมกะวัตต์ โดยเรามีแผนขยายต่อไปให้ถึง 100 เมกะวัตต์ในปี 2025 และยังมองหาและศึกษาโอกาสการลงทุนในเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ เช่น แบตเตอรี่ ไฮโดรเจน ซึ่งเทคโนโลยีขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก

“เดิมที่มีการใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงาน แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนมาเป็นไบโอแมสได้ โดยมีโครงการจัดทำ Waste to valued นำเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้มาเผาผลิตไฟฟ้าแทนถ่านหิน โดยในปีสุดท้ายมีการใช้ถ่านหิน 6,500 ตัน และมีการใช้ชีวมวล 145,000 ตัน ซึ่งผลจากการลดใช้ถ่านหินและใช้ชีวมวลใน 18 โรงงาน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจงได้ 220,000 ตันคาร์บอน คิดเป็นประหยัด 350 ล้านบาทต่อปี”

“หากถามว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนจะไปหักลบกับการปรับขึ้นค่าเอฟทีทำให้สินค้าราคาถูกหรือไม่ อธิบายว่า การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนทำให้เราได้ส่วนลดกลับมา เป็นการสร้างผลตอบแทนกลับสู่ธุรกิจ ขณะที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าเอฟทีที่ปรับขึ้นเรายังต้องจ่าย เป็นรายจ่ายที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงไม่มีผลต่อราคาสินค้า”

ด้านนางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน โดยมีเป้าหมายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) เพิ่มพื้นที่สีเขียวรวมอย่างน้อย 20,000 ไร่ จากปัจจุบันที่ดำเนินโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในสถาน ประกอบการ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ที่อำเภอ พัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ในพื้นที่จังหวัดระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา ตราด และพังงาโดยได้มีการดำเนินการไปแล้วรวมประมาณ 14,000 ไร่ และล่าสุดเพิ่งได้รับการพิจารณาอนุมัติในปีนี้ ให้ดำเนินการ 5,000 ไร่ ในอีก 2-3 ปีนี้ และได้ร่วมกับโครงการปลูกป่า 1 ล้านต้นกับทางกรุงเทพมหานครด้วย