
คมนาคมกางเป้ารถเมล์ EV ใน 1 ปี 6 เดือน ไทย สมายล์ กรุ๊ป ลงทุนเพิ่ม 2.4 หมื่นล้านจัดหารถเพิ่ม 1,850 คัน
วันที่ 30 มกราคม 2566 บริษัท ไทย สมายล์ กรุ๊ป จำกัด ได้จัดพิธีเปิดให้บริการเดินรถโดยสารประจำทางสาย 38 และ 48 ของกลุ่มบริษัท ไทย สมายล์ กรุ๊ป โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน
- เปิดวิธีลงทะเบียน เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 มีขั้นตอนอย่างไร ?
- ทำความรู้จักบัตรวิสดอมกสิกรไทย ต้องรวยแค่ไหนถึงถือบัตรได้
- ประกันสังคม ม.33-39-40 ผู้ประกันตนแต่ละประเภท มีสิทธิต่างกันอย่างไร?
นายชัยรัตน์ แสงจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายปฏิบัติการ บริษัท ไทย สมายล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ทางไทย สมายล์ กรุ๊ป มี 2 เป้าหมายสำคัญในปีนี้ ได้แก่ 1.การผนึกกำลังกับบริษัท สมาร์ท บัส ในการเปลี่ยนรถ NGV ซึ่งใช้แก๊สธรรมชาติของไทยสมาร์ท บัส เป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าในจำนวน 1,850 คัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 2.4 หมื่นล้านบาทในปีนี้
2.ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทางบริษัทจะยกเลิกระบบตั๋วโดยสาร โดยเปลี่ยนมาใช้ระบบ Hop Card ซึ่งสามารถใช้แพ็กเกจ 2 แพ็กเกจของทางบริษัทได้คือ 1.แพ็กเกจเหมาจ่ายค่าโดยสารไม่เกิน 40 บาทต่อวัน ไม่จำกัดเที่ยว ในการโดยสารรถโดยสารของกลุ่ม ซึ่งมีให้บริการกว่า 122 เส้นทาง
2.แพ็กเกจเหมาจ่าย 50 บาท่อวัน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ในการโดยสารรถโดยสารและเรือโดยสารของกลุ่มบริษัท
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนเองได้เดินทางมาเปิดให้บริการเดินรถโดยสารของทางบริษัทมาหลายครั้งแล้ว โดยครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ภูมิใจที่ประเทศไทยได้มีรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าให้บริการ โดยจากเป้าหมายในปีที่แล้วที่จะบรรจุรถโดยสารกว่า 1,250 คัน ใน 77 เส้นทางของบริษัท ไทย สมายล์ บัส ซึ่งได้สำเร็จไปแล้ว
ในปีนี้ทราบว่าจะมีการเพิ่มเติมอีก 1,850 คัน ในการสับเปลี่ยนรถโดยสาร NGV ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้บริหารคาดว่าจะสำเร็จได้ในเดือนมิถุนายนนี้ อีกทั้งทางบริษัทยังแจ้งมายังกระทรวงคมนาคมอีกว่า นอกจากนี้แล้วจะมีการเพิ่มรถโดยสารอีก 900 คัน สำหรับสำรองในการให้บริการ
ซึ่งจะทำให้ในปี 2566 นี้ประเทศไทยจะมีรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าถึง 4 พันคัน จากรถโดยสารทั้งหมดในระบบประมาณ 7 พันคัน
สำหรับระบบ Hop Card ของทางกลุ่มบริษัทเอกชนนอกจากจะช่วยในเรื่องค่าโดยสารแล้ว ทางเอกชนและกรมการขนส่งทางบกยังรายงานอีกว่า บัตร Hop Card จะมีการเก็บข้อมูลการโดยสารเป็น Big Data เพื่อมาใช้วิเคราะห์การบริหารจัดการรถโดยสาร
ซึ่งลักษณะการให้บริการเดิมที่เป็นแบบตารางเวลา (Time Table) ซึ่งไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควร ทำให้เกิดปัญหารถโดยสารขาดช่วงการให้บริการ หรือที่เห็นภาพคือ รถบางคันมีผู้โดยสารอัดแน่น แต่บางคันผู้โดยสารโล่ง ซึ่งส่วนนี้จะต้องมีการปรับปรุง และทาง ขสมก. จะต้องมีการถอดบทเรียนด้วย
ในส่วนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในการกำกับของกระทรวงคมนาคมนั้น เนื่องด้วยเป็นองค์กรของรัฐการดำเนินการจะต้องทำตามระเบียบของทางภาครัฐ สำหรับแผนในปีนี้เตรียมที่จะดำเนินการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า 250 คัน จากทั้งหมดประมาณ 2,500 คัน ใน 107 เส้นทาง
โดยเป้าหมายของกระทรวงคมนาคมคาดว่าจะมีการเปลี่ยนรถโดยสารทั้งหมดให้เป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าให้ได้ใน 1 ปี 6 เดือนนับจากนี้