
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าย้ำชัด การอนุญาตให้ต่างชาติลงทุนเน้นให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ สำหรับ โครงการซามาเนีย พลาซ่า หลังตรวจสอบพบเป็นการประกอบธุรกิจของนิติบุคคลไทย ประกอบกิจการได้ปกติ
วันที่ 7 มีนาคม 2566 นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยทุนจีนเข้ามาเปิด ‘โครงการซามาเนีย พลาซ่า’ ศูนย์ค้าปลีก ค้าส่ง และกระจายสินค้าราคาถูกเพื่อจำหน่ายสินค้านำเข้าจากจีนครบวงจรว่า ผู้ประกอบการ กลุ่มธุรกิจ ให้ความกังวล หลังผู้นำเข้าสินค้าจากจีนยื่นขอให้มีการตรวจสอบและติดตามการดำเนินธุรกิจของกลุ่มซามาเนียว่าอาจไม่ชอบตามกฎหมายหรือไม่
- กรมอุตุฯ จับตาพายุหมุนเขตร้อน มีหย่อมความกดอากาศก่อตัวใหม่อีก 1 ลูก
- โปรดเกล้าฯให้ ขรก. 6 ราย ประดับเหรียญ จ๊อยน์ เซอร์วิซ คอมเมนเดชัน เมดัล
- อว.ปลื้ม 19 มหา’ลัยไทยติดอันดับโลก 2024 ตั้งเป้าปีต่อไปขึ้น TOP 400
ทั้งนี้ เกรงว่าจะกระทบกับธุรกิจและเอกชนไทย พร้อมกับมองว่าเป็นการถล่มตลาดที่มีผลมาจากนโยบายของรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุน e-commerce จากประเทศจีน
โดยจากการตรวจสอบ ‘โครงการซามาเนีย พลาซ่า’ จากการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ มีนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซามาเนีย บางนา 02 จำกัด บริษัท ซามาเนีย บางนา จำกัด และบริษัท ซามาเนีย โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทั้ง 3 บริษัทมีสถานะเป็นนิติบุคคลไทย โดยมีนายเฉือก ฟ้ง อ้อ ซึ่งมีชื่อเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล 3 รายที่เกี่ยวข้อง มีสัญชาติไทย โดยมีมารดาเป็นคนไทย
บริษัททั้ง 3 รายจึงไม่มีสถานะเป็นคนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าย้ำว่า ในการพิจารณาให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนจะคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นหลัก รวมถึงผู้ประกอบการไทยต้องได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ชาติหนึ่งชาติใดเป็นพิเศษ โดยนักลงทุนจากทุกประเทศต้องปฏิบัติตามกฎหมายและเงื่อนไขการลงทุนที่กำหนดไว้
จากข้อมูลการอนุญาตในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่าประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และจีน จึงเห็นได้ว่ากรมมีการส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศโดยไม่ได้มีการเลือกปฏิบัตต่อนักลงทุนชาติหนึ่งชาติใดเป็นการเฉพาะ แต่จะเน้นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติและผู้ประกอบการไทยเป็นสำคัญ
นายจิตรกรกล่าวอีกว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานที่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จะพิจารณาโดยคำนึงถึงผลดีและผลเสียต่อความมั่นคงของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี

โดยที่ผ่านมาธุรกิจที่อนุญาตจะเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
รวมถึงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ธุรกิจบริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ทั้งนี้ การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทยนั้น จะพิจารณาผลดี/ผลเสียของธุรกิจที่นักลงทุนจะเข้ามาประกอบกิจการที่มีต่อประเทศโดยรวมเป็นสำคัญ และไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นนักลงทุนจากประเทศใดเป็นการเฉพาะเจาะจงด้วย