
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ หั่นคาดการณ์ GDP ของไทยปี 2566 โต 2.5% จากเดิม 3% สาเหตุจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีน การลงทุนของภาครัฐไม่เติบโต ส่วนปี 2567 คาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.2% ไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเลต
วันที่ 2 มกราคม 2567 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า จากต้นปี 2566 เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว เศรษฐกิจจีนฟื้นจากโควิด-19 สหรัฐมีการระวังจับจ่ายใช้สอย ยุโรปเศรษฐกิจยังไม่ดี ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 โต 3% แต่เมื่อกลางปีไทยมีเพียงรัฐบาลรักษาการ ยังไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป้าหมายนักท่องเที่ยวทั้งปีไม่ตามเป้า แม้การส่งออกจะโต จึงได้ปรับประมาณเศรษฐกิจทั้งปีเศรษฐกิจโตแค่ 2.5%

“แม้การบริโภคภาคเอกชนเป็นพระเอกสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และได้การส่งออกที่พลิกกลับมาขยายตัวได้ในช่วงปลายปี อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงกระทบอยู่”
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะต้องติดตามสถานการณ์และปัจจัยที่มีผลกระทบ เช่น สงครามอิสราเอล-ฮามาส ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐและจีน การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภัยธรรมชาติและการติดตามโครงการดิจิทัลวอลเลตว่าจะผ่านหรือไม่ การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) การมีเสถียรภาพของการเมืองไทย อัตราเงินเฟ้อ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทั้งปีคาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว 3.2%
อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 1 ของปี 2567 คาดว่าการท่องเที่ยวจะเติบโต ซึ่งจะมีผลต่อการกระตุ้นและการจับจ่าย ดังนั้นภาครัฐอาจจะต้องมีการโปรโมตการท่องเที่ยวของไทยอย่างต่อเนื่อง
ม.หอการค้าไทยหั่น GDP ไทย 2566
นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทย ในปี 2566 ลงเหลือ 2.5% จากที่เคยประเมินไว้ที่ขยายตัว 3% พร้อมคาดการณ์ว่าการส่งออกไทยในปี 2566 จะอยู่ที่หดตัว 0.9% จากเดิมหดตัว 2% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.3% จากเดิม 1.8% หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 89.8% จากเดิม 89.5% ต่อ GDP และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 28 ล้านคน จากเดิมมองไว้ 30 ล้านคน
โดยสาเหตุการปรับลด GDP ลงมาจาก GDP ไตรมาส 3/66 ขยายตัวได้เพียง 1.9% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ ระดับสินค้าคงคลังยังลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลมาจากภาคการผลิตยังไม่มีความมั่นใจว่าถ้าผลิตสินค้าใหม่ ๆ ออกมาแล้ว จะสามารถจำหน่ายได้หรือไม่ จึงชะลอการผลิตและนำสินค้าในสต๊อกเดิมที่มีอยู่ออกมาจำหน่าย โดยยังไม่ผลิตเพิ่ม
นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวได้ช้า ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้ แรงขับเคลื่อนทางการคลังที่ลดลง จากผลของการที่ยังไม่มี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จึงทำให้การใช้จ่ายในส่วนของการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาครัฐยังไม่เกิดขึ้น พร้อมทั้งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจีดีพีและสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ในปี 2566 ยังมีปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เช่น การใช้จ่ายของภาคเอกชน ทั้งการบริโภคและการลงทุนยังเติบโต การส่งออก ในช่วงไตรมาส 4 พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้ง
เศรษฐกิจปี 2567 โต 3.2%
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดการณ์ว่า GDP จะขยายตัวได้ 3.2% (ยังไม่รวมผลของโครงการดิจิทัลวอลเลต) การส่งออกพลิกกลับมาโต 3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2% หนี้ครัวเรือน ลดลงมาอยู่ที่ 87.8% ต่อ GDP และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน โดยเป็นการประเมินกรณีพื้นฐานทั่วไป
แต่หากประเมินกรณีแย่มีปัจจัยเข้ามากระทบ เศรษฐกิจของไทยจะขยายตัว 2.2% การส่งออกขยายตัว 1.9% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.3% หนี้สินภาคครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 88.7% แต่หากประเมินกรณีที่ดีที่สุด เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.5% โดยรวมโครงการดิจิทัลวอลเลต การส่งออกขยายตัว 3.0% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.4% หนี้ต่อครัวเรือนอยู่ที่ 86.8%
ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ได้แก่ การฟื้นตัวอย่างชัดเจนของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวในเกณฑ์ดี การลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ดี การส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวเป็นบวก อัตราเงินเฟ้อมีสัญญาณชะลอตัว และรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มขยายขอบเขตมากขึ้น เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังคงมีข้อจำกัดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังคงสูงกดดันการบริโภคและการลงทุน ปัญหาภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงมากกว่าปีก่อน หุ้นกู้ที่ครบกำหนดปริมาณมากอาจกดดันให้บริษัทขนาดกลาง-เล็กเสี่ยงล้มละลาย