เปิดตัว 4 คนไทย ได้รับการแต่งตั้ง ขับเคลื่อนมาตรฐานอัญมณี

สถาบันอัญมณีฯเผย 4 คนไทย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการและอนุกรรมการในสมาพันธ์เครื่องประดับโลก (CIBJO) มั่นใจช่วยขับเคลื่อนมาตรฐานอัญมณีและเครื่องประดับ คาดสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมของไทยได้ดีขึ้น

วันที่ 16 ตุลาคม 2566 นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า ในการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาพันธ์เครื่องประดับโลก (World Jewellery Confederation-CIBJO) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่เมืองชัยปุระ อินเดีย ได้มีมติแต่งตั้งผู้แทนจากประเทศไทย เป็นคณะกรรมการของ CIBJO ได้แก่ นายปรีดา เตียสุวรรณ์ จากบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) และตนเอง ซึ่งจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานของ CIBJO

อีกทั้งยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการของ CIBJO ได้แก่ นายทนง ลีลาวัฒนาสุข รองผู้อำนวยการ GIT เป็นรองประธานฝ่าย Gemmological Commission ทำหน้าที่กำหนดเกณฑ์ในการตรวจสอบมาตรฐานด้านการตรวจสอบอัญมณี และนายปิติพงษ์ เตียสุวรรณ จากบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) เป็นประธานกลุ่มที่ 3 ทำหน้าที่ดูแลด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับและเทคโนโลยีการผลิต

“การที่มีคนไทยเข้าไปเป็นคณะกรรมการและอนุกรรมการใน CIBJO จะช่วยให้สามารถผลักดันการสร้างมาตรฐานในมิติต่าง ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งของไทยและระดับโลก ช่วยในการนำเสนอปัญหาและความท้าทายใหม่ ๆ ของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของ AI การผลักดันการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและมีความรับผิดชอบ การแสดงบทบาทของอุตสาหกรรมในการช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การรับมือกับการปรับปรุงคุณภาพอัญมณีชนิดใหม่ ๆ การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นต้น ที่ทำได้ดีขึ้นและเกิดประโยชน์กับไทยมากขึ้น” นายสุเมธกล่าว

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้มีการพบปะหารือในประเด็นสำคัญของอุตสาหกรรมของผู้นำองค์กรสากลด้านอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลก เช่น Responsible Jewellery Council (RJC), The International Colored Gemstone Association (ICA), Jewelers Vigilance Committee (JVC), Gem Jewellery Export Promotion Council (GJEPC), De Beers, The World Diamond Council (WDC) เป็นต้น

ADVERTISMENT

และยังมีคณะนักอัญมณีศาสตร์ที่มีขื่อเสียงระดับโลก และตัวแทนจากห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีชั้นนำ และห้องปฏิบัติการแห่งชาติจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Gemological Institute of America (GIA), National Gemstone Testing Center) (NGTC), HRD Antwerp, Swiss Gemmological Institute SSEF, Gubelin มาร่วมประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหาด้านเทคนิคร่วมกันด้วย