เผาไร่อ้อยกันหนักมาก โคราชแชมป์ วิกฤตฝุ่น PM 2.5

เลย เผาอ้อย

เปิดรายชื่อ 5 จังหวัดที่มีการเผาอ้อยมากที่สุด

วันที่ 11 มีนาคม 2566 ปัญหาฝุ่น PM 2.5 กำลังเป็นปัญหาที่คนไทยทั่วประเทศกำลังประสบรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการทำการเกษตรด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง จากความเชื่อที่ผิดว่า “เผาอ้อย” แล้วทำให้มีความหวานมากขึ้น ทำให้ชาวไร่อ้อยนิยมเผาอ้อยในช่วงเก็บเกี่ยว ประกอบกับต้นทุนค่าแรงในการตัดอ้อยมีราคาสูงขึ้นทุกปี ๆ ทำให้ปัญหาการลักลอบเผาอ้อยยังรุนแรงขึ้น

ข้อมูลจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตอ้อย ปี 2565/2566 เข้าหีบรวมทั้งสิ้น 105 ล้านตัน หรือสูงสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศเตรียมพร้อมเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบจากชาวไร่อ้อยมาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2565 ปริมาณอ้อยมากขึ้นส่งผลให้สัดส่วนการเผาอ้อยก็ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นเช่นกัน

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูล จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565-2 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้วกว่า 52 ล้านตัน และในจำนวนนี้เป็นอ้อยที่ถูกลักลอบเผากว่า 15 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 29.93%

เมื่อตรวจสอบในรายละเอียดจะพบว่ามีจังหวัด 5 จังหวัดที่มีปริมาณการเผาอ้อยสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 2.03 ล้านตัน อุดรธานี 1.25 ล้านตัน กาฬสินธุ์ 1.21 ล้านตัน เพชรบูรณ์ 1.09 ล้านตัน และสุพรรณบุรี 1.03 ล้านตัน

ในขณะที่มี 5 กลุ่มบริษัทที่รับอ้อยเผามากสุด ได้แก่ กลุ่มบริษัทไทยรุ่งเรือง (10 โรง) 3.06 ล้านตัน กลุ่มบริษัทมิตรผล (7 โรง) 2.87 ล้านตัน กลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่น (5 โรง) 1.57 ล้านตัน กลุ่มบริษัทวังขนาย (4 โรง) 1.33 ล้านตัน และกลุ่มบริษัทเกษตรไทย (3 โรง) 0.90 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกเปิดเผยเมื่อวานนี้ ( 10 มี.ค. 2565 ) ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั่วทั้งประเทศ โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง


ภายใต้ 3 มาตรการสำคัญ คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ เพื่อให้การแก้ไขปัญฝุ่นละอองตามบทบาทของแต่ละหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลเป็นรูปธรรมตามแผนที่วางไว้ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบและความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทั้งนี้ ภาครัฐมองว่าปัญหาฝุ่นจะคลี่คลายลงเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า