บีโอไอ ไฟเขียวมาตรการส่งเสริมลงทุนผลิตแบตเตอรี่ EV

EV

ตามคาดบอร์ด EV ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เตรียมดึงยักษ์ระดับโลก BYD CATL EVE พานาโซนิค ซัมซุง LG ลงทุนในไทย เปิด 4 เงื่อนไข ได้เว้นภาษี 8 ปี เงินอุดหนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ พร้อมขอวงเงินกองทุนเพิ่มจากเดิมที่มี 10,000 ล้านบาท

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นายนฤตม์ เทอดสถียรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด EV ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าบอร์ด EV ได้พิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์

นฤตม์ เทอดสถียรศักดิ์
นฤตม์ เทอดสถียรศักดิ์

ซึ่งเป็นการผลิตต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยผู้ลงทุนจะสามารถขอรับสิทธิประโยชน์และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ภายใต้บีโอไอ โดยมีเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับผู้ลงทุน ดังนี้

1.ต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำที่มีการใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันจีนมีหลายราย เช่น BYD CATL EVE พานาโซนิค ซัมซุง LG เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนรายใหญ่เหล่านี้คือเป้าหมายที่บีโอไอจะดึงการลงทุนเข้ามา เพื่อตั้งฐานการผลิตแบต EV ระดับเซลล์

เงื่อนไขที่ 2.ต้องมีแผนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยได้ 3.ต้องผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีค่าพลังงานจำเพาะ ไม่น้อยกว่า 150 Wh/Kg

และ 4.ต้องมีจำนวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle) ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ โดยกำหนดเวลายื่นข้อเสนอโครงการลงทุนภายในปี 2570 ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะพิจารณากำหนดรายละเอียดของหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติต่อไป

ADVERTISMENT

“แบตเตอรี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอีวี ปัจจุบันมีผู้ผลิตแบตเตอรี่ในระดับโมดูลและแพ็กในประเทศหลายราย แต่เรายังขาดต้นน้ำที่สำคัญ คือการผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง การออกมาตรการส่งเสริมในครั้งนี้ เพื่อดึงบริษัทชั้นนำของโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอีวีไทย แต่ยังช่วยต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางโลกที่มุ่งให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดในการดำเนินธุรกิจ”

สำหรับการมาตรการส่งเสริมแบตเตอรี่ EV ที่ผ่านมา ให้การส่งเสริมระดับโมดูลจะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล 8 ปี (แคปวงเงิน) และระดับแพ็กยกเว้นภาษี 5 ปี (แคปวงเงิน) ซึ่งทั้ง 2 ระดับนี้ไม่มีอุดหนุนจากกองทุน ส่วนระดับเซลล์ยกเว้นภาษี 8 ปี (ไม่แคปวงเงิน) มีเงินอุดหนุนจากกองทุน ทั้งนี้ยกเว้นภาษีอยู่ที่การเจรจา ซึ่งสามารถได้ยกเว้นสูงสุดถึง 15 ปี หากมีเงื่อนไขที่ดี่ที่สุดให้กับประเทศไทย

ADVERTISMENT

ส่วนการใช้เงินกองทุนเพื่อการอุดหนุนนั้น จะพิจารณาว่ารายนั้น ๆ มีกำลังการผลิตใหญ่ขนาดไหน ใหญ่มาก และป้อนให้กับ EV ก็ได้เงินอุดหนุนมาก กำลังการผลิตน้อยป้อนให้แค่ระบบกักเก็บพลังงานอย่างเดียวก็ได้น้อยลงมา นี่เป็นครั้งแรกที่จะดึงเงินกองทุนมาใช้ในมาตรการ EV แต่ก่อนหน้านี้เงินกองทุนได้นำไปใช้เพื่ออุดหนุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ทั้งนั้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์ กิจการเซมิคอนดักเตอร์ การแพทย์ ไบโอ และดิจิทัลในอัตราที่ 30-40% ของเงินลงทุน

ล่าสุดบีโอไอยังได้ขอเพิ่มวงเงินกองทุนเพิ่มจากเดิมมีอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท ด้วยต้องการใช้เป็นเครื่องมือดึงการลงทุนเพิ่มที่ใช้ทั้งใน S-curve และ EV