คลื่นทุนจีนบุก “เชียงใหม่-ภูเก็ต” รอบใหม่ ยึดธุรกิจท่องเที่ยว-จี้สกัดนอมินี

นักท่องเที่ยวจีน

ต่างชาติดอดลงทุนธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร รถ เรือ “ภูเก็ต-เชียงใหม่”รับนักท่องเที่ยวต่างชาติพุ่ง วงการหวั่นเปิดประตู “นอมินี” ต่างชาติรอบใหม่ จี้รัฐสกัดซ้ำรอยทุนจีนสีเทา สทท. เผยผู้ประกอบการไทยเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ไปต่อไม่ไหว เปิดช่องทุนต่างชาติไหลเข้า เชียงใหม่เผยคลื่นทุนจีนระลอกใหม่บุกท่องเที่ยว-อสังหาฯ ผุดชุมชนคนจีน “สันกำแพง”

แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากของตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 เป็นต้นมา จากในเดือน ก.ค. 2565 จำนวน 1.17 ล้านคน กระทั่งในเดือน ธ.ค. 2565 เข้ามา 2.24 ล้านคน และคาดว่าในเดือน ม.ค. 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามากว่า 2 ล้านคนเช่นกัน ทำให้เห็นสัญญาณของนักลงทุนจากต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวของไทยมากขึ้น

โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก ทั้งกรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวหลักที่นักท่องเที่ยวต่างชาติชื่นชอบ เนื่องจากเห็นโอกาสการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างชัดเจน ประกอบกับทั้งภาครัฐและเอกชนต่างคาดการณ์กันว่าปี 2566 นี้ ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 30 ล้านคน

ซัพพลายฟื้นไม่ทัน

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นภาพการทยอยเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในธุรกิจร้านอาหาร เรือนำเที่ยว รถนำเที่ยว เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการรายเดิมฟื้นตัวกลับมาไม่ถึง 50% ของจำนวนที่เคยมีอยู่เดิมในช่วงก่อนวิกฤตโควิด และส่วนใหญ่ยังทยอยกลับมาเปิดธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ซึ่งสวนทางกับการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในด้านดีมานด์ ทำให้เกิดปัญหารถนำเที่ยว หรือเรือนำเที่ยวไม่เพียงพอรองรับนักท่องเที่ยว

“พอนักท่องเที่ยวกลับมา เราก็เริ่มเห็นปัญหาหลายเรื่อง เช่น รถตู้ไม่พอ เรือนำเที่ยวไม่พอ ฯลฯ ทำให้นักลงทุนมองเห็นโอกาสและเข้ามาร่วมลงทุน ทั้งลงทุนใหม่โดยร่วมกับกลุ่มคนไทย และร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจอยู่แล้ว แต่ไม่มีทุนสำหรับการกลับมาทำธุรกิจต่อ โดยพื้นที่ที่เห็นชัดเจนที่สุดตอนนี้คือ ภูเก็ต” แหล่งข่าวกล่าว

เปิดช่อง “นอมินี” ต่างชาติ

แหล่งข่าวกล่าวต่ออีกว่า จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เป็นกังวลว่าการไหลเข้ามาของกลุ่มทุนต่างชาติดังกล่าวอาจเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ของปัญหานอมินี และเอื้อให้กลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาสร้างประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยวของไทยมากขึ้น และปัญหาของทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“การลงทุนของกลุ่มทุนในรอบนี้ส่วนใหญ่ยังมีมูลค่าไม่สูงมาก มีตัวเลขหลักสิบล้านบาท ร้อยล้านบาท จึงไม่ชัดเจนเหมือนกรณีการซื้อขายโรงแรมที่มีมูลค่าหลักพันล้านบาท ทำให้ยังไม่ถูกจับตามองมากนัก”

ลักษณะการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็มีลูกค้าซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวอยู่ในมืออยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่ารูปแบบการทำธุรกิจท่องเที่ยวก็จะกลับเข้าสู่วังวนเดิมที่รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศจเหลืออยู่ในประเทศน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

“อยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และตรวจสอบรูปแบบการเข้ามาลงทุนอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการลงทุนในรูปแบบนอมินี” แหล่าวข่าวกล่าว

ธุรกิจไทยเข้าไม่ถึงแหล่งทุน

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจภาคท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจด้านการขนส่ง อาทิ รถ เรือ เป็นต้น โดยปัจจัยที่ทำให้กลุ่มทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนคือ ความไม่พร้อมของผู้ประกอบการคนไทย ในด้านการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ หรือมากกว่า 50% ยังขาดเงินทุนสำหรับการซ่อมบำรุง การจ้างพนักงาน ฯลฯ

ปัญหาดังกล่าวนี้ สทท.ได้ย้ำมาตลอดว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบนั้น ดีมานด์ไซด์หรือปริมาณนักท่องเที่ยวไม่มีปัญหา เพราะประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอยู่แล้ว แต่ปัญหาใหญ่จะอยู่ในฝั่งของซัพพลาย หรือความไม่พร้อมของผู้ประกอบการธุรกิจในการรองรับนักท่องเที่ยว

“เอกชนได้สะท้อนปัญหาดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา แต่ด้วยข้อจำกัดในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการขาดเงินทุน เพราะธุรกิจรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้ยังไม่สามารถกลับมาเดินต่อได้ในวันนี้” นายชำนาญกล่าว

ต่างชาติเสียบแทนทุนไทย

นายชำนาญกล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่าในระยะแรกของการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประเด็นเรื่องทุนต่างชาติเข้ามาในรูปแบบนอมินี อาจเป็นประเด็นปัญหาเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะประเด็นที่ภาคเอกชนเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเติมทุน เติมความรู้ เติมลูกค้า และเติมนวัตกรรมให้ผู้ประกอบการ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้ เพราะหากยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยจะทำให้เอกชนไทยขาดโอกาส

“เราต้องยอมรับความจริงว่าวันนี้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยในประเทศขาดเงินทุน และเริ่มมีปัญหาในด้านการรองรับนักท่องเที่ยวแล้ว เช่น ที่ภูเก็ต รถขนส่งไม่พอ เรือไม่พอ กรุงเทพฯดีมานด์สูงมาก แต่การรองรับในหลายส่วนก็ไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับที่เชียงใหม่ รถก็ไม่พอ”

นายชำนาญกล่าวว่า เมื่อดีมานด์มาก แต่ซัพพลายไม่พอ ฝั่งผู้ประกอบการก็จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เป็นธรรมดาของหลักดีมานด์-ซัพพลาย ที่สำคัญเมื่อทุนในประเทศไม่พอก็ต้องมีทุนต่างประเทศเข้า ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติอีกเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การที่มีทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนก็เป็นตัวสะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น สถาบันการเงินก็จะพร้อมปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ก็หวังว่าสุดท้ายทุกอย่างจะบาลานซ์ไปเองโดยปริยาย

คลื่นทุนจีนบุกเชียงใหม่

ด้านนายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันกลุ่มทุนจีนยังคงทยอยเข้ามาลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการและเปิดประเทศ ทำให้นักลงทุนจีนเริ่มขยายการลงทุนออกนอกประเทศมากขึ้น ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งเมืองในเป้าหมายของกลุ่มทุนจีน ทั้งนี้ พบว่ามีการลงทุนใน 5 ธุรกิจหลัก ๆ คือ ธุรกิจโรงแรม-ที่พัก, ธุรกิจร้านอาหาร, ธุรกิจทัวร์, ธุรกิจขนส่งหรือโลจิสติกส์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการเข้ามาลงทุนมีวิธีการคือ นักลงทุนจีนจะเดินทางมาพร้อมกับบริษัทกฎหมายที่ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน พูดภาษาไทยได้ พร้อมกับนำสถาบันการเงินจากจีนมาด้วย เพื่อพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ

นายพัลลภกล่าวว่า ข้อมูลจากในพื้นที่ยังพบว่าการลงทุนธุรกิจโรงแรม-ที่พักในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ของนักลงทุนจีนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีการรวมตัวกันของทุนจีน 5-6 คน ที่นำเงินมาลงทุนร่วมกันคนละ 10 ล้านหยวน หรือรวมกัน 50-60 ล้านหยวน (ประมาณ 240-280 ล้านบาท) เพื่อซื้อกิจการโรงแรมย่านถนนท่าแพ รวมทั้งสร้างโรงแรมขนาดเล็กสไตล์บูติค ขนาด 10 ห้อง ทั้งนี้ ย่านที่ทุนจีนปักหมุดลงทุนมากที่สุดคือ ถนนท่าแพ ถนนมูลเมือง และเขตคูเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นย่านที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุด

บ้านหลังที่ 2 ของคนจีน

นอกจากนี้ยังพบว่า เริ่มมีชุมชนจีนเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอสันกำแพง ตรงข้ามสนามไดรฟ์กอล์ฟ เอ็ม สปอร์ต คอมเพล็กซ์ โดยลงทุนทำธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจชิปปิ้ง และธุรกิจโลจิสติกส์ ถือเป็นคอมมิวนิตี้ของคนจีนที่ยึดพื้นที่ย่านนี้ทำธุรกิจ เพื่อรองรับดีมานด์คนจีนจำนวนมากที่เข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรย่านอำเภอสันกำแพง

นายพัลลภกล่าวต่อว่า ด้วยดีมานด์ของนักท่องเที่ยวจีนในเชียงใหม่ที่เริ่มกลับมาคึกคักและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จากจำนวนเที่ยวบินตรงจากเมืองใหญ่ ๆ หลายสายการบินที่เริ่มทยอยเปิดเส้นทางบิน และปัจจุบันเชียงใหม่ไม่ใช่เป็นเมืองเพื่อการท่องเที่ยวของคนจีนอีกต่อไปแล้ว แต่กลายเป็นเมืองเพื่อการพักผ่อน เป็นบ้านหลังที่ 2 ดังนั้นนักลงทุนจีนก็มีแนวโน้มจะเข้ามาลงทุนมากขึ้นในอนาคต โดยมีนักลงทุนจีนลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โครงการหมู่บ้านจัดสรร ใกล้กับโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งย่านอำเภอหางดง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีคนจีนอาศัยอยู่ทั้งหมด

ทุนรัสเซียซื้อโรงแรมภูเก็ต

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการจังหวัดภูเก็ตเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความเคลื่อนไหวของทุนต่างชาติในพื้นที่ ขณะนี้เห็นแต่ทุนรัสเซียรายเล็กที่เข้ามาซื้อกิจการที่พัก โรงแรมขนาดเล็ก วงเงินประมาณ 10-30 ล้านบาท ที่มีการตกลงโอนกันได้ แต่ดีลขนาดใหญ่ยังไม่เห็นภาพชัดเจน ส่วนทุนจีนที่เข้ามาติดต่อเท่าที่ทราบส่วนใหญ่ผ่านตัวแทนนายหน้าเข้ามา แต่ไม่เห็นรูปธรรมที่ตกลงกันได้ชัดเจน

ตลาดเปลี่ยน “ทัวร์ช็อปปิ้ง” ลด

ด้านนายวิชิต ประกอบโกศล อดีตนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยเปลี่ยนไปจากช่วงก่อนวิกฤตโควิดค่อนข้างมาก ส่งผลให้โครงสร้างตลาดท่องเที่ยวเปลี่ยนไปด้วย โดยเฉพาะตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ในอดีตกว่า 90% เดินทางในรูปแบบกรุ๊ปทัวร์ ที่เหลือจะเป็นการเดินทางด้วยตัวเอง หรือ FIT และก่อนเกิดโควิดสัดส่วนของนักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ปรับลดลงมาเหลือประมาณ 60-70% คาดว่าครั้งนี้การกลับมาสัดส่วนกรุ๊ปทัวร์จะเหลือประมาณ 50%

และกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ในอดีตประมาณ 90% เป็นทัวร์กรุ๊ปใหญ่ หรือทัวร์รถบัส ที่เหลืออีก 10% เป็นกรุ๊ปขนาดเล็ก หรือทัวร์รถตู้ 4-5 คน และคาดว่าหลังจากกลับมาครั้งใหม่นี้ สัดส่วนทัวร์รถบัสกับรถตู้จะประมาณ 50 : 50

“เมื่อก่อนทัวร์รถบัสเกือบ 100% จะเป็นทัวร์ที่เข้าร้านช็อปปิ้ง แต่หลังจากนี้คาดว่าทัวร์ช็อปปิ้งอาจลดสัดส่วนลงเหลือประมาณ 50-60% ซึ่งแน่นอนว่าร้านจิวเวลรี่ ร้านขายสินค้าที่ระลึกต่าง ๆ จะมีบทบาทน้อยลงแน่นอน” นายวิชิตกล่าว

“ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ไม่หวนคืน

นายวิชิตกล่าวต่อว่า จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของตลาดนักท่องเที่ยวจีน ทำให้การท่องเที่ยวในรูปแบบ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” (แพ็กเกจทัวร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากร้านช็อปปิ้ง) กลับมาได้ยาก เนื่องจาก 3 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ 1.ต้นทุนการบริหารจัดการท่องเที่ยวสูงขึ้น 2.นักท่องเที่ยวมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น และ 3.รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายทำการจัดระเบียบ มีหลักคิด และกติกา พร้อมทั้งมีการกำหนดอัตราค่าทัวร์ (ค่าโรงแรม, ค่ารถ, ค่าอาหาร) ที่ชัดเจน นอกจากนี้ ต้นทุนการเดินทางที่เพิ่มขึ้นยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวสู่มาตรฐานมากขึ้น

สอดรับกับ นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ที่กล่าวว่า มั่นใจมากว่าการกลับมาของตลาดครั้งใหม่นี้ ทุกส่วนจะมีระบบและกติกาที่ชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันในเบื้องต้นนี้ ราคาแพ็กเกจทัวร์โดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น ทำให้การใช้จ่ายต่อหัวต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีต

“ผมว่าคำว่าทัวร์ศูนย์เหรียญในวันนี้ไม่มีแล้ว ทำไม่ได้หรอก และก็ไม่ใครทำด้วย แต่บางคนก็คิดไปเอง วันนี้ต้นทุนการทำงานทุกส่วน รวมถึงค่าตั๋วเครื่องบินที่ปรับตัวสูงขึ้น เราควรใช้จังหวะในการสร้างมาตรฐานด้านราคา รวมถึงมาตรฐานของสินค้าและบริการ” นายศิษฎิวัชรกล่าว

ประมูลซื้อดาราเทวี เชียงใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดประมูลโรงแรมดาราเทวี จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย ที่ดิน 158 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีส เทอมอลพาวเวอร์ จำกัด (IThermal) เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยมูลค่า 3,594.62 ล้านบาท โดยการประมูลครั้งนี้มีการเคาะราคาสู้กันถึง 69 ครั้ง ทำให้ราคาเพิ่มสูงกว่าการประมูลครั้งก่อนถึง 80% ในระยะเวลา 1 ปี โดยมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจโรงแรมกำลังกลับมาฟื้นตัวหลังผ่านพ้นการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ IThermal เป็นผู้ชนะเปิดประมูลซื้อทรัพย์โรงแรมดาราเทวี มาแล้วเมื่อปลายปี 2564 ในราคารวม 2,012.62 ล้านบาท แต่เนื่องจากไม่นำเงินซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือ 1,902.62 ล้านบาท มาจ่ายได้ จึงถูกริบเงินประกัน 110 ล้านบาท สำหรับ IThermal มี บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) IFEC ถือหุ้น 99.99% ซึ่ง IFEC เป็นอดีตเจ้าของโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่

แหล่งข่าวกล่าวว่า การประมูลโรงแรมดาราเทวีในช่วงเวลาเพียงหนึ่งปี ราคาประมูลขายทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 80% สะท้อนถึงความต้องการในตลาดที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่จับตาว่า IThermal จะสามารถหาเงินมาชำระค่าทรัพย์ได้หรือไม่ รวมถึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีกลุ่มทุนต่างชาติสวมหรือไม่