นอมินี “ทุนจีน-ต่างชาติ” ระบาด ทุบ SME ไทย-รัฐสั่งปูพรมตรวจสอบ

นอมินีทุนจีน
AFP

ชำแหละปมร้อนทุนจีน-ต่างชาติใช้ “นอมินี” คนไทยทำธุรกิจทุกระดับ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว สมาคมร้านอาหารรับปัญหาหนักผู้ประกอบการไทยร้องเรียนจำนวนมาก เผยทุนจีนมาแบบครบวงจร ชี้ปัญหาความอ่อนแอของกฎหมายและการบังคับใช้ สมุยนอมินีต่างชาติยึดกิจการกว่า 50% เอกชนร้องยกเครื่องกฎหมายต่างด้าวเข้มข้น รัฐบาลเกาะติดสั่งบูรณาการ “พาณิชย์-แรงงาน-ดีเอสไอ-ตม.” ลุยตรวจสอบธุรกิจนอมินีจังหวัดท่องเที่ยว กรุงเทพ-เชียงใหม่-ภูเก็ต-พัทยา กรมพัฒน์แจง “คนต่างด้าว” เปิดร้านอาหารต้องขออนุญาต เตือนนอมินีคนไทยเจอคุก 3 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกระแสผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารคนไทยออกมาร้องว่า ปัจจุบันมีคนจีนถือวีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาประกอบธุรกิจร้านอาหารจำนวนมาก เรียกว่าเข้ามาทำธุรกิจแบบไม่ถูกกฎหมาย รวมถึงการใช้นอมินีคนไทยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท แย่งอาชีพและพื้นที่ทำกินของคนไทยในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะในย่านเยาวราชและห้วยขวาง ซึ่งจะพบร้านอาหารที่เป็นของคนจีน และพนักงานชาวจีนเกือบทั้งร้าน เปิดให้บริการจำนวนมาก

ร้านอาหารแห่ร้องสมาคม

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอมรับว่าประเด็นเรื่องผู้ประกอบการจีนที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารของคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก หรือเอสเอ็มอี และที่ผ่านมาทางสมาคมได้รับร้องเรียนจากผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนมากว่ามีทุนจีนเข้ามาเปิดร้านอาหาร รวมถึงใช้แรงงานเสิร์ฟคนจีน และขอให้ทางสมาคมช่วยเหลือในการตรวจสอบ

“ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เรารู้ เราเห็น เราได้ข้อมูลมาตลอด ที่ทุนจีนเข้ามาเปิดธุรกิจร้านอาหารแบบครบวงจร คือใช้ทั้งพนักงานชาวจีน สินค้าวัตถุดิบต่าง ๆ ก็นำเข้าจากจีน มีซูเปอร์มาร์เก็ตของคนจีนเปิดให้บริการ ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าเขาทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งถ้าเขาทำถูกต้อง ทั้งการขออนุญาตเปิดดำเนินการ นำเข้าสินค้า ในฐานะภาคเอกชนอย่างเราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ที่สำคัญ ไม่เพียงแค่ชาวจีนเท่านั้นที่ไปซื้อสินค้า คนไทยจำนวนมากยังนิยมไปซื้อหรือใช้บริการ”

นางฐนิวรรณกล่าวว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องความอ่อนแอของกฎหมายและเจ้าหน้าที่ดูแลกฎหมายของไทยมากกว่า ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าทุนต่างชาติมีความได้เปรียบในด้านเงินทุนที่มากกว่า นอกจากนี้คนจีนยังมีความขยันและอดทนมากกว่าคนไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้

ส่งข้อมูลตรวจสอบแรงงาน

นางฐนิวรรณกล่าวด้วยว่า ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่แข่งขันเสรี ดังนั้นหากผู้ประกอบการเข้ามาแล้วทำถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่สามารถทำอะไรได้ สิ่งที่ทางสมาคมทำได้ในขณะนี้คือ ทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ตรวจสอบการใช้แรงงานของสถานประกอบการที่คาดว่าจะเป็นกลุ่มทุนต่างชาติว่ามีการขออนุญาตใช้แรงงานแบบถูกต้องหรือไม่ แรงงานมีประกันสังคม หรือเสียภาษีถูกต้องหรือไม่เท่านั้น

“ขอย้ำว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากคนไทยที่เอื้อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทั้งนั้น โดยเฉพาะเรื่องของความเต็มใจที่จะเป็นนอมินีให้ต่างชาติ ยอมทำธุรกรรมด้านการเงินแทน รวมถึงยอมเป็นลูกจ้างต่างชาติ เมื่อคนไทยยอมทำแบบนี้จะไปโทษกลุ่มทุนต่างชาติก็ไม่ได้” นางฐนิวรรณกล่าว

ธุรกิจขยับรับ นทท.จีน

ด้านนายสุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหากลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก ฯลฯ มีมานานนับ 10 ปีแล้ว ประเด็นคือในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเจอปัญหาโควิด ทำให้หยุดดำเนินกิจการไปชั่วคราว ประเด็นที่เกิดขึ้นในวันนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากที่หลายธุุรกิจที่มีลูกค้าเป้าหมายเป็นคนจีนเริ่มขยับตัวกลับมาทำธุรกิจอีกครั้งหลังจากจีนประกาศเปิดประเทศ

“กว่า 1 ปีที่ประเทศไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักท่องเที่ยวหลักที่เข้ามาส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย และประเทศในแถบยุโรป แต่จำนวนก็ยังไม่มากนัก แม้กระทั่งรัสเซีย ซึ่งเคยเป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทยก็เพิ่งทยอยเข้ามาช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา หลังจากมีเครื่องบินชาร์เตอร์ไฟลต์เข้ามาที่กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต “

แนะรื้อ กม.คุมนอมินีเข้มข้น

นายสุรวัชกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าความหวังของภาคการท่องเที่ยวไทยอยู่ที่ตลาดจีน เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่ สัดส่วนถึงราว 30% เมื่อจีนประกาศเปิดประเทศทำให้ทุกภาคส่วนปรับตัวเลขคาดการณ์กันใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวจีนเริ่มมีความหวัง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจกลับมาเปิดเพื่อรับกลุ่มคนจีนกันอีกครั้ง

สำหรับประเด็นปัญหาเรื่องกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาแย่งการทำมาหากินของคนไทยนั้น ส่วนตัวมองว่ามีมานานแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก ทั้งกรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย พัทยา ซึ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้คือปัญหาเรื่องนอมินีทั้งสิ้น ดังนั้นหากต้องการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องปรับกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนอมินีอย่างเข้มข้นและจริงจัง พร้อมมีบทลงโทษสำหรับคนที่เอื้อประโยชน์ต่างชาติที่รุนแรงด้วย

สมุยฝรั่งแอบทำพูลวิลล่าหรู

แหล่งข่าวจากเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันกิจการบนเกาะสมุยทั้งที่พัก ร้านอาหาร บาร์เบียร์ ได้กลายเป็นกิจการของชาวต่างชาติ เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ และรัสเซียไปแล้ว ประมาณ 50% เหลืออีก 50% เป็นของคนไทย ซึ่งแบ่งเป็นทุนจากส่วนกลาง และทุนท้องถิ่นเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ วิธีการทำธุรกิจของคนต่างชาติบนเกาะสมุยจะใช้ลักษณะนอมินี โดยเฉพาะการทำธุรกิจที่พัก ต่างชาติจะไม่ได้ลงทุนสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ แต่จะเข้ามาลักษณะทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยซื้อที่ดินหรือเช่าที่ดินระยะยาว 30 ปี ขนาด 1-2 ไร่ แล้วจ้างทนายความทำเรื่องขออนุญาตสร้างเป็นบ้านที่อยู่อาศัย แล้วนำมาปล่อยเช่าเป็น “พูลวิลล่าหรู” ขนาด 4 ห้องนอน 8 ห้องนอน 10 ห้องนอน มีทั้งแบบปล่อยเช่ารายวัน รายเดือน รายปี

ยกตัวอย่างบางแห่งที่ทำเป็นพูลวิลล่าหรู ราคาคืนละ 50,000-200,000 บาท จองผ่านระบบออนไลน์ในต่างประเทศ ซึ่งแจ้งเป็นบ้านพักอาศัย ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนการทำธุรกิจโรงแรม ทำให้ท้องถิ่นไม่ได้ประโยชน์อะไร

“อย่างหาดยอดนิยม เช่น หาดเฉวง หาดบ่อผุด หาดแม่น้ำ เหลือเป็นธุรกิจของคนท้องถิ่นไม่ถึง 10% โดยสิ่งที่คนต่างชาติทำ ข้าราชการในท้องถิ่นที่อนุญาตให้ก่อสร้างก็ทราบกันดี เห็นกันอยู่ เหมือนภาครัฐกำลังขายชาติ ฝรั่งบอก I have money. I can buy anything. บนเกาะสมุยได้ เหมือนกับที่ทุนจีนพูด รายได้ที่เข้ากระเป๋าอยู่ในต่างประเทศทั้งหมด ท้องถิ่นไม่ได้ภาษีบำรุงท้องที่เลย รัฐบาลทราบเรื่องเหล่านี้ดี บอกจะต้อนทุนต่างชาติเหล่านี้เข้าระบบ แต่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ต่างชาติยังมาเสวยสุขในไทยกันสบาย”

รัสเซียลงทุนทำกิจการบ้านเช่า

แหล่งข่าวจากธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าก่อนหน้าเกิดโควิด ทุนจีนและทุนจากชาติต่าง ๆ เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในภูเก็ตกันพอสมควร โดยเฉพาะทุนจีนทำทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจเรือท่องเที่ยวในภูเก็ตอยู่แล้ว อย่างที่เคยมีข่าวทัวร์ศูนย์เหรียญในอดีต แต่ปัจจุบันทุนจีนจะมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ยังไม่สามารถสรุปได้ ที่เห็นความเคลื่อนไหวตอนนี้เป็นพวกคนรัสเซียที่เข้ามาซื้อกิจการบ้านพักอาศัย คอนโดมิเนียมแล้วไปปล่อยเช่าให้กับคนรัสเซียด้วยกัน ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่ภูเก็ต

ยุโรปดีลซื้อกิจการพัทยา

นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชลบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาทำธุรกิจที่พัก ร้านอาหารในพัทยา ยังไม่เห็นภาพชัดเหมือนกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เห็นได้จากโรงแรมที่รับกรุ๊ปทัวร์จีน 100% ยังกลับมาเปิดบริการไม่มาก เพราะกรุ๊ปทัวร์จีนยังไม่บินกลับมา ทุนจีนที่เข้ามาทำธุรกิจตอนนี้คงยังไม่คุ้มที่จะเปิดบริการ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิดไม่ดีนัก ทำให้ทุนจีนที่เคยเข้ามาลงทุนอาจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ภาพที่เห็นในช่วง 3 ปีที่เกิดโควิด มีกองทุนต่างชาติจากพวกยุโรปตะวันตกเข้ามาดีลซื้อกิจการมากกว่า อย่างไรก็ตาม พัทยาปัจจุบันธุรกิจยังเป็นของคนไทย ประมาณ 70-80% ที่เหลือเป็นของชาติต่าง ๆ ประมาณ 20-30%

เตือน “นอมินี” เจอคุก 3 ปี

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยในประเด็นชาวจีนถือวีซ่านักท่องเที่ยวทำธุรกิจในไทยหลากหลายประเภทในย่านเยาวราช เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าขาย ฯลฯ ว่า “คนต่างด้าว” จะประกอบธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อน จึงจะประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจในบัญชีสาม (19) ท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และกฎหมายหลายฉบับ กรมจะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป

พร้อมทั้งเตือนคนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว หรือร่วมเอาชื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ลงทุนจริง หรือให้การสนับสนุนร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว โดยแสดงว่าเป็นธุรกิจของคนไทยเพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน

รัฐบาลสั่งลุยไล่ล่านอมินี

ขณะที่นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาเน้นย้ำว่า รัฐบาลจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยจะเป็นการบูรณาการทำงานจากหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว สันติบาล และตำรวจในพื้นที่ (บช.น.) เพื่อดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป

คนต่างด้าวเมื่อเข้ามาในประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 หากฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญาและมาตรการห้ามเข้าประเทศต่อไป อีกทั้งนายจ้างหรือผู้รับคนต่างด้าวเข้าพักจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกัน

ปูพรมตรวจจังหวัดท่องเที่ยว

ขณะที่นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมให้ความสำคัญการติดตามและตรวจสอบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีคนไทยยอมรับผลประโยชน์ หรือสมยอม หรือที่ปรึกษากฎหมายแนะนำให้หลีกเลี่ยงกฎหมายเพื่อให้คนต่างด้าวได้ประกอบธุรกิจในไทย เรื่องนี้กรมไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการวางแผนและลงพื้นที่ตรวจสอบนิติบุคคลทุกปี

โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ร้านอาหาร สปา บริการรถทัวร์ โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น โดยแต่ละปีกรมมีการร้องทุกข์กล่าวโทษประมาณ 100 รายต่อปี และเมื่อประเทศไทยมีการเปิดประเทศ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลาย เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น รวมไปถึงนักท่องเที่ยวจีน ดังนั้นเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ กรมจะให้ความเข้มงวดในการตรวจสอบธุรกิจนอมินีมากขึ้น

นายจิตรกรกล่าวว่า ขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจฯได้ร่วมกับกรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบธุรกิจนิติบุคคล ซึ่งให้ความสำคัญจังหวัดท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต รวมไปถึงพัทยา พร้อมทั้งคัดกรองธุรกิจที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงด้วย หากพบว่ามีพฤติกรรมที่น่าสงสัยก็จะเข้าไปตรวจสอบเชิงลึก หากพบกระทำผิดก็จะดำเนินคดีทันที โดยตั้งแต่ปี 2558-2565 กรมได้มีการดำเนินคดีไปทั้งสิ้น 66 ราย โดยการกระทำผิดคือ ถือหุ้นแทน ผลประโยชน์ไม่ได้ให้กับประเทศ ส่งผลเสียหายให้กับธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยเสียโอกาส เป็นต้น

ช่องโหว่ตรวจสอบบุคคลไม่ได้

นายจิตรกรกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการตรวจสอบนิติบุคคล กรมสามารถดำเนินการได้ แต่หากเป็นกรณีการตรวจสอบการประกอบกิจการของ “บุคคลธรรมดา” เป็นสิ่งที่ทำยาก การจะตรวจสอบต้องมีการแจ้งเบาะแส ว่าร้านค้า ร้านอาหารนั้นมีการเปิดโดยใช้คนไทย แต่แท้จริงแล้วเป็นของต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการ ซึ่งกรณีนี้กรมจะร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดีเอสไอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบเชิงลึกเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง หากพบว่ากระทำผิดจริงก็จะดำเนินการทันที

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัญหามันมีช่องโหว่ โดยคนไทยยอมรับผลประโยชน์ โดยการให้ใช้ชื่อในการประกอบกิจการ ซึ่งก็สร้างความเสียหายให้กับประเทศ ซึ่งกรมพร้อมติดตามดูแลเพื่อประโยชน์ของประเทศและผู้ประกอบการไทย