ต้นทุน “ข้าวโพด-ค่าไฟ-หมูเถื่อน” ทุบซ้ำเกษตรกร

เกษตรกร

หมูเถื่อนกดดันหมูเป็นยืนพื้นราคา 100 กว่าบาทต่อกิโลกรัม ส่งผลราคาหมูชำแหละยังทรง ๆ หลังตรุษจีน คนไทยต้องกินหมูแพง กิโลกรัมละ 200 กว่าบาท ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงหมูยังเพิ่มขึ้น วัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญ ข้าวโพด พุ่งทะลุเกิน 13.40 บาท/กิโลกรัม หรือคิดเป็น 30-40%

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มเมื่อวันพระที่ 14 มกราคม 2566 ปรากฏทุกภูมิภาค หมูปรับฐานราคาขยับขึ้น 4 บาท ตามความต้องการบริโภคที่สูงขึ้นทุกภูมิภาคในช่วงเทศกาลตรุษจีน และปรับให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เฉลี่ยสูงกว่าราคาตลาดสุกรขุนในหลายพื้นที่ โดยแรงกดดันต้นทุนน้ำหนักยังคงอยู่ที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สัปดาห์นี้ขยับต่อไปอยู่ที่ 13.40 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้นจากกระสอบละ 1,320 บาท เป็นกระสอบละ 1,430 บาท

โดยปัจจัยบวกต่อเนื่องเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนที่ทยอยเข้ามาอย่างหนาแน่นทั้งสัปดาห์ นับจากวันที่ 8 มกราคม 2566 โดยหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มภาคตะวันตก ราคา 96-98 บาท/กก., ภาคตะวันออก ราคา 98-100 บาท/กก., ภาคอีสาน ราคา 100-102 บาท/กก., ภาคเหนือ 102 บาท/กก. และภาคใต้ 100 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนราคาลูกสุกรขุนเล็กน้ำหนัก 16 กิโลกรัม ราคาทรงตัวที่ 3,400 บาท บวก/ลบ คำนวณกลับมาเป็นราคาหมูชำแหละอยู่ระหว่าง 190-200 บาท/กก.

นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า แนวโน้มการตรวจจับหมูเถื่อนดีขึ้น ตรวจจับได้ปริมาณมากขึ้น แต่สมาคมผู้เลี้ยงทุกภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ พูดตรงกันในการประชุมที่กรมปศุสัตว์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ปริมาณหมูเถื่อนตามตลาดและร้านช็อปต่าง ๆ ยังคงมีหมูเถื่อนจำนวนมาก ยิ่งจับได้มาก หมูเถื่อนก็โผล่กลับมามากขึ้น และมีการเสนอขายในราคาถูกกว่าหมูที่เกษตรกรในประเทศไทยเลี้ยงประมาณ 30%

ดังนั้น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจึงต้องการให้กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ขีดเส้นแก้ปัญหาหมูเถื่อนให้จบสิ้นไปภายใน 6 เดือน หรือประมาณกลางปี 2566

“ถึงเวลาที่เราต้องขีดเส้นให้หมูเถื่อนหมดสิ้นไปภายใน 6 เดือน ตามแผนหมูเถื่อนที่ลอยเรืออยู่ไม่ให้ขึ้น ก็จะไปประเทศเพื่อนบ้าน และในที่สุดก็ไหลเข้ามาไทยอีก เราเป็นห่วงเรื่องโรคระบาดด้วย โดยเฉพาะโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ดังนั้น สิ่งที่กรมปศุสัตว์และตำรวจมาคุยกันบอกจะจัดการหมูเถื่อนให้จบภายใน 1 ปี เราคิดว่านานเกินไป เราตรวจจับกันมานานแล้ว ที่ผ่านมาสมาคมออกค่าใช้จ่ายในการฝังกลบเป็นล้านบาท จับเยอะยิ่งเสียค่าดำเนินการต่าง ๆ เยอะ”

ด้านนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า สถานการณ์ราคาหมูหน้าฟาร์มในช่วงตรุษจีนปีนี้ใกล้เคียงระดับราคา กก.ละ 100 บาท ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่จะมีราคาสูงเกิน กก.ละ 100 บาท ปัจจัยสำคัญมาจากปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนที่ผิดกฎหมายเข้ามา หากไม่มีการป้องกันและเฝ้าระวังโรคระบาดจะส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงปศุสัตว์ในประเทศที่เพิ่งกลับมาฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรหลัง ASF ไม่สามารถฟื้นตัวได้ ทางกรมปศุสัตว์เดินหน้าต่อเรื่องนี้ ซึ่งทางอธิบดีกรมปศุสัตว์คนใหม่ก็เดินหน้าเรื่องนี้ทันที

ในส่วนผู้ประกอบการยังคงเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2565 ซึ่งภาวะต้นทุนการผลิต ภาพรวมปรับสูงขึ้นประมาณ 10% จากต้นทุนหลักวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดที่มีราคาสูงขึ้น 30-40% จากที่เคยมีราคาต่ำสุดไม่ถึง 10 บาท จนตอนนี้ปรับขึ้นต่อเนื่อง มาถึงปีนี้ปรับขึ้นไป 13.40 บาทต่อ กก. ซึ่งทั้งที่ราคาวัตถุดิบควรจะลดลงไป 12 บาท แต่ก็ไม่ลดลง หากเปรียบเทียบกันแล้ว สัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็น 60%

ขณะที่ต้นทุนค่าไฟฟ้า ถึงแม้ว่าค่า Ft จะปรับสูงขึ้น แต่คิดเป็นสัดส่วน 5-10% เท่านั้น ส่วนระดับราคาสินค้าปศุสัตว์ปีนี้ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมามากนัก

ส่วนนายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือกล่าวว่า ขณะนี้หมูเป็นหน้าฟาร์มราคา 101 บาท สำหรับปัญหาหมูเถื่อนในภาคเหนือยังมีอยู่ ด้านแหล่งข่าวจากผู้เลี้ยงหมูภาคเหนือได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันมีชิ้นส่วนหมูจากทุกภาคส่งขึ้นมาขายเดือนละประมาณ 4.8-4.9 ล้านกิโลกรัม “เป็นหมูที่มีใบเคลื่อนย้ายถูกต้อง” หรือเพิ่มขึ้นจาก 5-6 เดือนก่อนที่มีเพียง 2-3 ล้านกก.

แต่ช่วง 5-6 เดือนปรับขึ้นมาถึงเท่าตัว จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่ววงการผู้เลี้ยงหมูภาคเหนือว่า น่าจะมีการสวมหมูเถื่อนมาหรือไม่ เพราะปริมาณหมูเพิ่มขึ้นทุกเดือนจนทะลุ 4.8-4.9 ล้านกิโลกรัม จะเอาที่ไหนมา ในขณะที่ปริมาณการเลี้ยงก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก บางส่วนต้องเป็นหมูนอกประเทศสวมเข้ามาแน่