อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ความท้าทายโลกกับ New Way ปตท.

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

ทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งจากเรื่องปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีดิสรัปต์ และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น แล้วทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอนาคตของประเทศไทยจะไปทิศทางไหน ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่

ชำแหละความท้าทายโลก

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้จัดสัมมนา “New Era Economy อนาคตประเทศไทย” โดยมี นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมฉายภาพการขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยในหัวข้อ New Way New Industry ว่า ความท้าทายเรื่องจีโอโพลิติกในระยะสั้นส่งผลต่อราคาพลังงาน แต่ในระยะยาวส่งผลต่อซัพพลายเชน

เพราะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนการลงทุนย้ายฐานการผลิต ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ประเทศไทยเผชิญมานานแล้ว ไทยขาดเรื่องนวัตกรรมและการพัฒนาคน รวมถึงความเท่าเทียม จำเป็นต้องอาศัยดิจิทัลเข้ามาช่วย และต้องอาศัยความจริงใจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด

ขณะที่เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลำดับต่อไปจะทำให้มีการออกกฎหมายมาบังคับใช้มากขึ้น รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่มากขึ้น รวมถึงเรื่องความเสี่ยงทางธุรกิจจากปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐล้ม แม้ว่าจะหยุดเลือดได้ระยะสั้น แต่ผลกระทบต่อเนื่องจากการที่หลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรปได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายการเงิน (QE) มาอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จนถึงวิกฤตโควิด ซึ่งปัจจุบันสหรัฐลุกขึ้นมาดูดสภาพคล่องกลับด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจตามมา โดยเฉพาะสตาร์ตอัพที่เป็นยุคทองมา 3-5 ปี ได้รับผลกระทบจากการที่สภาพคล่องในโลกหายไป ทำให้ผู้ที่จะลงทุนใส่เงินในสตาร์ตอัพเริ่ม “คิดเยอะ”

คำถามของนักลงทุนจะเปลี่ยนไปว่า เมื่อไรจะตัวเขียว (มีกำไร) นับได้ว่าเป็นความท้าทายสตาร์ตอัพในการระดมทุน เพราะที่ผ่านมาสตาร์ตอัพจะเผาเงินเพื่อสร้างการเติบโตของฐานลูกค้า โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับกำไร

ยกเครื่องอุตสาหกรรม “ไม่ทำไม่ได้”

“อรรถพล” กล่าวว่า สำหรับทิศทางประเทศไทยมุ่งสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 12 สาขา (S-curve) สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้เกิด ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพ และไม่ทำไม่ได้ โดยเราอยู่บนฐานของอุตสาหกรรมเดิมยาวนานหลายปี แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล่านั้นไม่มีแล้ว อย่างอุตสาหกรรมผลิตฮาร์ดดิสก์ปัจจุบันเทคโนโลยีก็เปลี่ยนไป สะท้อนภาพว่าต้องมีการปรับเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม

โดยอุตสาหกรรมพลังงานมีแนวโน้มมุ่งสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น ปัจจุบันเริ่มมีการออกกฎหมายบังคับการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลลดลง เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเต็มรูปแบบมากขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าเชื้อเพลิง ถ่านหิน จะมีการใช้ในปริมาณสูงสุด (พีก) ในปี 2025 หลังจากนั้นก็จะเริ่มลดลง “น้ำมัน”

คาดว่าจะพีกช่วงปี 2035 จากนั้นก็จะเป็นขาลง และ ก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดกว่าฟอสซิลอื่นจะทยอยลดลงหลังจากนั้น และการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น

ปตท.เปิดแผนพลังงานทดแทน

ดังนั้น ปตท.จึงได้เดินหน้าลงทุนตามวิสัยทัศน์ใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ของประเทศโดยได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์สู่ “Powering Life with Future Energy and Beyond” ซึ่งธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ พลังงานทดแทน ระบบกักเก็บพลังงาน/แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และไฮโดรเจน

กลุ่มพลังงานทดแทน จะปรับเปลี่ยนไปสู่ภาคบังคับมากขึ้น โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกต้องปรับตัวมุ่งสู่การใช้พลังงานทดแทน ที่มาของสินค้าต้องเป็น “พลังงานสะอาดทั้งแวลูเชน” ทำให้พลังงานสะอาดมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 30,000-40,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นพลังงานทดแทน 4,000 เมกะวัตต์ แต่การประกาศดำเนินนโยบาย Net Zero ภายในปี 2065 ทำให้ประเทศไทยต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 50% ภายในปี 2050 คือต้องเพิ่มขึ้นไปถึงกว่า 20,000 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ฉ

ะนั้นต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย เช่น แม้ว่าไทยเป็นเมืองร้อน แต่มีข้อจำกัดเรื่องแสงแดดเพราะมีเมฆเยอะ หรือมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ จึงต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น แผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ และต้องทำในทะเลที่มีพื้นที่มากกว่าน้ำจืด แต่มีจุดอ่อนเรื่องคลื่นลมแรงและการกัดกร่อน ซึ่งทาง ปตท.จึงคิดค้นผลิตภัณฑ์จากปิโตรเคมีมาใช้เป็นวัสดุในการทำทุ่นลอยน้ำให้มีความยืดหยุ่นและทนทาน เป็นต้น

“ปตท.ตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้ 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2030 ทั้งจากการลงทุนในและต่างประเทศที่ต้องมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะ Smart Energy Platform ที่ต้องมาพร้อมกับสมาร์ทกริด ซึ่ง ปตท.ทำร่วมกับนิคมอุตสาหกรรม WHA

รวมถึงการให้ใบรับรองการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% จะช่วยได้ระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเข้าไปลงทะเบียนซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มเพื่อนำไปเคลมว่าใช้ไฟจากพลังงานทดแทน เรื่องเหล่านี้ทำจริงหมดแล้ว”

หนุนฐานผลิต EV คู่ขนานรถสันดาป

และอีกอุตสาหกรรมเป้าหมายของ ปตท.ก็คือ การสร้าง EV Value Chain โดย”อรรถพล” มองว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีรถยนต์ 43 ล้านคัน เป็นยานยนต์ไฟฟ้า(EV) 30,000 กว่าคัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจน เห็นได้ชัดจากปี 2021-2022 ตลาด EV โตเกือบ 200% ซึ่งไทยยังมีศักยภาพเป็นทั้งตลาดและฐานการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (รถใช้น้ำมัน) ติดอันดับ 9 ของโลก

“การที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาป ก็สามารถจะเป็นฐานการผลิตรถ EV ตีคู่ไปพร้อมกัน ลักษณะนี้ไม่เกิดขึ้นได้ในทุกธุรกิจ ดังนั้นรัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเดิมด้วยแนวคิด Last man standing

คือทำอย่างไรให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปที่สุดท้ายของโลก คู่ขนานกับการส่งเสริมรถ EV ที่มีนโยบาย 30@30 ซึ่งอีวีมี value chain ทั้งการผลิตแบตเตอรี่ การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ส่วนไฮโดรเจนเป็นเทคโนโลยีที่ยังต้องศึกษาอย่างใกล้ชิด แต่อาจจะยังไม่คุ้มทุนในตอนนี้”

“ปตท.ตั้งเป้าหมายสิ้นปีนี้จะให้มีรถ EV วิ่งได้ทั่วประเทศไทย และกำลังสนใจธุรกิจแพ็กกิ้งแบตเตอรี่กับพันธมิตร นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชั่น EA Me มีรถอีวีทุกยี่ห้อให้เลือกเช่าใช้ เลือกกี่วันก็ได้ เราตั้งมาไม่ถึง 2 ปี มีรถรองรับถึง 500 คัน อัตราการเช่าสูงถึง 80% แล้ว”

ลุยธุรกิจมากกว่าพลังงาน

“อรรถพล” กล่าวว่า และความท้าทายจากที่ประเทศกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยคาดว่าปี 2050 จะมีผู้สูงอายุ 20% ทำให้รัฐบาลต้องบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงไปของสังคม แต่ก็ตามมาด้วย “โอกาสทางธุรกิจใหม่” ทำให้ ปตท.มองถึง “ธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่พลังงาน” (Beyond Energy) ประกอบด้วยธุรกิจ life science คือ ยา สเต็ปต่อไปไทยต้องยกระดับการผลิต จากการเป็นผู้นำเข้าหัวเชื้อ (API) มาเป็นผู้ลงทุนพัฒนาหัวเชื้อยาให้มากขึ้น

โดย ปตท. มีความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สวทช., องค์การเภสัช สร้างโรงงานผลิตยา ขณะที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ พัฒนาวัสดุที่ใช้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เสริมนโยบายไทยเป็นเมดิคอลฮับ, ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม (Nutrition) และพัฒนาอาหารอนาคต เช่น โปรตีนจากพืช (Plant Base Meat) ซึ่งโรงงานจะเสร็จในปีหน้า

เชื่อม Physical-Digital Platform

รวมถึงการขยายบทบาทในธุรกิจโลจิสติกส์และสาธารณูปโภค ธุรกิจการเคลื่อนที่และไลฟ์สไตล์ (mobility & lifestyle) และธุรกิจปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ และดิจิทัล

“4-5 ปีที่ผ่านมาเราได้ยินว่าหมดยุคแล้ว ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เปลี่ยนเป็นปลาที่ว่ายน้ำเร็ว แต่วันนี้โลกของดิจิทัลแพลตฟอร์ม กลายเป็นปลาตัวใหญ่ที่ว่ายน้ำเร็ว ก็กินตัวเล็กอยู่ดี หลายแอปที่ไปไม่รอด แอปที่มีสายป่านยาวอยู่ได้ ฉะนั้นต้องหาตลาดเฉพาะ (Nich Market) ให้เจอ

เช่น ปตท.มี Physical Platform เป็นปั๊มน้ำมันบริการครบ ขณะที่ Digital Platform ก็ต้องเชื่อมกัน ปตท.จะปรับไปเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าแข่งอาลีบาบาเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นนิชมาร์เก็ตของเราคืออะไรต้องไปดู” ซีอีโอ ปตท.กล่าวและว่า

ในเดือน มิ.ย.นี้ โออาร์ (บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก) เตรียมจะเปิดตัวแอปพลิเคชั่นใหม่ เป้าหมายอาจจะไม่ต้องดึงคนเข้ามาเยอะเหมือนแพลตฟอร์มทั่วไป แต่เน้นว่าจะทำอย่างไร ให้ผู้ที่เข้ามาที่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไปใช้บริการที่ร้านค้าต่าง ๆ ของเรา ซึ่งจะเป็นการสร้าง Cross Sale หรือ Plus Sale เช่น ลูกค้า ปตท.ที่ไม่กินกาแฟเติมน้ำมัน ฉะนั้นวันนี้เติมน้ำมัน 500 บาท ให้ซื้อกาแฟอเมซอนลด 30% เป็นต้น

“อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) และโรโบติก เน็กซ์เจนต้องมาเร็วขึ้น อุตสาหกรรมการผลิตต้องสมาร์ทขึ้นและเชื่อมกับดิจิทัลแพลตฟอร์ม ดังนั้นการเอา AI ใส่ในแมชชีนเป็นเรื่องสำคัญ เทอร์มินิเตอร์ไม่ได้ไกลตัว การทำให้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรฉลาดขึ้นเป็นเน็กซ์สเต็ป เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจของผู้ประกอบการมากขึ้น”

สุดท้ายซีอีโอ ปตท.เน้นย้ำว่า “การทำสิ่งที่ท้าทายที่ประเทศเราและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นั้น สิ่งสำคัญมีอยู่ 3 อย่าง คือ เทคโนโลยี ทุน และคน จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเราไม่มี Passion & Purpose คือต้องมี Passion ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และต้องมี Purpose วัตถุประสงค์ที่ชัดเจน จึงจะขับเคลื่อนประเทศไทยและทุกชีวิตไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”