เปิดเบื้องลึก “ซามาเนีย” ทุนค้าปลีกจีนถล่มไทย ใครได้-ใครเสียประโยชน์

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นทันที จากกรณีทุนจีนเข้ามาเปิด “โครงการซามาเนีย พลาซ่า” ศูนย์ค้าปลีกค้าส่งและกระจายสินค้าราคาถูก ที่ถนนบางนา-ตราด กม.26 บนพื้นที่ 200 ไร่ โดยเริ่มเปิดตัวเมื่อปลายปี 2564 เพื่อจำหน่ายสินค้านำเข้าจากจีน ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของใช้ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน หลังผู้นำเข้าสินค้าจากจีนได้ยื่นขอให้มีการตรวจสอบและติดตามการดำเนินธุรกิจของกลุ่มซามาเนีย เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับธุรกิจและเอกชนไทย

โดยเบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าธุรกิจในเครือข่ายซามาเนีย มีการจดทะเบียนนิติบุคคล 3 บริษัท คือ ซามาเนีย บางนา 02 จำกัด, ซามาเนีย บางนา จำกัด และซามาเนีย โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

รวมถึงความเคลื่อนไหวของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เข้าตรวจสอบร้านจำหน่ายอาหารนำเข้าจากจีนในเขตกรุงเทพฯหลายแห่ง

และพบว่ามีอาหารและเครื่องดื่มจำนวนหลายรายการแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขสารบบอาหาร และได้ยึดอายัดสินค้าดังกล่าวมากกว่า 120 รายการ จำนวนรวม 3,700 ชิ้น พร้อมส่งของกลางให้พนักงานสอบสวน บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ อย.ยังได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ออกตรวจสอบร้านค้าในพื้นที่เพื่อขยายผลด้วย

“ซามาเนีย” นิติบุคคลไทย

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สำหรับการดูแลธุรกิจสาขาค้าปลีกจากต่างชาตินั้น จะเป็นไปตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ตามบัญชีแนบท้าย 3 หมายถึงธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันกับคนต่างด้าว จึงกำหนดว่าให้คนต่างด้าวที่จะประกอบธุรกิจตามบัญชีนี้ จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งกำหนดไว้ 21 สาขา

โดยบัญชีแนบท้ายสาม (14) กำหนดว่า การค้าปลีกทุกประเภทที่มีทุนขั้นต่ำ รวมทั้งสิ้นน้อยกว่า 100 ล้านบาท หรือมีทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านค้าน้อยกว่า 20 ล้านบาท และบัญชีแนบท้ายสาม (15) กำหนดว่าค้าส่งสินค้าทุกประเภทที่มีทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านน้อยกว่า 100 ล้านบาท จะต้องยื่นขออนุญาตต่อคณะกรรมการ

อย่างไรก็ตาม คนต่างด้าวสามารถยื่นขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้ ในกรณีที่ประกอบธุรกิจที่เป็นธุรกิจตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัติฯ ตามที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน/ได้รับอนุญาตจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย/กฎหมายอื่น หรือในกรณีที่ประกอบธุรกิจตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติโดยสนธิสัญญาที่ไทยเป็นภาคีหรือมีความผูกดันตามพันธกรณี

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบสถิติธุรกิจต่างด้าว สัญชาติจีน ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในประเทศไทย ย้อนหลังไปในช่วง 3 ปี (2563-2565) พบว่ามีเพียง 4 บริษัท รวมทุนจดทะเบียน 25.43 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2565 จำนวน 2 ราย มีทุนจดทะเบียน 16.23 ล้านบาท ส่วนปี 2564 จำนวน 2 ราย ทุนจดทะเบียน 9.2 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 ไม่มีการยื่นขออนุญาต

รายงานข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า สำหรับกรณีของซามาเนียนั้นไม่ได้มีการยื่นคำร้องมาที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่ธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย จึงไม่เข้าข่ายที่ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพราะสถานะจะเป็นเหมือนธุรกิจไทยทั้งหมด หากพิจารณาโครงสร้างผู้ถือหุ้นจะพบว่าสัดส่วนกว่า 90% เป็นสัญชาติไทย แม้ว่าจะมีบุคคลที่เป็นชาวจีน แต่ก็มีการถือบัตรประชาชนไทย เป็นต่างชาติคือฮ่องกง 1%

สินค้าอาหารจีนถล่มตลาด

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกตั้งข้อสังเกตว่า การร้องให้มีการตรวจสอบดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากการแข่งขันทางธุรกิจของเอกชนไทยที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าจากจีน และนักธุรกิจชาวจีนในไทยมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากนักธุรกิจจีนสามารถจัดหาสินค้าราคาถูกจากจีนมาขายได้มากกว่า

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า การทะลักเข้ามาของสินค้าอาหารจากจีนถือว่ามีเพิ่มขึ้นมากในช่วงหลาย ๆ ปี สะท้อนจากสินค้าที่วางจำหน่ายในห้างค้าปลีก สินค้าจีนมีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนที่ต่ำกว่า และเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่จะเข้าไปตรวจสอบและกำกับดูแลอาหารสำเร็จรูปดังกล่าวว่ามีการยื่นขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ ผลิตจากโรงงานว่าผ่านมาตรฐานหรือไม่ เป็นต้น

แต่ด้วยจำนวนเคสที่เพิ่มขึ้นและบุคลากรมีจำกัด ที่ผ่านมา อย.ร่วมกับ บก.ปคบ. ในการดำเนินการตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหาร และเครื่องสำอาง โดยขั้นตอน เจ้าหน้าที่ อย.ได้ลงพื้นที่ตรวจสถานที่จำหน่ายอาหารตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มีการนำหมายค้นเข้าตรวจสอบบริษัท ยึดของกลางและเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัย หากผลการตรวจสอบพบการกระทำที่ผิดกฎหมาย พร้อมแจ้งดำเนินคดี

ซึ่งผู้กระทำผิดจะมีโทษดังนี้ 1.จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีฉลากสินค้าภาษาไทย ไม่มีเลขสารบบอาหาร ขณะที่ในมาตรา 6 (10) ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ระบุว่า “…ผู้ใดผลิตเพื่อจำหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายอาหารไม่มีฉลากภาษาไทย…” หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษตามมาตรา 51 ปรับไม่เกิน 30,000 บาท 2.จำหน่ายเครื่องสำอางไม่มีฉลากภาษาไทย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากนี้ไปต้องติดตามภาครัฐไทยจะมีการวางแนวทางอย่างไร เพื่อสร้างสมดุลด้านการค้าและการลงทุน อย่างน้อยที่สุดไทยยังต้องการเม็ดเงินลงทุนจากจีนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อีกด้านหนึ่งผู้ผลิตไทยต้องอยู่ได้ ประชาชนไทยมีทางเลือกที่หลากหลายและสินค้ามีคุณภาพ