ราคาปุ๋ยยูเรียลด 50% รับฤดูเพาะปลูกข้าว หมู-ไก่-ไข่ ขึ้นราคาเล็กน้อย

เกษตรกรกำลังพ่นยาฆ่าศัตรูพืช
Romeo GACAD / AFP

กรมการค้าภายใน เผยราคาปุ๋ยยูเรียลด 50% รวมถึงยาปราบศัตรูพืชและยาฆ่าแมลงลดลง ผลดีต่อเกษตรกรที่กำลังเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก ด้านสถานการณ์อาหารสด ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งหมู ไก่ ไข่ แต่ผักแนวโน้มลดลง มะนาว-ผักชี ลงเห็นได้ชัด

วันที่ 9 มิถุนายน 2566 ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีว่า ขณะนี้ภาพรวมราคาแม่ปุ๋ยเฉลี่ยภาคกลางปรับลดลง 26-50% เมื่อเทียบกับช่วงกลางปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาปุ๋ยปรับตัวขึ้นไปสูงสุด ซึ่งเป็นผลดีกับเกษตรกรที่กำลังเข้าสู่ฤดูการปลูกข้าว

โดยแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ได้แก่ ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 และปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต 21-0-0 ราคาลดลง 50% และ 47% ตามลำดับ แม่ปุ๋ยฟอสเฟต 18-46-0 ราคาลดลง 26% และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม 0-0-60 ราคาลดลง 26%

“ตอนนี้ราคาปุ๋ยลงมาถึง 50% ยกตัวอย่างแม่ปุ๋ยยูเรีย ปริมาณ 50 กิโลกรัม (กก.)/กระสอบ ราคาจำหน่ายเคยขึ้นไปสูงถึงกระสอบละ 1,600 บาท ปัจจุบันลงมาเหลือ 800 บาท/กระสอบ โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาปุ๋ยปรับลดลงมา เพราะราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับลดลง โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่แม้จะยังมีความผันผวน แต่ก็ปรับลดลงมาแล้ว 20-25% เมื่อเทียบราคาเฉลี่ยปี 2565 และความต้องการใช้ปุ๋ยในประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรสำคัญลดลง เช่น จีน ที่สิ้นสุดฤดูการผลิตแล้ว และสหรัฐอยู่ในช่วงปลายฤดูเพาะปลูก”

สำหรับยาปราบศัตรูพืช ขณะนี้ราคาได้ปรับลดลงแล้วเช่นเดียวกัน เมื่อเทียบกับช่วงที่เคยขึ้นไปสูงสุดเมื่อกลางปีที่แล้ว โดยยาฆ่าหญ้ากลูโฟซิเนต ราคาลดลง 25% ไกลโฟเซต ราคาลดลง 19% และยาฆ่าแมลงอะบาเมกติน ราคาลดลง 28%

ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน
ร้อยตรีจักรา ยอดมณี

อาหารสดขึ้นราคา

ร.ต.จักรากล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ราคาอาหารสดสัปดาห์นี้ ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยหมูเนื้อแดง เฉลี่ย กก.ละ 145 บาท เพิ่มขึ้น 1 บาท จากเดือนที่แล้ว ไก่น่องติดสะโพก ราคา 80 บาท/กก. น่องไก่ 83 บาท/กก. สะโพกไก่ 85 บาท/กก. และอกไก่ 79 บาท/กก. และไข่ไก่ เบอร์ 3 เฉลี่ย 4.06 บาท/ฟอง เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 4.04 บาท/ฟอง แต่ก็ยังอยู่ในโครงสร้างราคาที่กรมติดตามดูแล

โดยปัจจัยที่ทำให้สินค้ากลุ่มอาหารสดปรับเพิ่มขึ้น มาจากสภาพอากาศร้อน ทำให้ผลผลิตลดลง และมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากช่วงเปิดเทอม การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนใหญ่ทรงตัวและปรับลดลง ตามการจัดโปรโมชั่นของห้าง ทั้งข้าวสาร น้ำตาล อาหารกระป๋อง น้ำปลา ซอสปรุงรส ครีมอาบน้ำ สบู่ น้ำยาซักผ้า นมผง นมยูเอชที บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น

สำหรับปัญหาภัยแล้งเป็นภาวะที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อน และขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตสินค้าอาหารสดขาดแคลน และไม่ทำให้ราคาผักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยกรมจะติดตามภาวะปริมาณและราคาอาหารสดอย่างต่อเนื่อง

ผักสดราคาลง

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สถานการณ์ผักสดมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย โดยปริมาณเริ่มเข้าสู่ตลาดเป็นปกติแล้ว อย่างมะนาว ที่เคยมีปัญหาช่วงแล้งหนัก ๆ เดือน มี.ค.-เม.ย. ตอนนี้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาด 75-80 ตัน/วัน จากก่อนหน้านี้ 45-50 ตัน/วัน ทำให้ราคาเบอร์ 1-2 ปรับลดลงเหลือเฉลี่ย 4.60 บาท/ลูก จากก่อนหน้านี้เฉลี่ย 5 บาท/ลูก และมีแนวโน้มปรับลดลงอีก

กรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน
กรนิจ โนนจุ้ย

ส่วนผักชีมีผลผลิตเข้าสู่ตลาด 130 ตัน/วัน จากช่วงที่ลดมีแค่ 70-80 ตัน/วัน โดยราคาก็เริ่มปรับลดลง ที่ตลาดกลาง 110 บาท/กก. ตลาดสด 130 บาท/กก. และผักอื่น ๆ เช่น คะน้า ราคา 43.50 บาท/กก. กวางตุ้ง 34 บาท/กก. ผักบุ้งจีน 31 บาท/กก. ต้นหอม 103 บาท/กก. พริกขี้หนู 88 บาท/กก. เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการรับมือกับปัญหาผักขาดแคลนหรือปริมาณลดลง กรมได้มีมาตรการติดตามสถานการณ์ผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดกลางสินค้าเกษตรเป็นตัวตั้ง หากมีแนวโน้มผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง ก็จะเข้าไปทำการเชื่อมโยงผลผลิตจากแหล่งผลิตอื่น หรือตลาดอื่น เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งได้ใช้วิธีการนี้บริหารจัดการในส่วนของมะนาวและผักชี ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ด้านราคาไม่ปรับเพิ่มขึ้นจนเกินไป