ศึกผู้บริหารท่อส่งน้ำภาคตะวันออกยังไม่จบ เหตุขาดความชัดเจนในเรื่องใบอนุญาตขอใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหลักของกรมชลประทาน จน 6 นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก รวมมาบตาพุด-แหลมฉบัง ออกมากระทุ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอการันตีปริมาณน้ำที่จะส่งให้ลูกค้าในนิคมมีเพียงพอและถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับ
ความไม่ชัดเจนในการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ตัดสินให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้ชนะประมูลมาตั้งแต่ปี 2565 โดยสั่งการให้ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ผู้บริหารระบบท่อส่งน้ำรายเดิมจะต้องส่งมอบสินทรัพย์ส่งคืนให้กับกรมธนารักษ์
ซึ่งประกอบไปด้วย 1) โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย มูลค่าโครงการ 772.09 ล้านบาท 2) โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ มูลค่าโครงการ 2,205.05 ล้านบาท และ 3) โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) มูลค่าโครงการ 254.87 ล้านบาท รวมถึงสถานีสูบน้ำ จากในอดีตที่ท่อส่งน้ำเหล่านี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของอีสท์วอเตอร์ มาตั้งแต่ปี 2537 มีระยะเวลาการเช่า 30 ปี (เฉพาะท่อส่งน้ำดอกกราย จะครบกำหนดสัญญาเช่าในปี 2566)
ปรากฏแม้กระทั่งปัจจุบันจะมีการส่งมอบสินทรัพย์ที่เป็นท่อส่งน้ำคืนให้กับ กรมธนารักษ์ เพื่อนำส่งต่อให้กับบริษัทผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ไปแล้วก็ตาม แต่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านผู้บริหารระบบท่อส่งน้ำหลักทั้ง 3 เส้นท่อ
ยังมีปัญหาเกิดขึ้นในส่วนของ “น้ำดิบ” จากแหล่งน้ำของกรมชลประทาน (อ่างเก็บน้ำดอกกราย-หนองปลาไหล-หนองค้อ) ที่ว่า บริษัท อีสท์วอเตอร์ และบริษัท วงษ์สยามฯ ได้รับการจัดสรรปริมาณน้ำจากกรมชลประทาน เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าเท่าไหร่ และได้รับใบอนุญาตใช้น้ำในปริมาณเท่าใดกันแน่ โดยความไม่ชัดเจนดังกล่าวได้สร้างความกังวลใจให้กับบรรดานิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกแล้ว
นิคมอุตฯกังวลน้ำไม่พอส่ง
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง กนอ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ภาคตะวันออกร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อเตรียมความพร้อมและปริมาณน้ำสำรองสำหรับใช้ในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC
โดยนิคมที่ กนอ.ดำเนินการอยู่มี 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ปัจจุบันสำรองน้ำไว้ใช้ 200,000 ลบ.ม./วัน กับนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี สำรองน้ำไว้ใช้ 15,000 ลบ.ม./วัน โดยน้ำจำนวนนี้มาจากการนำส่งของ บริษัท East Water ที่ยังเป็นสัญญาการส่งน้ำทางท่อตามปกติ
“นักลงทุนที่ตั้งโรงงานอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. มีความกังวลถึงปริมาณน้ำในปีนี้ ทาง กนอ.ยืนยันว่า ขณะนี้ยังมีน้ำพอใช้ตลอดทั้งปี 2566 แต่สิ้นปีในเดือนธันวาคมปริมาณน้ำที่จะส่งมาจากอีสท์วอเตอร์ก็จะหมดสัญญา ซึ่งหลังจากนั้น นิคมของ กนอ.อาจจะได้รับผลกระทบ
ดังนั้นในระหว่างนี้ทาง กนอ.จึงต้องเร่งเจรจากับทางกรมชลประทาน ถึงแผนบริหารจัดการน้ำในปี 2567 เช่น แหล่งน้ำที่จะส่งเข้ามา ท่อส่งน้ำที่มีการวางทับซ้อนและการเปลี่ยนผ่านของผู้รับสิทธิท่อส่งน้ำของกรมธนารักษ์ ระหว่างอีสท์วอเตอร์และวงษ์สยามฯ ประเด็นเหล่านี้ต้องมีคำตอบและแนวทางที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบกับลูกค้าผู้ใช้น้ำทั้งหมดในภาคตะวันออก” นายวีริศกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กนอ.-อีสท์วอเตอร์ และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ได้หารือถึงแนวทางการดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านคืนสินทรัพย์ของโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2)
ทั้งเรื่องการใช้น้ำและการใช้ไฟฟ้าบริเวณสถานีสูบน้ำในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งทุกหน่วยงานได้ให้คำมั่นว่า การดำเนินการต่าง ๆ ยังเป็นไปตามปกติ และจะไม่ส่งผลกระทบกับผู้ใช้น้ำ รวมถึงผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยทั้งวงษ์สยามฯและอีสท์วอเตอร์จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนเองอย่างดีที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรม
มีรายงานข่าวจากในพื้นที่ได้ตั้งข้อสังเกตเข้ามาว่า การสูบน้ำจากแหล่งน้ำเพื่อส่งผ่านท่อส่งน้ำป้อนให้กับผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน ของบริษัท วงษ์สยามฯ อาจจะเป็นการกระทำในทางน้ำชลประทานโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับอนุญาตเป็นการชั่วคราวนั้น
ด้วยความไม่ชัดเจนถึงประเด็นความทับซ้อนดังกล่าว ปรากฏทางผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมเริ่มมีความกังวลถึงปริมาณน้ำและคุณภาพของน้ำที่ได้รับ และหากปัญหาความทับซ้อนและการอนุญาตให้สูบน้ำยังไม่มีความชัดเจน ผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร ถ้าการส่งน้ำสะดุดลง แม้ว่าทุกนิคมอุตสาหกรรมจะมีแหล่งน้ำสำรองของตัวเองก็ตาม
“นิคมเอกชนได้รับผลกระทบแล้ว แต่ทุกแห่งก็พยายามเตรียมน้ำสำรองไว้ให้พอ ทั้งในอ่างเก็บน้ำในนิคมเองและผู้พัฒนานิคมเองเขาได้ใช้เทคโนโลยีผลิตน้ำจากน้ำที่ใช้แล้ว แต่มันก็อาจไม่พอ ซึ่งหน่วยงานรัฐในพื้นที่ต้องหาทางออกเรื่องความทับซ้อนและความไม่ชัดเจนถึงปริมาณน้ำดิบของกรมชลประทานที่แต่ละบริษัทได้รับตามสัญญาเท่าไหร่กันแน่ และจะมีน้ำเพียงพอต่อการส่งมอบให้ผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่” แหล่งข่าวกล่าว
วงษ์สยามฯยื่นขออนุญาตใช้น้ำ
มีรายงานข่าวจากโครงการชลประทานจังหวัดระยองเข้ามาว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งได้ลงนามบริหารเส้นท่อส่งน้ำกับ กรมธนารักษ์ ไปแล้ว ได้ทำหนังสือมาถึงชลประทานระยอง เพื่อขออนุญาตใช้น้ำจำนวน 12 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
โดยน้ำจำนวนนี้เตรียมที่จะให้บริการกับลูกค้าใน 6 นิคมอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้น้ำตามเส้นท่อเดิมเพื่อให้ระบบเดินหน้าไปได้ และไม่เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมภายในนิคม ล่าสุดทางชลประทานระยอง ได้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกรมชลประทาน เป็นผู้พิจารณาตามขั้นตอนไปแล้ว
ส่วนปัญหาที่ผ่านมาหลังจากมีการกล่าวหาในเรื่องของการสูบน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีใบอนุญาตใช้น้ำนั้น ผู้กระทำการสูบน้ำได้ยืนยันว่า “ไม่มีเจตนา” แต่ต้องการน้ำเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการส่งน้ำให้ลูกค้าในเส้นท่อเดิมและไม่ให้มีผลกระทบภายในนิคมอุตสาหกรรม “ผู้สูบน้ำโดยไม่มีใบอนุญาตพร้อมที่จะชดใช้ค่าน้ำจากความเสียหายที่เกิดขึ้น”
ทางด้านผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกทั้ง 6 แห่งเองก็ได้แสดงความกังวลถึงปัญหาความไม่ชัดเจนในเรื่องของการอนุญาตให้ใช้น้ำในช่วงเปลี่ยนผ่านการบริหารระบบท่อส่งน้ำระหว่าง บริษัท อีสท์วอเตอร์ รายเดิม กับบริษัท วงษ์สยามฯ รายใหม่
โดยนิคมอุตสาหกรรมได้มีการหารือกับกรมชลประทานในพื้นที่ ในประเด็นของการใช้น้ำโดยที่บริษัทผู้ส่งน้ำไม่ได้รับอนุญาต ยกตัวอย่าง ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมเอกชนรายใหญ่รายหนึ่งได้ทำหนังสือแจ้งเข้ามาว่า ไม่ได้มีเจตนาจะรับบริการน้ำจากผู้ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตใช้น้ำจากชลประทาน
ทั้งนี้ บริษัท อีสท์วอเตอร์ ได้รับใบอนุญาตใช้น้ำในปริมาณ 120 ล้าน ลบ.ม.ไปก่อนหน้านี้แล้ว ในขณะที่บริษัท วงษ์สยามฯ ก็ได้ยื่นขอคำอนุญาตใช้น้ำจำนวน 12 ล้าน ลบ.ม.เข้ามา โดยแจ้งว่าน้ำจำนวน 12 ล้าน ลบ.ม.นี้ ใน 6 นิคมอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้น้ำรวม 30 ล้าน ลบ.ม./ปี “มีเพียงพอที่จะดำเนินการส่งมอบให้กับลูกค้าไปก่อนในช่วงนี้”