สมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ บริบทตลาดส่งออกข้าวที่เปลี่ยนไป

สมบัติ เฉลิมวุฒินันท์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ


ปลายปีมานี้สินค้าข้าวของไทยที่เคยเป็นสินค้าการเมืองได้ลดความร้อนแรงลงไป ไทยตกชั้นจากเบอร์ 1 ผู้ส่งออกข้าวโลก เคยทำสถิติสูงถึง 11 ล้านตัน ลงมาเป็นเบอร์ 2-3 เคยส่งออกต่ำสุด 6 ล้านกว่าตัน และยังไม่มีทีท่าจะขยับกลับไปได้เท่าเดิม

ยิ่งมาถึงตอนนี้ทิศทางอุตสาหกรรมข้าวยังต้องมาลุ้นว่ารัฐบาลใหม่จะส่งตัวแทนจากพรรคการเมืองใดมาวางนโยบายข้าวและจะยืนหยัดใช้นโยบายประกันรายได้ต่อเนื่องหรือไม่

“ประชาชาติธุรกิจ” พูดคุยกับ “สมบัติ เฉลิมวุฒินันท์” หรือในวงการเรียกว่า “เสี่ยแตน” ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้นท์ไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของประเทศต่อเนื่องหลายสมัย โดยล่าสุดในปี 2565 ที่ไทยส่งออกข้าวได้ 7.69 ล้านตัน

เป็นฝีมือเอเซีย โกลเด้นท์ไรซ์ ส่งออกประมาณ 1.04 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ส่งออกได้ 864,173 ตัน “สมบัติ” ได้ให้มุมมองถึงการส่งออกปีนี้ว่าตลาดยังคงมีความต้องการซื้อดีต่อเนื่อง ราคาข้าวก็ปรับตัวสูง แต่ก็มีบริบทหลายอย่างที่ได้ปรับเปลี่ยนไปแล้ว

แนวโน้มส่งออกข้าวปี 2566

การส่งออกข้าวไทยในช่วง 4 เดือนแรกพุ่งไป 3.05 ล้านตันแล้ว ปีนี้ยังมองว่าน่าจะไป 7.5 ล้านตันได้ ผมห่วงเพียงว่าเอลนีโญจะเกิดไหม ครอป (ฤดูการผลิต) นี้ ที่เรากำลังจะปลูกและจะเก็บเกี่ยวเดือนกรกฎาคม 2566 มีสินค้าแน่

แต่พอไปลงปลูกและเก็บเกี่ยวครอปปลายปีจะมีปัญหาเลยถ้ามีเอลนีโญ ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ต้องคาดการณ์ เราก็คาดหวังว่า 7.5 ล้านตัน ไปได้สบาย ๆ แต่ถ้าถึงเวลาถ้าไม่มีข้าวครอปนั้นมาส่งมอบในช่วงนาปี ตัวเลขก็จะหายไป ซึ่งไม่มีใครจะรู้ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตนาปี

Advertisment

“ตลาดส่งออกปีนี้ จะไปได้ 7.5 ล้านตันหรือไม่ ต้องประเมินสถานการณ์ผลกระทบเอลนีโญหลังจากนี้จะเกิดขึ้นในช่วงข้าวนาปีหรือไม่ หากหายไปจะกระทบต่อตัวเลขส่งออก แต่ในด้านราคา ผมกลับไม่ค่อยกังวลในปีนี้ เพราะมีตลาดส่งออกไปได้”

โดยตลาดที่สั่งซื้อเข้ามายังเป็นตลาดเอเชีย อย่างอินโดนีเซียที่สั่งซื้อรอบแรกไปเมื่อเดือนเมษายน 2566 ตอนนี้อยู่ในขั้นคิด ๆ กันว่าจะมีการเจรจารอบ 2 ส่วนตลาดแอฟริกาเรายังส่งไปได้น้อย เพราะราคาของไทยยังต่างกับราคาส่งออกข้าวอินเดียพอสมควร

Advertisment

เพราะฉะนั้น ผู้นำเข้าจากแอฟริกาก็ต้องไปไล่ซื้อของที่ถูกก่อน จะกระทั่งตรงนั้นมีปัญหาหรือน้อยลง ไม่พอ เมื่อขาดเหลือเท่าไรจึงค่อยซื้อเติมจากที่นี่ แนวโน้มก็จะเป็นอย่างนี้

ส่วนอเมริกาใต้นั้น คำสั่งซื้อมาเป็นช่วง ๆ บางช่วงที่ขาดสินค้าก็ซื้อเลย อเมริกาใต้ผลผลิตลดลง ทำให้ราคาสูงขึ้น ขณะที่ตลาดอิรักเท่าที่ทราบก็มีบริษัทธนสรรไรซ์ส่งออกไปบ้าง และตอนนี้ก็มีของบริษัทเราลงสินค้าไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถี่เหมือนต้นปี ส่วนอิหร่านก็รอฟังข่าวอยู่ ว่าจะมีแนวโน้มเข้ามาหรือไม่

การแข่งขันกับเวียดนาม

เขายังเล่าถึงสถานการณ์ภาพรวมการแข่งขันในตลาดส่งออกข้าวแปรเปลี่ยนไปว่า ตอนนี้ไทยและเวียดนามไม่ได้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันเพื่อแข่งขันด้านราคาอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการแยกเซ็กเมนต์กันอย่างชัดเจน

“วันนี้ราคาข้าวเราไม่ได้แพงกว่าเวียดนามเหมือนสมัยก่อน ราคาส่งออกขยับมาใกล้เคียงกัน แต่เวียดนามฉีกไปทำข้าวคุณภาพสูงหมด ข้าวขาวเขาทำจำนวนจำกัดไม่แย่งอะไรกับเราในส่วนนี้มากมาย ตัวที่เคยแข่งกับเราหนัก ๆ เค้ามูฟไปทำตัวท็อป

ทำให้ตอนนี้ตลาดจะแยก เซ็กเมนต์เป็นอย่างนี้ คือ ข้าวหอมมะลิเราไปขายตันละ 800-900-1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนข้าวขาวเราขายประมาณ 400 กว่าเหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งเดิมเวียดนามทำข้าวขาวแบบนี้มาแข่งกับเรา แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเวียดนามมูฟไปผลิตข้าวขาวพื้นนุ่มแทน ราคาจะขาย 500-600-700 เหรียญสหรัฐต่อตัน ฉะนั้น ตลาดเขาคนละตลาดกับเราชัดเจนแล้ว ไม่ต้องมาฟาดฟันกับเราอยู่แล้ว”

ไทยแข่งข้าวพื้นนุ่มได้หรือไม่

“ข้าวขาวพื้นนุ่มที่เวียดนามผลิตนั้น ไม่ใช่เราแข่งไม่ไหว หากจะแข่งจริง ๆ ก็แข่งได้ แต่บ้านเรายังไม่ได้มีนโยบายเรื่องนี้ที่ชัดเจนแบบเวียดนาม ซึ่งเขาโซนนิ่งพื้นที่ได้ดีมาก และมันเหมือนกับว่าเขาทำต่อเนื่อง เช่น ช่วงแรกเขาพัฒนาข้าวขาวพื้นนุ่มพันธุ์ ST 18-19 มาถึงตอนนี้พัฒนาไปสู่พันธุ์เวอร์ชั่น ST 27-28 แล้ว เขาอัพเดตเวอร์ชั่นต่อเนื่อง มีการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และมีคุณสมบัติในการต้านทานโรคได้”

“ปัจจุบันหากดูตามสถิติทางการ เวียดนามส่งออกข้าว คือ 6 ล้านกว่าตัน แต่มีการคาดการณ์ว่ายังมีการส่งข้ามแดนไปจีนอีกจำนวนหนึ่ง รวม ๆ แล้วเป็น 7 ล้านตัน และในจำนวนนี้เป็นข้าวนุ่มไปประมาณ 50-60% หรือประมาณ 3-4 ล้านตัน แค่เพียงไม่กี่ปี”

แต่บ้านเรา ถ้าย้อนไปคิด บ้านเราเปลี่ยนชื่อทุกปี แต่มีอยู่พันธุ์เดียวที่ยืนอยู่มั่นคงที่สุด คือ ข้าวปทุม แต่ข้าวตัวอื่น ๆ ที่เคยมี อย่างข้าวชัยนาท พิษณุโลก ข้าว กข 43 หายไป ไม่มีความต่อเนื่อง อันนี้คือภาพที่เราแข่งขันจะยาก และการที่เราโซนนิ่งไม่ได้ อันนี้เป็นประเด็นใหญ่

ส่วนตลาดข้าวหอมมะลิไทยส่งออก ประมาณ 1 ล้านกว่าตัน ตัวนี้ไม่ต้องห่วงเพราะเรามีตลาดประจำของเราอยู่แล้ว ไม่มีผลอะไรเลย แต่ที่บอกว่าถ้าเราต้องการรักษาระดับราคาส่งออกที่ 800-900 เหรียญสหรัฐ หรือตันละ 15,000 บาทไว้ ในต้น ๆ ฤดูการเก็บเกี่ยว รัฐบาลต้องมีมาตรการพยุง ๆ นิดหนึ่ง เช่น ปัจจุบันประกันรายได้ หรือจำนำยุ้งฉาง ก็ทำให้ราคาข้าวไม่ลง ก็ช่วยได้เยอะ

“วันนี้ข้าวหอมเราถ้าถามว่าต้องกังวลไหม คำตอบคือไม่ต้องกังวลเลย เพราะ 1) พื้นที่เพาะปลูกลดลง และ 2) มีตลาดประจำประมาณ 1 ล้านตันต่อปีอยู่แล้ว และที่ผ่านมาช่วงโควิดราคาตกลงเพราะเศรษฐกิจทั่วโลกไม่ดี คนรัดเข็มขัด ทัวร์นักท่องเที่ยวก็หายไป คนที่มาบริโภคตรงนี้ก็ลดลง ตอนนี้กลับมาสู่ภาวะปกติ คนที่เข้ามากินก็มาแล้ว ส่วนส่งออกเป็นปกติแล้ว”

เปลี่ยนผ่านนโยบายข้าว

ตอนนี้บริบทการผลิตข้าวเปลี่ยนแปลงไป ปริมาณข้าวที่ผลิตได้ในแต่ละปีไม่ได้เหลือปริมาณมากอะไร และไทยไม่มีสต๊อก พื้นที่เพาะปลูกก็เปลี่ยนไป เพราะยิ่งปีนี้ทั่วโลกอาหารสัตว์ราคาสูงขึ้น ทำให้มีผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดในที่นาเยอะมาก ทำให้พื้นที่เปลี่ยนไปเยอะพอสมควร

โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางตอนบน และภาคเหนือตอนล่าง ก็หันมาปลูกข้าวโพด เพราะเทียบต่อตันแล้ว ดีไม่ดีข้าวโพดตันละ 12,000 บาทต่อตัน ข้าวตันละ 10,000 บาท แต่ถ้าปลูกไร่ละ 800 กก.ได้ 8,000 บาทไม่ถึงหมื่นบาท

“ปริมาณข้าวที่ผลิตได้ในปัจจุบันไม่ได้มีจำนวนมากนักถ้าเทียบกับแต่ก่อน หากสังเกตจะเห็นว่าเราปรับฐานการส่งออกมาอยู่ที่ปีละ 7 ล้านกว่าตันมาหลายปีแล้ว มีเขย่งปีก่อนได้ 7.5 ล้านตันเท่านั้น พอส่งเพิ่มไป 5 แสนตัน ส่งผลให้ราคาข้าวตึงขึ้นทันที

และไทยไม่มีสต๊อกสะสมในประเทศ เพราะราคาสูงก็ซื้อสูงขายออกไป ทำให้สต๊อกคงเหลือไม่มาก บวกกับผลจากโควิดคลี่คลายทำให้ท่องเที่ยวกลับมา การบริโภคภายในประเทศก็เพิ่มขึ้น สะท้อนจากราคาข้าวหอมมะลิไม่ปรับลดลงเลย”

“ในระหว่างที่รอรัฐบาล หรือรอนโยบาย คงไม่มีใครทำให้ราคาต่ำ ส่วนจะสูงขึ้นได้หรือไม่นั้น ผมว่าตอนนี้ราคาข้าวไทยสูงอยู่แล้ว ราคาข้าวเปลือกประมาณ 10,000 บาท ถือว่าปรับไปสูงมาก แต่หลังจากนี้หากมีผลผลิตออกมาพร้อมกันมาก ราคาอาจจะลดลงมาอยู่ 8,500-9,000 บาทได้ อยากให้รัฐบาลช่วงรักษาการถ้าสามารถทำอะไรได้ หรือคิดมาตรการรองรับไว้ก่อนที่ผลผลิตจะออก”

ส่วนระยะยาวขอให้ดูแลเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายพัฒนาข้าวเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทยในอนาคต