เปิดข้อมูลค่าพีกไฟฟ้า ย้อนหลัง 5 ปี ใช้ไฟหนักสุดเท่าไร ?

ไฟฟ้า การไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้า
Photo by Fré Sonneveld on Unsplash

เปิดข้อมูล กฟผ. ค่าพีกไฟฟ้าช่วงหน้าร้อน 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยใช้ไฟหนักสุดเท่าไหร่ ?

วันที่ 26 มีนาคม 2566 เมื่อเข้าช่วงหน้าร้อน ทุกคนเริ่มสนใจเรื่องค่าไฟ ที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง จากอุณหภูมิที่สูงขึ้น

ซึ่งเมื่อมีอากาศร้อนจัด ส่งผลให้ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ของระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับเปลี่ยนไปจากปีก่อนหรือไม่ คงจะต้องมาติดตามกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลการเกิดค่าพีกย้อนหลัง จากข้อมูล กฟผ. พบว่า

ปี 2561 ค่าพีกสูงสุด เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 24 เมษายน 2561 เวลา 20.30 น. ที่ระดับ 28,338.10 เมกะวัตต์

ปี 2562 ค่าพีกสูงสุด เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 เวลา 22.27 น. ที่ระดับ 30,853.20 เมกะวัตต์

ปี 2563 ค่าพีกสูงสุด เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 12 มีนาคม 2563 เวลา 20.30 น. ที่ระดับ 28,636.70 เมกะวัตต์

ปี 2564 ค่าพีกสูงสุด เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 3 เมษายน 2564 เวลา 21.03 น. ที่ระดับ 30,135.30 เมกะวัตต์

ปี 2565 ค่าพีกสูงสุด เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 27 เมษายน 2565 เวลา 22.36 น. ที่ระดับ 32,254.50 เมกะวัตต์

แต่อย่างไรก็ตาม ค่าพีกของ กฟผ. เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีในส่วนของค่าพีกของการไฟฟ้าจำหน่าย คือ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ด้วย

ซึ่งในปีนี้ MEA รายงานความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดปี 2566 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มี.ค. เวลา 14.30-15.00 น. ที่ 8,676.54 เมกะวัตต์

สำหรับความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของ MEA (Max. Demand) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2562 เวลา 13.30-14.00 น. ที่ 9,525.93 เมกะวัตต์

ส่วนภาพรวมการติดตามค่าพีกทั้งประเทศนั้น ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะเป็นผู้ติดตาม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าปริมาณสูงสุด (Peak) ในช่วงหน้าร้อนปี 2566 นี้จะพุ่ง อยู่ที่ 30,936 เมกะวัตต์ และมีโอกาสทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี

กระทรวงพลังงานมั่นใจว่าประเทศไทยมีไฟฟ้าเพียงพอรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยสูงถึง 30% จากระดับปกติควรอยู่ที่ 15%

ทั้งนี้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยทยอยลดลงกลับสู่ภาวะปกติที่ 15% ได้ภายในปี 2568