ไทยสมายล์บัสรุก ขสมก. แบ่งเค้กเดินรถเมล์ EV กทม.

ไทยสมายล์ บัส เปิดรับสมัครงานหลายอัตรา ไม่ปล่อยพนักงานสาย 8 เดียวดาย

“ไทย สมายล์ บัส” กวาด 122 เส้นทางเดินรถประจำทาง พร้อมนำรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า E-Bus จำนวน 3,000 คันออกวิ่งก่อนสิ้นปี 2566 ตั้งเป้าเปลี่ยนรถเมล์ในกรุงเทพเป็น E-Bus ทั้งหมด คิดการณ์ไกล ต่อยอดลดการปล่อยคาร์บอนจากรถเมล์ก๊าซ-น้ำมัน เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า ตุนขาย “คาร์บอนเครดิต” เพิ่มรายได้

น.ส.ออมสิน ศิริ ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD ในฐานะผู้ลงทุนและให้กู้ยืมแก่ บริษัทไทย สมายล์ บัส หรือ TSB ผู้ประกอบธุรกิจขนส่งทั้งรถไฟฟ้าและเรือไฟฟ้า กล่าวถึงธุรกิจรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า หรือ E-Bus ของ TSB ว่า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากเริ่มต้นเดินรถ E-Bus จำนวน 9 เส้นทาง (8+1) ในเดือนตุลาคม 2564 ปัจจุบันบริษัทมีเส้นทางเดินรถโดยสาร E-Bus ทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑลถึง 122 เส้นทาง หรือใกล้เคียงกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีอยู่ประมาณ 125 เส้นทาง

บริษัทไทย สมายล์ บัส เริ่มแรกเปิดการเดินรถ E-Bus ภายใต้ใบอนุญาตของอดีตเจ้าของสัมปทานเดินรถร่วมบริการ ขสมก. เดิม ต่อมาบริษัทได้สัมปทานเดินรถประจำทางของ บริษัทสมาร์ทบัส จำกัด เข้ามาเพิ่มเติมถึง 37 เส้นทาง ประกอบกับกรมการขนส่งทางบก ได้นำเส้นทางตามแนวทางปฏิรูปรถเมล์ 77 เส้นทาง (เป็นเส้นทางเดินรถเดิมของ ขสมก.จำนวน 28 เส้นทาง)

ซึ่งมีทั้งเส้นทางที่มีผู้ประกอบการเดินรถอยู่เดิมและเส้นทางใหม่ให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามายื่นคำขออนุญาตประกอบการขนส่ง ปรากฏคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้มีมติอนุมัติให้นายทะเบียนกลางออกใบอนุญาตเดินรถให้แก่ บริษัทไทย สมายล์ บัส รวม 71 เส้นทาง

“จะเห็นได้ว่า TSB เติบโตมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราพร้อมที่จะแข่งขันเพื่อให้ได้เส้นทางเดินรถ E-Bus สายใหม่ ๆ จากปัจุจบันที่เราได้เส้นทางเดินรถประจำทางหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็น สาย 8 เดิม สาย 44 หรือสาย 35 โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนการเดินรถประจำทางทั่วกรุงเทพฯให้เป็น E-Bus ของ TSB ทั้งหมด” น.ส.ออมสินกล่าว

จากจำนวนรถ E-Bus ที่ให้บริการวิ่งอยู่ในปี 2565 มีทั้งหมด 1,800 คัน ส่วนใหญ่จะเป็นรถไฟฟ้าขนาด 10 เมตร ใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้าขนาด 150 KWh และจะมีจำนวนรถ E-Bus เพิ่มขึ้นรวม 3,000 คันภายในสิ้นปี 2566 พร้อมกับอู่จอดรถโดยสารประจำทางอีก 11 แห่งกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ

ด้านรายได้หลักของ บริษัทไทย สมายล์ บัส จะมาจาก “ค่าโดยสาร” กับ “ค่าโฆษณา” แต่ในอนาคตบริษัทจะมีรายได้มาจากการขาย “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)” ในโครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถโดยสารประจำทาง EV ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นโครงการระหว่างประเทศโครงการแรกที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ภายใต้ความตกลงปารีส Article 6

และมี Kilk Foundation เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงิน ในการพัฒนาโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงเดิมที่เป็นก๊าซ NGV หรือน้ำมันดีเซล โดยมีการลงนามในสัญญาซื้อขาย carbon credit กันเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565

“ด้วยรถ E-Bus ของ TSB จำนวน 3,000 คัน คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนจากเดิมที่ใช้รถโดยสารก๊าซ NGV หรือน้ำมันดีเซลลงมาได้คำนวณออกมาเป็นคาร์บอนเครดิตปริมาณ 740,000 ตันคาร์บอน การรับรองคาร์บอนเครดิตเราใช้หน่วยงานสากลเป็นผู้รับรองในลักษณะใช้ในปีนี้ก็จะได้การรับรองคาร์บอนเครดิตในปีถัดไป สำหรับราคาคาร์บอนเครดิตจากโครงการต่ำสุดจะอยู่ที่ประมาณ 35 ฟรังก์สวิสต่อตันคาร์บอน (1 ฟรังก์สวิสประมาณ 37 บาท) ซึ่งจะถือเป็นกำไรโดยตรงจากการขายคาร์บอนเครดิตของ TSB ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” น.ส.ออมสินกล่าว

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม. เมื่อ 31 ม.ค.66) ได้ให้ความเห็นชอบหนังสือการอนุญาต (letter of authorization : LoA) ให้ดำเนินโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชน เป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ-TSB) ในพื้นที่ กทม. โดยมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้แก่ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA

เพื่อถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2564-2573 ให้มูลนิธิ KLiK (The Foundation for Climate Protection and Carbon Offset) ของสมาพันธรัฐสวิส ในรูปแบบโครงการเปลี่ยนรถเมล์ไฟฟ้ารถร่วมบริการเอกชน ถือเป็นการริเริ่มการเปลี่ยนผ่านจากรถโดยสารสาธารณะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นรถโดยสารสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ครอบคลุมเส้นทางเดินรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางจากกรมการขนส่งทางบก

ส่วนความเกี่ยวข้องระหว่าง BYD-TSB และ EA จะประกอบไปด้วย บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าประจำทาง (E-Bus) ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมี บริษัท เอช อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ACE) ถือหุ้น 100% โดยบริษัทดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ (BYD) ถือหุ้น 49% และบุคคลอื่น 51%


การเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ บริษัท อีเอ โมบิลิตี โฮลดิง (EMH) ในเครือ EA จะทำให้เป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อม โดยหลังเข้าทำรายการ EMH จะถือหุ้นใน BYD 23.63% บุคคลอื่น 76.37% ทำให้ได้มาซึ่งพันธมิตรทางธุรกิจ เนื่องจากจะทำให้บริษัท TSB มีโอกาสในการสร้างยอดขายรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น