โครงการนาแปลงใหญ่ “ชาวนา” ได้มากกว่าที่คิด

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย มิติประชาชาติ

จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการ “นาแปลงใหญ่” ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตปี 2559 จนสามารถตั้งกลุ่มนาแปลงใหญ่ได้ 301 กลุ่ม ในพื้นที่ 58 จังหวัด ภายหลังจากดำเนินการมาระยะหนึ่ง ได้มีการสุ่มเก็บข้อมูลจากเกษตรกรร้อยละ 20 ของแต่ละกลุ่ม หรือประมาณ 10,674 คนจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 53,372 คน พบว่า

ต้นทุนการผลิตข้าวก่อนเข้าร่วมโครงการเฉลี่ย 4,202 บาทต่อไร่ คิดเป็น 7,052 บาทต่อตัน หลังร่วมโครงการแล้วต้นทุนการผลิตข้าวเฉลี่ย 3,589 บาทต่อไร่ คิดเป็น 5,372 บาทต่อตัน หรืออาจกล่าวได้ว่าเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตข้าวลดลงเฉลี่ย 613 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 14.97 หรือประมาณ 1,681 บาทต่อตัน คิดเป็นร้อยละ 23.34

โดยเกษตรกรนาแปลงใหญ่ในภาคกลางสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่ได้มากที่สุด คือ 741 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 18.74 ของต้นทุนการผลิต ก่อนเข้าร่วมโครงการของเกษตรกรในภาคกลาง ในกรณีต้นทุนการผลิตข้าวต่อตัน เกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวเฉลี่ยต่อตันได้มากที่สุด คือ 2,386 บาทต่อตัน คิดเป็นร้อยละ 27.72 ของต้นทุนการผลิต ก่อนเข้าร่วมโครงการ

นอกจากนั้นยังพบว่า กลุ่มนาแปลงใหญ่ส่วนใหญ่สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวต่อไร่ได้ 300-600 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.44 ของจำนวนนาแปลงใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด แต่เมื่อพิจารณาต้นทุนการผลิตข้าวต่อตันพบว่า นาแปลงใหญ่ส่วนใหญ่สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวต่อตันได้ 1,000-2,000 บาทต่อตัน

ที่สำคัญเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ไม่เพียงสามารถลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าวเท่านั้น แต่เกษตรกรยังมีการรวมกลุ่ม สร้าง “อำนาจต่อรอง” กับโรงสีได้มากขึ้น

ราคาที่เคยขายให้โรงสีได้เงินสุทธิเหลือเพียง 2 ใน 3 จากการใช้สินเชื่อไปซื้อปัจจัยการผลิตเพื่อปลูกข้าวจากโรงสีก่อนหน้านี้ก็จะหมดไป ยิ่งมีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในยุ้งฉางเกษตรกรอัตราดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำให้เก็บข้าวรอขายได้นานขึ้น

ดั่งเช่นปีนี้ในภาคอีสาน เกษตรกรเก็บข้าวโดยจำนำกับ ธ.ก.ส.มากกว่า 9 แสนตันข้าวเปลือก จึงดันให้ราคาข้าวหอมมะลิพุ่งสูงจากตันละ 11,000-12,000 บาทในปีการผลิตก่อน เป็นตันละ 17,000-18,000 บาทต่อตัน ในปีการผลิต 2560/2561 นี้

แม้ว่าสาเหตุที่ส่วนหนึ่งราคาข้าวหอมมะลิจะขึ้นมาจากเกษตรกรแห่ไปปลูกข้าวเหนียวกันมากในปี 2560 จากราคาข้าวเหนียวในปี 2559 พุ่งจากตันละ 6,000 บาท เป็นตันละ 12,000 บาท และผลผลิตส่วนหนึ่งเสียหายจากน้ำท่วมก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโครงการนี้ให้ประโยชน์กับเกษตรกรไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ยังต้องลุ้นว่าการผลิตข้าวนาปี 2561/2562 เกษตรกรอาจประสบปัญหาพันธุ์ราคาตกต่ำลงอีกได้ เนื่องจากการแห่ปลูกมากเกินไป รวมทั้งผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังฤดูแล้งนี้ที่มีมากเกินไป 7.8 ล้านไร่ สูงกว่าแผน 5.1 ล้านไร่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงราคาข้าวหอมมะลิในนาปีรอบนี้ว่าอาจจะปรับลดลงได้