ส.อ.ท.เบรกเกมขึ้นค่าไฟฟ้า ต้นทุนอ่วมพาณิชย์ตรึงราคา

ไฟฟ้า
Photo by LOIC VENANCE / AFP

ส.อ.ท.ไม่ทน เคลื่อนไหวปมค่าไฟพุ่ง ตั้งคณะทำงานด้านพลังงาน เตรียมยื่นขอตรึงหรือลดค่าไฟงวด 2 เดือน พ.ค.-ส.ค. ขณะที่ คกก.ด้านเศรษฐกิจระดม 45 อุตสาหกรรม ทำเวิร์กช็อป กู้วิกฤตต้นทุนพุ่ง “ปุ๋ย-ยาฆ่าแมลง” โอดตรึงราคานานข้ามปีแบกต้นทุนหลังแอ่นกรมการค้าภายในเผย ผงซักฟอก-อาหารสัตว์ ยื่นขอปรับราคาแต่ยังไม่อนุมัติ

หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีมติปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดที่ 1 สำหรับเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าภาคเอกชนลง ทำให้อัตราค่าไฟที่ต้องจ่ายลดลงจาก 5.69 เหลือ 5.33 บาทต่อหน่วย พร้อมทั้งให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งมีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อช่วงก่อนปีใหม่

นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน) แก้ปัญหาร่วมกัน แต่การหารือครั้งนั้นไม่มีตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหลังจากนั้นภาคเอกชนจากหลายธุรกิจ เช่น โรงพยาบาลเอกชน ประกาศปรับขึ้นค่าบริการ

กางแผนสู้ศึกค่าไฟแพง

ล่าสุด ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ตั้งคณะทำงาน (Task Force) ด้านพลังงาน ขึ้นมา 1 ชุด มีนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อพิจารณาจัดทำแนวทางเกี่ยวกับบริหารจัดการต้นทุนด้านพลังงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกันก็มอบให้ นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. ในฐานะประธานคณะกรรมการสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ ทำการศึกษาเชิงวิชาการเกี่ยวกับปัญหาต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในภาพกว้าง

นายอิศเรศกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวทางการทำงานของคณะทำงานด้านพลังงานจะเป็นการแก้โจทย์เรื่องต้นทุนพลังงานและค่าไฟฟ้า เป้าหมายระยะสั้นจะขอให้ กกพ.พิจารณาตรึงราคาหรือปรับลดค่าไฟฟ้างวด 2 เดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนผู้ประกอบการและราคาสินค้า เนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มดีขึ้น

อาทิ ค่าบาทที่เริ่มแข็งค่าขึ้น ส่งผลดีต่อการนำเข้าพลังงาน ประกอบกับสถานการณ์การผลิตที่แหล่งเอราวัณจะเพิ่มปริมาณการผลิตมากขึ้น และหากสงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ แนวโน้มราคาพลังงานน่าจะลดลง จากเดิมที่ กกพ.เคยประเมินสมมุติฐานค่าไฟฟ้าไว้สูงสุด 6 บาท หากค่าไฟปรับลดลง จะมีผลต่อราคาสินค้าและเงินเฟ้อในไตรมาส 2

ส่วนระยะกลาง-ระยะยาว จะพิจารณาแนวทางการดูแลโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าเพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันได้ หากเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งและมีการเปลี่ยนผ่านการทำงานทางนโยบาย แนวทางนี้จะเป็นเสมือนการทำการบ้านสำหรับรัฐบาลชุดต่อไปให้สานต่อ

เพราะเชื่อว่าปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้า จะเป็นเรื่องแรกที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแล ดังนั้น ส.อ.ท.จะต้องทำให้พร้อม เพื่อที่รัฐบาลใหม่จะต้องไม่เริ่มที่ศูนย์สามารถที่จะรับต่อไปได้ ซึ่งผลสรุปของคณะทำงานนี้จะถูกบรรจุไว้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งของคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ

จี้รัฐแก้ปัญหา-แบกต้นทุนอ่วม

แหล่งข่าวจาก กกร.เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. ในฐานะประธานคณะกรรมการสายงานเศรษฐกิจ ได้มีหนังสือเชิญ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ประชุมเชิงฏิบัติการจัดทำข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการจากปัญหาเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นโดยมีกำหนดจัด preworkshop กำหนดแนวทางการจัดทำแผนในวันที่ 13 ม.ค.นี้

จากนั้นจะจัดประชุมเวิร์กช็อปอีกครั้งในวันที่ 30 ม.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นจากปัจจัย 5 ด้านที่ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนคือ พลังงาน วัตถุดิบนำเข้า ค่าจ้างแรงงาน โลจิสติกส์ และต้นทุนทางการเงิน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมาต้นทุนขยับขึ้นมาก แต่ยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาตามต้นทุนที่แท้จริงได้ ทั้ง ๆ ที่ ส.อ.ท.ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นมา การนำเสนอประเด็นนี้เป็นหนังสือไปยัง คณะกรรมร่วมรัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อเรียนรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และยังมีหนังสือจาก ส.อ.ท.อีกฉบับ ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 2565 ขอรัฐให้พิจารณาปรับราคาให้สอดรับกับต้นทุนที่แท้จริง แต่ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร โดยที่เจ้าหน้าที่ตอบเพียงว่าตอนนี้ขอความมือในการตรึงราคาสินค้า

“ตอนนี้การตรึงราคาสินค้ามีมาเกิน 1 ปีแล้วตั้งแต่โควิด ตอนนี้โควิดดีขึ้น รัฐก็ยังไม่ได้เข้ามาดูแล ทำให้ผู้ผลิตสินค้าที่เป็นสินค้าควบคุมได้รับผลกระทบ เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เพราะขึ้นราคาไม่ได้ ขณะที่สินค้าที่ไม่ได้อยู่ในรายการควบคุมสามารถขึ้นราคาได้ 10-20%”

แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ปัญหาต้นทุนของเอกชนหลัก ๆ มาจากค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น ตั้งแต่งวดก่อนจนถึงงวดล่าสุด เดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ที่แม้ว่าจะปรับลดลงจาก 5.69 บาทต่อหน่วย เหลือ 5.33 บาทต่อหน่วย แต่ก็ยังทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นถึง 13% ทำให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ นี่ยังไม่นับรวมต้นทุนดอกเบี้ย ค่าแรงงาน แต่จะมากน้อยแตกต่างกัน

บางรายขอปรับ 5-15% ประกอบกับภาวะอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าจาก 37-38 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 33-34 บาท ซึ่งกระทบกับคนที่ซื้อสัญญาล่วงหน้าที่ผ่านมาเอกชนได้ยื่นขอปรับ ราคาสินค้าไปยังกระทรวงพาณิชย์ แต่ก็ไม่พิจารณาให้ ซึ่งตอนนี้เอกชนส่วนหนึ่งได้ปรับแผนการผลิตด้วยการโยกออร์เดอร์ไปผลิตในต่างประเทศ และในอนาคตจะเห็นการย้ายฐานการลงทุน และไม่มีการลงทุนใหม่เข้ามา

คน.ย้ำนโยบายตรึงราคาต่อ

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงแนวทางการดูแลราคาสินค้าปีนี้ว่า ยังใช้หลักวิน-วินโมเดล เน้นดูแลเพื่อให้เกิดความสมดุล เพื่อลดผลกระทบผู้บริโภคจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น และให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบจากต้นทุน จากปัจจัยทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ราคาวัตถุดิบนำเข้า ค่าเงินบาท และมีการยื่นขอปรับราคาเข้ามาต่อเนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น

อาทิ กลุ่มผลิตภัณฑ์ซักล้าง อาหารสัตว์ เป็นต้น กรมยังไม่ได้พิจารณาให้ปรับราคา ส่วนกรณีโรงพยาบาลเอกชนที่ขอปรับราคาจากต้นทุนค่าไฟฟ้า กรมได้ประชุมร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแล้ว ขอความร่วมมือให้กระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาต่ออายุสินค้าควบคุม 5 รายการ ประกอบด้วย หน้ากากอนามัย ใยสังเคราะห์ เพื่อผลิตหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และเจลล้างมือ เศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้ใหม่ และสินค้าไก่และเนื้อไก่ ไปอีก 1 ปี นับจากวันที่ 25 ม.ค. 2566 ส่งผลให้ปี 2566 ไทยมีสินค้าและบริการควบคุมรวม 56 รายการ (สินค้า 51 รายการ และบริการ 5 รายการ)