ทุนจีนบุกจีบทุนไทย ปั๊มยอดเงินลงทุน “เซี่ยงไฮ้-อีอีซี”

ทุนจีนบุกจีบทุนไทย

“ทุนจีน” ได้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วงนี้ในฐานะคู่ค้า-นักลงทุนอันดับ 1 ของไทย ด้วยความใกล้ชิดกันในเชิงภูมิศาสตร์ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม ส่งผลให้จีนและไทย พึ่งพาทางเศรษฐกิจระหว่างกันในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ภายในงานสัมมนา “ลู่ทางและโอกาสการค้าและการลงทุนในเซี่ยงไฮ้” จัดขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ โรงแรมวอลดอร์ฟ โดยมี นายธนากร เสรีบุรี นายกสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน และรองประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นประธาน

เปิดรับการโรดโชว์จากเมืองการเงินลู่เจียจุ่ยที่นำโดย นายหยวน เหย่เฟิง รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารลู่เจียจุ่ย เขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ เปิดกว้างแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างเอกชนสองประเทศ

ซี.พี.ยึด “เซี่ยงไฮ้” ทำเลทอง

นายธนากร กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีธุรกิจมากกว่า 600 บริษัท กระจายอยู่ในทั่วทุกมณฑลของจีน มีพนักงานรวมกันเกือบ 1 แสนคน ธุรกิจที่ลงทุนครอบคลุมทั้งด้านการเกษตรและอาหาร การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค การค้าปลีกยา อสังหาริมทรัพย์ การเงิน และสื่อสาธารณะ

ในส่วนของเซี่ยงไฮ้ ซี.พี.ก็เข้าไปลงทุนครั้งแรกเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน และขยายการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หนึ่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเขตลู่เจียจุ่ยที่โดดเด่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิ ซูเปอร์แบรนด์มอลล์ ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน

“เครือ ซี.พี.มองอนาคตของเขตลู่เจียจุ่ย เซี่ยงไฮ้ เพียบพร้อมไปด้วยสภาพปัจจัยทางธุรกิจที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก และมาตรการส่งเสริมการลงทุนทั้งระบบนิเวศอย่างรอบด้าน จะขยายตัวอีกมากในอนาคต ด้วยความเชื่อมั่นในทิศทางการเติบโตของลู่เจียจุ่ย ซี.พี. สนใจ ขยายการลงทุนในพื้นที่ในหลายด้าน อาทิ อสังหาริมทรัพย์ และไฮเทคในอนาคต”

จับตา Made in China 2025

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน กล่าวให้ความเห็นว่าเชื่อมั่นว่าจีนจะยังคงรักษาตำแหน่งแชมป์ทางเศรษฐกิจนี้เอาไว้ได้ในปีนี้ และมีศักยภาพที่จะเติบใหญ่อีกมากในอนาคต

นอกจากชาวจีนที่จะหลั่งไหลมาเที่ยวไทยอีกหลายล้านคนแล้ว เราจะได้เห็นการขยายการลงทุนของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ภายใต้นโยบาย Made in China 2025 ในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อีอีซี อีกมากจากนี้ไป

ซึ่งในทางภูมิศาสตร์ “เซี่ยงไฮ้” ถือเป็น “หัวมังกร” ทางเศรษฐกิจของจีน ที่มีความพร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย อาทิ ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และตลาดหลักทรัพย์ STAR สำหรับสตาร์ตอัพ รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า และหยางซาน ท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

รวมทั้งมีโครงข่ายเส้นทางรถไฟใต้ดินรวมกันที่ยาวที่สุดในโลก ทำให้เซี่ยงไฮ้ได้รับโอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดงานสำคัญระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ World Expo 2010 และงานแสดงสินค้า China International Import Expo

ทุนจีนบุกจีบทุนไทย

นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ได้กลายเป็น “เวที” นำร่องนโยบายใหม่และนวัตกรรมของจีนมาอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับความพร้อมและศักยภาพที่มีอยู่ทำให้มหานครแห่งนี้เป็นเสมือน “ห้องรับแขกใหญ่” ที่รองรับการลงทุนของต่างชาติที่สำคัญที่สุดในจีน

“ในส่วนของไทย เราได้เห็นกิจการในเครือ ซี.พี.เป็นธุรกิจรายแรกที่เข้าไปบุกเบิกในจีน และขยายการลงทุนครอบคลุมทุกมณฑล/มหานครของจีน แม้กระทั่งในทิเบต ซี.พี.ยังลงทุนในนครเซี่ยงไฮ้ในหลายธุรกิจและอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร ช่องทางจัดจำหน่ายสมัยใหม่ การเงินการธนาคาร และบริการอื่น

อาทิ มีธนาคารของไทย 3 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ รวมทั้ง ปตท. ที่เข้าไปเปิดสาขาให้บริการในนครเซี่ยงไฮ้ และเชื่อว่ากิจการของผู้เข้าร่วมงานสัมมนาในวันนี้จะเข้าไปลงทุนในเซี่ยงไฮ้อีกมากในอนาคต”

เขตการเงินและการค้าลู่เจียจุ่ย

สำหรับนโยบายหนึ่งในนโยบายสำคัญที่จีนได้เริ่มทดลองใช้ในเซี่ยงไฮ้เป็นแห่งแรก และจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาของจีนในยุคหน้า ก็ได้แก่ Free Trade Zone ซึ่งหนึ่งในพื้นที่สำคัญก็ได้แก่ “เขตการเงินและการค้าลู่เจียจุ่ย” ซึ่งถือเป็นเขตพัฒนาระดับชาติเพียงแห่งเดียวที่ครอบคลุมทั้งด้านการเงินและด้านการค้าไว้ด้วยกัน

“ในโอกาสที่คณะผู้บริหารสำนักงานบริหารลู่เจียจุ่ย เขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ นำโดยท่านหยวน เหย่เฟิง มาเยือนไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่จะประสานความสัมพันธ์และรับทราบข้อมูลเชิงลึกจากคณะผู้บริหารของพื้นที่โดยตรง”

เซี่ยงไฮ้อัดมาตรการส่งเสริม

นายหยวน เย่เฟิง รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารลู่เจียจุ่ย เขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า เซี่ยงไฮ้เติบใหญ่อย่างรวดเร็วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จนมีขนาดเศรษฐกิจเทียบเท่ากับจีดีพีของบางประเทศ

ขณะที่เขตลู่เจียจุ่ย ก็เป็นพื้นที่การพัฒนาระดับชาติแห่งเดียวที่ครอบคลุมทั้งด้านการค้าและการเงินไว้พร้อมกัน จึงเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า มีอาคารสำคัญ อาทิ เซี่ยงไฮ้ทาวเวอร์ อาคารที่สูงที่สุดของจีน และเซี่ยงไฮ้เวิร์ลไฟแนนเชียลเซ็นเตอร์

นอกจากนี้ เขตลู่เจียจุ่ยยังพยายามนำเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่เพื่อดึงดูดให้กิจการต่างชาติขยายการลงทุนในพื้นที่ในอนาคต เพื่อพัฒนาเขตลู่เจียจุ่ยให้เป็นสถานที่ตั้งของระบบการเงินครบวงจรอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ชั้นนำของโลก และก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ เทียบชั้นศูนย์กลางการเงินแห่งอื่นของโลกในที่สุด

ทุนจีนบุกจีบทุนไทย

ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน อาทิ การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 25% เป็น 15% ของเงินได้สำหรับประเภทธุรกิจที่ได้การส่งเสริมการลงทุน อาทิ ธุรกิจการเงิน การค้าระหว่างประเทศ และอุตสาหกรรมไฮเทค

ด้าน นายไช่ หงถู รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เซี่ยงไฮ้ลู่เจียจุ่ยกรุ๊ป จำกัด และ นางสาวซุน เจียอิ่ง รองกรรมการผู้จัดการ เซี่ยงไฮ้ผู่ตง เอ็กโปเลชั่น กรุ๊ป กล่าวถึงความพยายามในการพัฒนาพื้นที่ลู่เจียจุ่ยในเชิงรุก และนำเสนอโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการออกแบบและก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในไม่กี่ปีข้างหน้า อาทิ โครงการ The Summit, Longyang TOD Complex และ 333 Century

นับได้ว่าเป็นทริปจีนคณะแรกที่เข้ามาเปิดฉากดึงดูดการลงทุนจากไทย หลังจากนี้คงต้องจับตามองว่าความเคลื่อนไหวของการลงทุนระหว่างสองประเทศจะเป็นอย่างไร