คิกออฟ เจรจา FTA ไทย-อียู คู่แข่งนำหน้า-อังกฤษไม่อยู่ในตลาด

ส่งออก

การประกาศคิกออฟการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรปของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ ในทางการเมืองถือเป็นการเดินหมากเชิงรุกของพรรคประชาธิปัตย์ ทว่าการเจรจา FTA ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน

แต่เป็นผลต่อเนื่องมาจากกระบวนการที่ประเทศไทยปรับเปลี่ยนสถานะจากรัฐบาลที่มาจากการกระทำรัฐประหารมาสู่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ ส่งผลให้สหภาพยุโรปยอม “ปลดล็อก” เงื่อนไขที่จะไม่เจรจากับรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารลง และเข้าสู่กระบวนการที่จะหวนกลับมาเจรจาการค้ากันใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ล่าสุด ครม.ได้มีมติ “เห็นชอบ” การเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลง FTA ตาม “ร่างกรอบเจรจา” โดยใช้หลักการเดียวกับการยกร่างกรอบการเจรจา FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association หรือ EFTA) และใช้หลักการเดียวกันกับกรอบเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดาในหัวข้อเกี่ยวกับการคุ้มครองการลงทุน รัฐวิสาหกิจและความโปร่งใส

โดยกรอบการเจรจาจะครอบคลุม 20 หัวข้อ มีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่ที่ให้ได้ประโยชน์ในภาพรวมสูงสุดกับประเทศ โดยคำนึงถึงความพร้อมระดับการพัฒนา ภูมิคุ้มกันประเทศ การมุ่งเป้าหมายการพัฒนา (SDG) เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน การลดอุปสรรคทางการค้า การอำนวยประโยชน์ความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การรักษาสิทธิของรัฐ การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์มาตรฐานสากลและสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ

ผลศึกษา IFD ปี 2563

ก่อนที่ประเทศไทยจะเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ศึกษาด้วยการว่าจ้างสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการจัดทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป สรุปผลการศึกษาในเดือนกันยายน 2563 พบว่า จากการวิเคราะห์แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์บนสมมุติฐานการลดภาษีศุลกากรทุกสินค้าทั้งของไทยและสหภาพยุโรป

การจัดทำ FTA ฉบับนี้จะทำให้ GDP ของไทยขยายตัวร้อยละ 1.28 สวัสดิการสังคมของไทยเพิ่มขึ้น 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.83 การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.81 รวมไปถึงการกระจายรายได้ในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นด้วย

โดยกลุ่มสินค้าไทยที่จะได้ประโยชน์ ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรและอาหาร, ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ, เคมีภัณฑ์, พลาสติก ขณะเดียวกันนักลงทุนไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุนในสหภาพยุโรปมากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, ค้าปลีก, เกษตรและอาหาร ทั้งยังสามารถดึงดูดนักลงทุนจากสหภาพยุโรปมาในประเทศไทยมากขึ้น อาทิ การขนส่งทางทะเล, การเงินการประกันภัย, ธุรกิจพลังงานสะอาด, การศึกษา และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

ส่วนปัญหาที่ต้องติดตามคงหนีไม่พ้นประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการคุ้มครองพันธุ์พืช UPOV1991 มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน ที่ประเทศไทยต้องคิดรอบคอบรอบด้าน

จับตาคู่แข่งเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางอัตราศุลกากร (GSP) จะส่งผลทำให้สินค้าส่งออกสำคัญ ๆ กว่า 42 รายการ มียอดส่งออกไปสหภาพยุโรปวูบหายไปทันที อาทิ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไก่ หมู และเครื่องใน, ผลิตภัณฑ์อาหาร, สินค้าแปรรูปจากปลา, ผักผลไม้, ผลิตภัณฑ์จากแป้ง, เคมีภัณฑ์, ยางและพลาสติก, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งมีมูลค่านำเข้าสินค้าไทยในกลุ่มนี้อย่างมี “นัย” สำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยมาก

นอกจากนี้ ประเทศไทยอาจจะ “เสียเปรียบ” คู่แข่งทางการค้าอย่าง “เวียดนาม” ทันที เนื่องจากเวียดนามได้ทำความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปหรือ EVFTA และเริ่มลดภาษีระหว่างกันเป็น 0 ในจำนวนสินค้ามากกว่า 82.5% ขณะที่โครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยและเวียดนามนั้น “คล้ายคลึงกันมาก”

อีกทั้งเวียดนามยังได้เปรียบจากต้นทุนการผลิต ค่าไฟฟ้า ค่าแรง ที่ถูกกว่าประเทศไทยมาก และยังได้รับ GSP ต่อเนื่องไปอีก ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่า การค้าระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้น ๆ ขณะที่การค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปลดลง ๆ (ตามกราฟิก) หากคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 10.94% ต่อปี ส่วนไทยขยายตัวเพียง 1.45% ต่อปี

เวียดนามยังคาดการณ์ว่า EVFTA จะทำให้มูลค่าการส่งออกเวียดนามไปสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 4-6% มูลค่า 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับการไม่มี EVFTA และที่สำคัญก็คือ มูลค่าการค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2571 อีกทั้งเวียดนามยังได้ประหยัดภาษีนำเข้าที่ต้องจ่ายให้สหภาพยุโรปอีก 14,022 ล้านบาท

สำหรับสินค้าไทยที่จะเพลี่ยงพล้ำเสียเปรียบสินค้าเวียดนามรุนแรงที่สุดก็คือ อุตฯยานยนต์และชิ้นส่วน ลดลง 3,683.9 ล้านบาท, การค้า (ครอบคลุมค้าปลีก-ค้าส่ง-โรงแรม-ภัตตาคาร-การซ่อมยานยนต์-การขายปลีกน้ำมัน) 1,235.6 ล้านบาท, เครื่องจักรและอุปกรณ์อื่น 1,223.2 ล้านบาท, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ลดลง 927.2 ล้านบาท, เครื่องแต่งกาย 492.3 ล้านบาท, ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ 461.9 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์โลหะ 436.4 ล้านบาท

เวลาเปลี่ยนโจทย์เปลี่ยน

แต่ทว่าการหวนกลับมาเริ่มต้นเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป หลังจากที่ทิ้งช่วงไปนาน 7-8 ปี จะเริ่มต้นภายใต้สถานการณ์เปลี่ยนที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ประการแรก ตลาดสหภาพยุโรปได้เปลี่ยนไปแล้ว จากปี 2563 มีสมาชิก 28 ประเทศ ปัจจุบันเหลือ 27 ประเทศ หลังจากสหราชอาณาจักร (UK) ได้ทำการ Brexit ออกจากสหภาพยุโรปไปแล้ว ในขณะที่สหราชอาณาจักร ในทางการค้ามีความสำคัญต่อประเทศไทยไม่ใช่น้อย

จากข้อมูลการศึกษาปี 2561 ระบุว่า อียูมีมูลค่า GDP ถึง 18.25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยในจำนวนนี้มี 3 ประเทศสมาชิกหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ได้แก่ 1) เยอรมนี มูลค่า 3.99 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ 2) UK 2.82 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และ 3) ฝรั่งเศส 2.72 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ยิ่งไปกว่านั้น หากดูมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยปี 2561 จะพบว่า สหภาพยุโรปนำเข้าสินค้าจากไทย 29,509 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมี UK เป็น 1 ใน 3 ประเทศที่ซื้อสินค้าจากไทยมากที่สุด ประกอบกับการลงทุนในไทยก็เช่นกัน ที่มีมูลค่า 35,529 ล้านเหรียญ ก็มี UK มาเป็นอันดับ 2 รองจากเนเธอร์แลนด์ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ที่ลอนดอน เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กรุยทางไปสู่การเปิดเจรจา FTA ไทย-UK อีกฉบับ ดังนั้นการเปิดเจรจา FTA พร้อมกัน 2 ฉบับ (FTA ไทย-สหภาพยุโรป กับ FTA ไทย-UK) หากมองในแง่บวกถือว่ามีโอกาสต่อรอง

แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า ไทยกำลังเปิดการเจรจา FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) อีก 1 ฉบับ สมาชิก 5 ประเทศ คือ รัสเซีย, คาซัคสถาน, เบลารุส, อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน ไปในเดือนมิถุนายน 2565

ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเดียวที่เปิดการเจรจา FTA ที่เกี่ยวเนื่องกันถึง 3 กรอบพร้อม ๆ กัน