เปิดโผ “ธุรกิจใหม่” ปตท. น้ำอีอีซี-ไบโอเจ็ต-คาร์บอนเครดิต

ปตท

ปตท.มุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงานตามพันธกิจหลัก และก้าวสู่ธุรกิจใหม่ตามวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond โดยมีกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย (Downstream Business) เป็นหนึ่งในหัวหอกสำคัญสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ ปตท.ได้ถึง 31% หรือมูลค่า 8,748 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2566

ธุรกิจขั้นปลายครอบคลุมแฟลกชิป ประกอบด้วย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP), บริษัท PTT Global Chemical (GC), บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC), บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) OR และหน่วยธุรกิจเทรดดิ้ง และ DGA หรือ Downstream Business Group Alignment โดยมี นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นแม่ทัพหลัก

ไตรมาส 1/66 รายได้ลด

นายนพดลระบุว่า ในไตรมาส 1/2566 รายได้กลุ่มขั้นปลายลดลง 5% หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และลดลง 0.2% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 49% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ปรับตัวลดลง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

นพดล ปิ่นสุภา
นพดล ปิ่นสุภา

ปัจจัยสำคัญคือราคาน้ำมันดิบที่ส่งผลทางบวกและลบ จากประกาศลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ปลายไตรมาส 1 แต่ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งคาดการณ์ว่าระดับราคาจะทรงตัว ประมาณ 75-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ขณะที่กลุ่มโอเลฟินส์ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากความต้องการที่ไม่ได้กลับมาตามที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการมีกำลังการผลิตใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นในตลาด คล้ายคลึงกับกลุ่มอะโรเมติกส์ซึ่งยังพอมีปัจจัยที่ช่วยเสริมเนื่องจากผลิตภัณฑ์นี้ยังสามารถใช้เป็นส่วนผสมของแก๊สโซลีนซึ่งมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นได้

เพิ่มพอร์ตโฟลิโอธุรกิจใหม่

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย กล่าวว่า กลุ่มขั้นปลายวางเป้าหมายสอดรับกับเป้าหมายของ ปตท. จะเพิ่มสัดส่วนพอร์ตโฟลิโอกลุ่มธุรกิจใหม่ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 15% เป็น 30% ในปี 2573 มีแผนลงทุนธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจไลฟ์สไตล์ กลุ่มธุรกิจมูลค่าสูง (High Value Business : HVB) รวมถึงธุรกิจด้านการบริหารจัดการน้ำ (Water Management Business)

Advertisment

ปัจจุบันไทยออยล์มีสัดส่วนจากการกลั่น 90% และสินค้าปิโตรเคมี 10% โดยอนาคตไทยออยล์อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ CFP ซึ่งจะทำให้เพิ่มการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มกำลังการกลั่นจาก 2.75 แสนบาร์เรล เป็น 4 แสนบาร์เรล

ขณะที่ IRPC ปัจจุบันมีการผลิตปิโตรเลียม 70% และปิโตรเคมี 30% ในอนาคตจะเพิ่มประสิทธิภาพการกลั่นโครงการ UCF เพิ่มผลิตน้ำมันยูโร 5 ส่วน GC ปัจจุบันผลิตปิโตรเลียมและปิโตรเคมีอย่างละ 50% โดยมีการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจ HVB เช่น การร่วมลงทุนกับบริษัท Allnex ผลิตโคตติ้งที่มีมูลค่าสูง, Kuraray โครงการ PAT9T/HSBC สำหรับผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น รถยนต์ และยาง เริ่มผลิตในไตรมาส 2 ปี 2566 และร่วมทุนกับเนเจอร์เวิร์ค ผลิตไบโอพลาสติก PLA มีการลงทุนในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ จะก่อสร้างเสร็จในปี 2567

Advertisment

“ปตท.สนใจลงทุนในกลุ่ม Advanced Business Integration (ABI) มีเป้าหมายครอบคลุม 4 แอเรีย ได้แก่ ยานยนต์ แบตเตอรี่ การกรองน้ำและอากาศ รวมถึงสุขอนามัยและสถานบริการด้านสุขภาพ และธุรกิจกลุ่ม OR ที่เน้นเรื่องการขับเคลื่อน (mobility) โดยปีนี้จะขยายสถานีชาร์จอีวีให้ได้ 500 จุด และมุ่งในธุรกิจไลฟ์สไตล์ จะมีการจัดทำแอปพลิเคชั่น เพื่อเชื่อมโยงและสร้างการเติบโตร่วมกับพันธมิตร ส่วนสุดท้ายคือ กลุ่ม PTT Tank ซึ่งดูแลและจัดการด้านขนส่ง โดยปัจจุบันได้ร่วมลงทุนท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 สำหรับขนส่งคอนเทนเนอร์ และท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 สำหรับแอลเอ็นจี”

นอกจากนั้นยังมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือช่วยเสริมการบริหารจัดการเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจให้แก่ภาครัฐ Hydrocarbon Value Chain Collaboration Center รวมถึงเครื่องมือ
ในการบริหารจัดการพลังงานในภาวะราคาผันผวน เป็นต้น

ประสงค์ อินทรหนองไผ่
ประสงค์ อินทรหนองไผ่

ปักหมุด “ธุรกิจใหม่”

นายประสงค์กล่าวว่า ปตท.มุ่งจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 (2593) โดยได้มีการดำเนินธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องหลายธุรกิจ ซึ่งจะเห็นเป็นรูปธรรมเร็ว ๆ นี้ คือ 1) จัดตั้งหน่วย Water Management ขึ้น เพื่อก้าวเข้าสู่ธุรกิจด้านการบริหารจัดการน้ำในภูมิภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี ระยอง และมองโอกาสเรื่องการเก็บน้ำใน จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีน้ำเยอะ แต่ไม่มีระบบกักเก็บทำให้สูญเสียน้ำลงทะเลไป

ส่วนที่ 2 จะร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดำเนินโครงการแยกน้ำจืดจากน้ำทะเลในอีอีซี และส่วนที่ 3 ธุรกิจรีไซเคิลน้ำ สำหรับ ปตท.เองมีปริมาณการใช้ 30-35% ของภาคตะวันออก

2) ธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel-SAF) หรือ Bio Jet ล่าสุดอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับพันธมิตรในการศึกษาโอกาสในการลงทุนตั้งโรงงานผลิตไบโอเจ็ตจากกากปาล์มน้ำมันในไทย โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง 3 โรงกลั่นใน ปตท. โออาร์ และพันธมิตรจากอินโดนีเซีย เพื่อผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในเครื่องบิน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งเรื่องสถานที่ วงเงินลงทุนในปีนี้ เพื่อเริ่มก่อสร้างในปี 2567 เพื่อให้สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2570

กลุ่มธุรกิจ ปตท.

“แม้ว่าน้ำมันไบโอเจ็ตจะราคาสูงกว่าน้ำมันเจ็ตทั่วไปเท่าตัว แต่จากข้อกำหนดขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) ที่ให้ทั่วโลกต้องหันมาใช้น้ำมันเครื่องบินที่มีส่วนผสมจากไบโอเจ็ต โดยจะเริ่มใช้ในปี 2027 (2570) หากสายการบินใดไม่ปฏิบัติตามมีโอกาสจะถูกห้ามบิน (แบน) นี่จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะผลิต แต่เรามองว่าหากผลิตจากน้ำมันพืชใช้แล้วในประเทศ อาจจะมีปริมาณไม่เพียงพอจึงได้เล็งหาพันธมิตรนำกากปาล์มมาผลิต ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตสูงกว่า 1 ล้านลิตร หากได้ข้อสรุปร่วมกันในปีนี้จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567”

ขณะเดียวกัน ปตท.ยังมีการวางแผนการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ทั้งการปลูกป่า 2 ล้านต้น และการขยายสู่ ธุรกิจที่ 3) ธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยปีนี้มีแผนจะเริ่มลงทะเบียน ขออนุญาตดำเนินการจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง จากเดิมที่ได้ทดลองนำร่องจำหน่ายน้ำมันคาร์บอนฟรี และล่าสุดยังได้ทำ MOU กับธนาคารกรุงไทย เพื่อทำธุรกิจคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะช่วยลดดอกเบี้ย ที่จัดเก็บจาก ปตท.ด้วย และมองถึงโอกาสในธุรกิจการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) และใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (CCUS) เพื่อขับเคลื่อน Net Zero ด้วย