“ห้วยขวาง” ไชน่าทาวน์ 2 ทุนจีนยึดธุรกิจ-เปิดร้านอาหารพรึ่บ

ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง พื้นที่ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “มณฑลห้วยขวาง” ไชน่าทาวน์แห่งที่ 2 ของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีร้านขายสินค้า อาหาร และธุรกิจบริการด้านต่าง ๆ ที่เป็นของทุนจีนตลอดสองฝั่งข้างทาง

นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง (ส.ก.) เผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คนจีนเริ่มทำธุรกิจในย่านนี้มานานเป็น 10 ปีแล้ว กิจการของชาวจีนส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร ร้านนวด คาร์แคร์ ตกแต่งรถยนต์ ไปจนถึงธุรกิจรับฝากขายและเช่าอสังหาริมทรัพย์ สมัยเฟื่องฟูก่อนการระบาดของโควิด-19 ต้องมีตู้สำหรับแลกเปลี่ยนเงินของคนจีนโดยเฉพาะ

ชาวจีนที่ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญเป็นคนจีนที่พูดไทยไม่ได้ “เป็นจีนแผ่นดินใหญ่” ทั้งมาจากแผ่นดินใหญ่โดยตรงและที่อยู่ประเทศต่าง ๆ ก่อนเข้ามาไทย ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา แคนาดา หรือ ไต้หวัน แต่ที่ผ่านมาจีนปิดประเทศ รุ่นใหม่ที่เข้ามาประกอบธุรกิจจึงเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาจากประเทศที่สาม ไม่เหมือนที่เยาวราชซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน

นักลงทุนที่เข้ามาในพื้นที่ล้วนเคยเป็นนักท่องเที่ยวมาก่อน หลังมาเยือนสัก 2-3 ครั้ง ก็มองเห็นโอกาสทางธุรกิจและตัดสินใจลงทุน จากนั้นจึงบอกต่อ ๆ กันในหมู่ชาวจีน ทำให้ร้านรวงและบริการต่าง ๆ ผุดขึ้นทั่วห้วยขวาง รายใหญ่ในย่านนี้ลงทุนประมาณ 15-20 ล้านบาท แต่ก็ถือเป็นระดับ SMEs ของทุนจีน โดยมีการร่วมทุนกันหลายคน มือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์จะเริ่มด้วยการเป็นหุ้นส่วนของผู้ที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ชาวจีนหนึ่งคนเป็นเจ้าของหลายกิจการ

ห้วยขวาง

ใช้นอมินี เปิดก่อน ค่อยขออนุญาต

ชาวจีนที่เป็นนักลงทุนแม้จะเข้าไทยอย่างถูกกฎหมาย แต่การทำธุรกิจจะมีเรื่อง “นอมินี” ไม่ว่าจะเป็นภรรยา เพื่อน หรือหุ้นส่วนคนไทย เพื่อความสะดวกสำหรับใช้ชื่อในการเปิด ขออนุญาต และจดบริษัท

ชาวจีนไม่สามารถขออนุญาตเปิดกิจการโดยใช้ชื่อตนเองได้ ทำให้เลือกที่จะเปิดไปก่อนโดยไม่ได้รับอนุญาต ถัดมาเมื่อเริ่มขายดี เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตถึงค่อยลงไปตรวจสอบว่ามีใบอนุญาตหรือไม่ ซึ่งทุนจีนจะมีคนกลางที่ไว้ใจในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับรัฐ ไม่ว่าจะเป็น การติดต่อราชการ เวิร์กเพอร์มิต ใบต่างด้าว ใบทะเบียนการค้า และใบอนามัยสิ่งแวดล้อม เมื่อตรวจพบว่าไม่มีใบอนุญาต ทางเขตจะแนะนำขั้นตอนรวมถึงกรอบระยะเวลาให้เป็นไปตามระเบียบของกรุงเทพมหานคร ส่วนคนจีนจะทำทันหรือไม่ขึ้นอยู่กับการหาคนไทยที่รับดำเนินการ

หากกล่าวว่าคนจีนเปิดไปเพราะความไม่รู้ คงมิใช่ ส.ก.เผยว่า เขารู้อยู่แล้ว การเข้ามาทำธุรกิจลักษณะนี้ไม่ได้ถูกบังคับ ต้องทำสัญญาอะไรต่าง ๆ เช่น เช่าตึก ตั้งแต่ตอนแรก เขารู้ว่าต้องมีกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งมีทนายคอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอด สุดท้ายก็ไปจบที่ทำใบประกอบการอนุญาตได้โดยใช้ชื่อร้านเท่านั้น ซึ่งมีชื่อหุ้นส่วนที่เป็นคนไทยอยู่

จีนแข่งกันเอง เจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นไทย 70%

ส.ก.กล่าวต่อว่า กลุ่มทุนจีนที่เข้ามาเปิดกิจการ โดยเฉพาะร้านอาหาร มีลูกค้ากว่า 70% เป็นคนไทย นักลงทุนจีนต้องการเจาะไปที่กลุ่มลูกค้าชาวไทยมากกว่ารองรับนักท่องเที่ยวจากจีนที่เข้ามา มีการศึกษาว่าคนไทยชอบอาหารแบบใด พยายามทำรสชาติให้เหมาะสม และหาเมนูที่ถูกปาก เท่านั้นไม่พอมีการโฆษณาทางโซเชียลมีเดียด้วยการจ้างยูทูบเบอร์มารีวิว ทำให้กลุ่มวัยรุ่นแห่กันมากินตามร้านดัง ๆ โดยมีจุดขายว่าได้มากินของต้นตำรับจากจีน

ในเรื่องของการแย่งพื้นที่ทำมาหากินธุรกิจคนไทย ในพื้นที่แทบไม่มี เนื่องจากเป็นการค้าขายคนละประเภทกัน ทุนจีนขายอาหารจีนอยู่แล้ว คนที่จะมากินจึงคิดและตั้งใจไว้แล้ว ทำให้ไม่ค่อยมีการแย่งลูกค้ากัน ในทางกลับกันคนจีนจะแข่งขันกันเองเสียมากกว่า เพราะทำธุรกิจประเภทเดียวกัน ผู้บริโภคกลุ่มเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกร้านไหนเท่านั้น

เดิมทีย่านนี้เป็นอาคารพาณิชย์ คนไทยรุ่นก่อน ๆ จะประกอบธุรกิจการค้า ขายข้าวสาร โจ๊ก อาหารตามสั่ง หลายห้องก็เป็นตึกร้างเนื่องจากไม่มีที่จอดรถทำให้ขายไม่ดี แต่พอคนจีนเข้ามาก็เริ่มเช่ากันเยอะในราคาที่สูง เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายกว่า ทั้งคนไทยเองและนักท่องเที่ยวที่พักตามโรงแรมต่าง ๆ ซึ่งเดินเท้าเข้ามาทั้งกลางวันกลางคืน โดยไม่จำเป็นต้องใช้รถและที่จอด

“มณฑลห้วยขวาง” ชื่อนี้สะท้อนอะไร

หากกล่าวว่าห้วยขวางเป็นจังหวัดหนึ่งของจีนคงไม่ผิดนัก เนื่องจากจำนวนคนจีนที่อาศัยอยู่ เดินไปทางไหนในย่านนี้ก็เจอแต่คนจีน คำเรียกไชน่าทาวน์จึงอาจจะเก่าไป และเปลี่ยนให้เป็น มณฑลห้วยขวาง เสียเลย

ชาวจีนส่งเงินกลับไปประเทศแม่ได้มากพอสมควร อีกทั้งข้าวของเครื่องใช้ในร้านก็เป็นของจีนแทบทั้งสิ้น มีเพียงวัตถุดิบบางชนิดที่ใช้ของไทย เงินจึงหมุนเวียนอยู่กับพวกเขา ไทยเป็นบ้านหลังที่ 2 ของชาวจีนในฐานะที่เก็บเงิน และเปลี่ยนแปลงเป็นทรัพย์สิน ทั้งบ้านและรถยนต์ เนื่องจากประเทศจีนเป็นคอมมิวนิสต์ มีการตรวจสอบที่มาทางการเงินเข้มงวด เขาจึงไม่ต้องการเอารายได้ไปเสี่ยงกับประเทศแม่

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวจีนเลือกพื้นที่ห้วยขวางเป็นแหล่งทำธุรกิจ เนื่องจากใกล้กับสถานทูตจีน ชาวจีนมองว่ามีความปลอดภัยและติดต่อเรื่องต่าง ๆ ได้สะดวก นอกจากนี้ ห้วยขวางเป็นทำเลที่อยู่อาศัย ไม่ใช่ย่านธุรกิจ ห้างร้านจึงยังไม่มีในตอนแรก กลายเป็นโอกาสที่สำคัญให้ทุนจีนได้เติบโต โดยไม่ต้องไปต่อสู้กับแหล่งที่มีธุรกิจอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้เชี่ยวชาญเหมือนผู้ที่อยู่มาก่อน

ห้วยขวาง

หลายคนเกิดคำถามว่า ทำไมถึงไม่เป็นเยาวราช คำตอบคือ ที่นั่นเหลือโอกาสน้อยมากแล้ว แน่นขนัดไปทั้งพื้นที่ เอาชนะคนเก่าได้ยาก ดังนั้น การเปิดตลาดใหม่จึงเป็นเรื่องที่ควรทำมากกว่า

นอกจากนี้ ห้วยขวางเมื่อ 10 กว่าปีก่อนยังไม่ใช่ย่านใจกลางเมือง ค่าใช้จ่ายในส่วนค่าเช่าจึงถูกสำหรับชาวจีน อีกทั้งยังเป็นที่รับรู้กันเมื่อกล่าวว่า “มาแถวสถานทูตจีน” ผู้คนจากแดนมังกรจะเข้าใจตรงกันทันที ยิ่งในปัจจุบันที่การคมนาคมสะดวกมากขึ้นด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน ทำให้ทำเลนี้เหมาะสมอย่างไม่ต้องสงสัย

จีนเปิดประเทศหลังโควิด และโอกาสทางเศรษฐกิจของเขตห้วยขวาง

หลังจากที่สถานการณ์โควิดเบาบางลง สภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ก็เริ่มกลับมาเป็นปกติ จำนวนคนจีนกลับเข้ามามากขึ้น ร้านอาหารที่เคยเงียบหายไปก็เริ่มกลับมาเปิด แต่ก็ยังไม่เยอะเท่ายุคก่อนโควิดการระบาดที่จะมีรถบัสพาทัวร์จีนมาลงวันละหลายคัน

การออกนอกประเทศมาค้าขายเป็นอะไรที่คนจีนถนัดและต้องการ ถ้ามองในเรื่องเงินรายได้ จุดนี้ถือเป็นโอกาสของประเทศและเขตห้วยขวางเช่นกัน เนื่องจากเพราะชาวจีนมีการจับจ่ายใช้สอยและเช่าอาคารต่าง ๆ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับคนไทยได้

สุดท้ายสำนักงานเขต รวมถึงกรุงเทพมหานครก็สามารถจัดเก็บรายได้ จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ เงินก็จะเข้ารัฐ ถือว่าเป็นสิ่งดี เพียงแต่ต้องควบคุมให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งการใช้ชีวิตและการประกอบธุรกิจ เพราะมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ทั้งปัญหาการจราจร ประชากรแออัดในพื้นที่ การจัดการขยะ สิ่งแวดล้อม การกระทำผิดกฎหมาย ดังนั้น ต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการดูแล

โดยทำให้ถูกกฎหมาย และเปลี่ยนเป็นรายได้เข้าประเทศแทน