วิกฤตขาดแรงงาน 5 แสนคน เที่ยวฟื้นเร็ว แย่งภาคผลิต-จี้รัฐเร่งนำเข้า

ส.อ.ท.ประเมินสถานการณ์แรงงานไทยปี 2566 ยังคงขาดแคลนพุ่งแตะที่ 500,000 คน หลังการท่องเที่ยวโตไว ภาคการผลิตยังต้องการแรงงานเมียนมาเพิ่ม ลุยจี้ “กระทรวงแรงงาน” ต่อ วอนแก้ปัญหาให้ขาด หวั่นซ้ำทำความสามารถการแข่งขันของประเทศลดลงเรื่อย ๆ

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานปี 2566 ว่า ปัจจุบันการขาดแคลนแรงงานในทุกภาคอุตสาหกรรมยังคงเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต่างพยายามช่วยกันแก้ไขมาโดยตลอด

ซึ่งก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เท่าที่ควร โดยประเมินว่าปีนี้ประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมยังขาดแคลนแรงงานอยู่ที่ 350,000-500,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นความต้องการจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ เนื่องจากการท่องเที่ยวโตแบบฉับพลัน ทำให้แรงงานที่ขาดแคลนอยู่แล้วขาดแคลนเพิ่มไปอีก

ซึ่งไทยเองยังต้องการแรงงานจากเมียนมา เดิมมีสัดส่วนถึง 60% ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมดที่เข้ามาทำงานในไทย ขณะนี้หายไปมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แรงงานต้องกลับประเทศ ขณะที่ประเทศเมียนมาเองมีข้อจำกัดการส่งออกแรงงานออกนอกประเทศเช่นกัน แม้ว่ากระทรวงแรงงานไทยจะมีการลงนาม MOU กับทางรัฐบาลเมียนมา เพื่อให้มีการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ตาม

“แรงงานไทยมี 2 ส่วนคือ ภาคการผลิตกับภาคบริการ และมันก็มีทั้งแรงงานฝีมือ ตรงนี้ส่วนใหญ่เรามีแรงงานคนไทยที่มีความสามารถตรงนี้อยู่แล้ว ตามสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย เขาก็ผลิตออกมาซัพพอร์ต แต่ในส่วนของแรงงานไร้ฝีมือ ส่วนใหญ่เป็นต่างด้าวจากเมียนมา กัมพูชา ลาว ประมาณ 3 ล้านคน”

“ปัญหาเกิดหนักช่วงโควิด-19 เขากลับประเทศ แรงงานไทยก็กลับบ้านตามภูมิลำเนาตัวเอง ก็ไม่กลับเข้ามากัน ซึ่งก็ทำให้มีแรงงานผิดกฎหมายทะลักเข้ามาอีก ปัญหาขาดแคลนก็ซ้ำเติมด้วยปัญหาแรงงานผิดกฎหมายอีก รวมถึงแรงงานที่ยังไม่ลงทะเบียน ซึ่งในวันที่ 15 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมาเปิดให้ลงทะเบียนวันสุดท้าย ก็ยังไม่รู้ว่าพวกที่ออกจากระบบไปจะเข้าระบบอีกเท่าไร”

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา ส.อ.ท.ได้เคยเสนอให้กระทรวงแรงงานเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมากขึ้น ภายใต้การ MOU กับหน่วยงานรัฐของประเทศต้นทาง เพื่อให้มีการอำนวยความสะดวก ใช้เวลาและขั้นตอนที่น้อยลง เนื่องจากขณะนี้หากดูจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 2566

ซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.6 ในเดือน ธ.ค. 2565 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 43 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2562 ภาคการท่องเที่ยวไทยโตเร็ว เป็นสัญญาณที่ดี

ดังนั้น รัฐควรที่จะเร่งใช้โอกาสนี้แก้ปัญหาให้ได้ ซึ่ง ส.อ.ท.เองจะยังคงเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้ให้มากขึ้น และถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ในส่วนของเอกชน ผู้ประกอบการต้องหาวิธีนำแรงงานที่กลับภูมิลำเนากลับมาให้ได้

ซึ่งการที่ไทยมีแรงงานเพียงพอในทุกภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและบริการจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่ง เพราะอย่างน้อยไทยยังคงซัพพอร์ตบุคลากรแรงงานให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการได้ แน่นอนว่าจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่ไทยจะดึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกลับมาได้


นอกจากนี้ ยังจำเป็นที่ต้องเร่งเจรจาสิทธิทางภาษีต่าง ๆ อาทิ ความตกลงการค้าเสรี (free trade agreement : FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (EU) และ FTA ระหว่างไทย-GCC (กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ) เพิ่มเติม เพราะหากเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และเวียดนามแล้ว ไทยถือว่ามี FTA น้อยที่สุด ซึ่งมีการทำความตกลงเพียง 15-18 ฉบับเท่านั้น