น้ำตาลขึ้นราคา อุ้มชาวไร่อ้อย กระทบเครื่องดื่ม-นม-เบเกอรี่

ซูเปอร์มาร์เก็ต เครื่องดื่ม

สินค้าจ่อขึ้นราคาอีกระลอก หลังปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 1.75 บาท/กก. มีผล 20 ม.ค.66 ดันราคาน้ำตาลทรายขาวธรรมดาขึ้นเป็น 19 บาทต่อกก. น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เป็น 20 บาทต่อกก. ตามข้อเสนอของชาวไร่เพื่ออุ้มราคาอ้อยขั้นต้นปี 65/66 ด้านกรมการค้าภายในบอก น้ำตาลทรายไม่ใช่สินค้าควบคุม ราคาขายปลีกเป็นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สอน.

หลังจาก โรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มีการหารือกันเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 และมีข้อสรุปให้ปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย ณ หน้าโรงงานอีก 1.75 บาท/กก. ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายขาวธรรมดาหน้าโรงงาน จากเดิมอยู่ที่ 17.25 บาท/กก. จะต้องถูกปรับขึ้นมาเป็น 19 บาท/กก. และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จาก 18.25 บาท/กก. ปรับขึ้นมาเป็น 20 บาท/กก. โดยมีผลในวันที่ 20 ม.ค. 2566 เพื่อราคาน้ำตาลดังกล่าวจะถูกนำมาใช้คำนวณเป็นราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2565/2566

โดยการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายครั้งนี้เป็นไปตามข้อเสนอของฝ่ายชาวไร่อ้อยที่แจ้งว่า ต้นทุนการปลูกอ้อยสูงขึ้นมากจากทั้งค่าปุ๋ย ค่าแรง และค่าน้ำมัน ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกที่จะนำมาคำนวณยังทรงตัวในระดับเดิม คือ เฉลี่ย 19 เซนต์/ปอนด์ มีผลทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นไม่สูงมากนัก ประกอบกับที่ผ่านมาราคาขายปลีกที่แท้จริงได้ปรับตัวสูงไปมากแล้ว ทำให้ชาวไร่อ้อยเสียเปรียบในจุดนี้ จึงเสนอให้นำราคาจริงมาเฉลี่ยเพื่อปรับราคาน้ำตาลหน้าโรงงานให้สะท้อนข้อเท็จจริงตามระบบ Cost Plus

อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2565/2566 นั้น ทาง กอน.จะต้องหารือว่า จะนำผลของราคาน้ำตาลหน้าโรงงานที่ปรับขึ้นมาคำนวณเป็นราคาอ้อยขั้นต้น หรือจะเป็นราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของปี 2565/2566

ล่าสุด เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ลงนามประกาศปรับราคาหน้าโรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 (1) ของประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เรื่องการจัดทำงบประมาณรายได้ การกำหนดและการชำระค่าอ้อยและค่าผลผลิตน้ำตาลทรายและอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่และโรงงาน พ.ศ. 2562

จึงประกาศราคาน้ำตาลภายในราชอาณาจักร ประจำฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2565/2566

สอน.ชี้ขาด ขึ้นราคา

ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวถึง แนวทางการดูแลราคาขายปลีกน้ำตาลทรายภายในประเทศถือเป็นสินค้าที่อยู่ในกำกับดูแลของ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย โดยในส่วนราคาจำหน่ายปลีกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทาง สอน. จะต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไปว่า ราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลทรายในประเทศจะปรับขึ้นเป็นเท่าไหร่ เนื่องจากปัจจุบันสินค้าน้ำตาลทรายไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็น “สินค้าควบคุม” ที่มีเพดานราคาจำหน่าย

“กรมการค้าภายในในฐานะหน่วยงานที่ดูแลค่าครองชีพประชาชนได้ให้ความเห็นไปแล้วว่า การปรับราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลทรายจะกระทบกับผู้บริโภคโดยตรง ดังนั้นควรปรับขึ้นให้มีผลกระทบน้อยที่สุด แต่ไม่ได้ให้ตัวเลขว่า น้ำตาลทรายจะต้องปรับขึ้นไปเท่าไร เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเราที่เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรง แต่ก็ถือว่าสินค้านี้เกี่ยวข้องเพราะเราดูแลค่าครองชีพของผู้บริโภค”

“ส่วนกรณีที่ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วไปแจ้งว่า จะขึ้นราคาน้ำตาลทรายอีก 1.50 บาท/กิโลกรัม ในกลางเดือนหน้านั้น คงเป็นราคาที่คิดคำนวณกันเอง ไม่ใช่ราคาที่กรมการค้าภายในอนุญาต เพราะน้ำตาลเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีการกำหนดราคาเพดานแล้ว”

อย่างไรก็ตาม การขึ้นราคาขายปลีกน้ำตาลทรายไม่จำเป็นที่จะต้องขอความเห็นชอบจาก คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพียงแต่ขอความร่วมมือ ให้แจ้ง กกร. ซึ่งเป็นไปตามมาตรการบริหารเท่านั้น เพื่อที่จะให้กรมการค้าภายในพิจารณาได้ว่ามีความเหมาะสมหรือสอดคล้องกับต้นทุนหรือไม่อย่างไร

“ถ้าความเห็นของสองหน่วยงานไม่ตรงกัน ใครจะเป็นคนเคาะนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องพูดคุยหารือ คงไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราต้องขอได้ว่าหน่วยงานนี้จะเอาเท่านี้ โดยสรุปต้องเป็นข้อสรุปร่วมกัน ไม่ใช่ว่าสองหน่วยงานขัดแย้งกัน เห็นคนละอย่าง อย่างนี้ไม่ใช่ และไม่ใช่แค่หน่วยงานภาครัฐเห็นพ้องกัน แต่มันยังเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการด้วยอีกหลาย ๆ ส่วน” ร้อยตรีจักรากล่าว

ส่วนการ “จำกัด” ปริมาณการขายน้ำตาลทรายในห้างค้าปลีกต่อครอบครัว 6 ถุงนั้นยืนยันว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำตาลทรายไม่ขาดแคลน หรือหายไปจากตลาดแน่นอน เพราะน้ำตาลทรายมีสต๊อกเหลืออยู่อย่างน้อย 1 เดือน ที่สามารถขายอยู่ในราคาต้นทุนเดิม กรณีการพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องหรือใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบนั้น จะพิจารณาเป็นรายสินค้า

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวเข้ามาว่า ถ้าราคาต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้น 1 บาท/กก. ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวปัจจุบันที่ 22 บาท/กก. ก็ต้องปรับขึ้นเป็น 23 บาท/กก. ส่วนน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 23 บาท/กก. ก็ต้องปรับขึ้นเป็น 24 บาท/กก.

เครื่องดื่ม-ขนม-นมกระทบหนัก

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสําเร็จรูป กล่าวว่า เท่าที่ทราบการเจรจาขอขึ้นราคาน้ำตาล “ได้ข้อสรุปแล้ว” ส่วนการปรับราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลนั้นถือว่า เป็นสินค้าควบคุมขึ้นราคาไม่ได้จะต้องขออนุญาตกระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบันมีราคาเพดานคุมอยู่ที่ 23 บาท/กก.

“หากปรับราคาขึ้น ผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับผลกระทบจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำตาลมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อาหาร สินค้าขนมหวาน กลุ่มผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ต และกลุ่มเบเกอรี่และขนมปังต่าง ๆ ส่วนอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปที่มีสัดส่วนการใช้น้ำตาลมากที่สุด คือ ผลไม้กระป๋อง ผลไม้อบแห้ง และเครื่องปรุงบางชนิดที่มีรสหวาน ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบในอาหารราว 10-55% (ขึ้นกับชนิดอาหาร) จากการปรับราคานํ้าตาลหน้าโรงงานราว 10% ต้นทุนที่สูงขึ้นจะกระทบแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดของสินค้า องค์กร แต่ละอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใช้และรูปแบบการใช้น้ำตาลที่แตกต่างกัน”

อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐอาจจะต้องพิจารณาช่วงเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัวด้วย เพราะการปรับราคาจะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขัน ต้นทุนในการผลิตของสินค้าที่มีคำสั่งซื้อไปแล้ว

สินค้าจ่อขึ้นราคาเพียบ

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ในภาคอีสานกล่าวว่า จากการได้โทรศัพท์สอบถามเรื่องนี้ไปยังโรงงานผู้ผลิตน้ำตาลได้รับการชี้แจงในเบื้องต้นว่า จะมีการปรับราคาขึ้นโดยเฉลี่ยไม่เกินกิโลกรัมละ 1.50 บาท ในช่วงตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ดังนั้น ราคาขายส่งจากซัพพลายเออร์เข้ามาที่บริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1,016 บาท สำหรับกระสอบ 50 กก. จากเดิม 985 บาท หรือปรับขึ้นมากระสอบละประมาณ 30-32 บาท

“ช่วงนี้มีความเป็นไปได้ที่ค้าปลีกค้าส่งที่รู้ข่าวนี้อาจจะต้องการกักตุนสินค้า แต่ในทางปฏิบัติเชื่อว่าซัพพลายเออร์จะไม่ส่งสินค้าให้ตามออร์เดอร์ และอาจจะมีการกำหนดโควตาขึ้นมาเพื่อป้องกันการกักตุนและเก็งกำไร”

แหล่งข่าวยังกล่าวได้ว่า จากต้นทุนราคาน้ำตาลที่มีแนวโน้มเพิ่้มขึ้นดังกล่าว ประกอบกับน้ำตาลเป็นส่วนประกอบของสินค้าหลาย ๆ ชนิด ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง นมข้นหวาน โดยส่วนตัวเชื่อว่า ถัดจากนี้ไปอีกสักประมาณ 2 เดือน หรือปลายท มี.ค.-เม.ย. สินค้าเหล่านี้จะทยอยปรับราคาเพิ่ม หรือแม้กระทั่งกลุ่มนมยูเอชทีสำหรับเด็ก ตอนนี้ก็เตรียมจะปรับราคาขึ้นเช่นกัน และคาดว่าน่าจะเริ่มปรับราคาในต้นเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป

“นอกจากต้นทุนน้ำตาลแล้ว ซัพพลายเออร์สินค้าต่าง ๆ ยังมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากค่าไฟ ค่าจ้างแรงงาน แพ็กเกจจิ้ง วัตถุดิบหลาย ๆ อย่างที่มีราคาสูงขึ้น”