เปิด 17 นักลงทุนทุ่มผลิตแบต EV 12,000 ล้าน ผลักดันสู่ระบบกักเก็บพลังงานในบ้าน

แบต EV

บีโอไอ เผยนักลงทุนปักหมุดทุ่มสายการผลิตแบตเตอรี่ EV ไม่ขาดสาย เปิดรายชื่อ 17 บริษัท ทะลุ 12,000 ล้านบาทลุ้นสิทธิประโยชน์จากบอร์ด EV เร็ว ๆ นี้ ด้าน สมาคมกักเก็บพลังงานแห่ชาติ ชี้รัฐต้องกำหนดนโยบายให้ชัด ออกมาตรการครอบคลุมทั้งผู้ใช้ ผู้ผลิต และ มอก. แบต EV มือ 2 ผลักดันสู่การกักเก็บพลังงานในบ้าน

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภาพรวมการลงทุนในส่วนของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ว่า ตลอดปี 2566 มีนักลงทุนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่อผลิตแบตเตอรี่ EV จำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากดีมานของตลาดรถ EV เริ่มเติบโตขึ้นมาก บวกกับมาตรการส่งเสริมในหลาย ๆ ส่วนที่เป็นช่วยผลักดันให้เกิดการลงทุน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

โดยตัวเลข ณ วันที่ 31 ม.ค. 2567 พบว่า มีโครงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ทั้งหมด 17 ราย (23 โครงการ) เงินลงทุนรวม 11,901.8 ล้านบาท กำลังการผลิต 11,681.3 MWh ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ดีทีเอส แดร็คเซิลไมเออร์ ออโทโมทีฟ ซีสเท็ม (ประเทศไทย), โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย, ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย), ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง, เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี, ไมน์ โมบิลอตี้ คอปอเรชั่น, เอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้ง

นิสสัน พาสเวอร์เทรน (ประเทศไทย), สโฟวล์ท เอเนอจี้ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์), บีวายดี ออโต้ คอมโพเนนท์ส(ประเทศไทย), วิชชุฆนี, MR.CHENG CHEW HO (ยังไม่จดทะเบียนจัดตั้ง), ราชาไซเคิล, สมบูรณ์ ทรอน เอนเนอจี้, ฮาสโก้-ซีพี, นายวิชิต  อินทร์กันหา (ยังไม่จดทะเบียนจัดตั้ง) และอีซูซุมอเตอร์

ในส่วนของมาตรการส่งเสริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์สำหรับแบต EV ในส่วนของผู้ผลิตจะมีการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้า (บอร์ด EV) ซึ่งจะพยายามผลักดันให้ออกมาตรการมาเร็ว ๆ นี้ เพราะกิจการดังกล่าวสำคัญกับในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมรถ EV มาก และจะเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายในการดึงเข้ามาลงทุนด้วยเช่นกัน

สำหรับกิจการผลิตแบตเตอรี่ ประกาศขณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 9/2565 วันที่ 8 ธันวาคม 2565 เรื่องมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ประเภทกิจการผลิตอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า (Battery for EV) และ ประเภทกิจการผลิตแบตเตอรี่ความจุสูง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ามีค่าพลังงานจำเพาะไม่น้อยกว่า 150 Wh/Kg และมีจำนวนรอบการอัดประจุไม่น้อยกว่า 500 รอบ

โดยสิทธิประโยชน์แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ กลุ่ม A1 หากเป็น Cell Production กลุ่ม A2 หากเป็น  Module Production or C-T-P กลุ่ม A3 หากเป็น Pack Assembly

นางพิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไทย (Thailand Energy Storage Technology Association-TESTA) กล่าวว่า แบตเตอรี่คือหัวใจสำคัญของรถ EV ที่ต้องการแรงส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐรวมถึงนโยบายที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นทั้งตัวแบต EV และตัวกักเก็บพลังงาน และจากที่ทำการศึกษามาตลอดหลายปีทำให้พบว่าแบตเตอรี่ EV นั้นเมื่อใช้ไประยะเวลา 5 ปี จะมีการเสื่อมสภาพ แต่จะมีประสิทธิภาพในการดึงมาเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานในบ้าน รัฐจำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมออกมา ต้องกำหนด มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) แบตเตอรี่ EV ที่ใช้แล้ว เพื่อความปลอดภัยในการในกลับมาใช้งาน

นางพิมพา ลิ้มทองกุล

“ตอนนี้นโยบายรัฐไม่ชัดเจน ไม่มีการส่งเสริม ไม่มีสิทธิประโยชน์ ซึ่งในการประชุมบอร์ด EV ทางสมาคมเป็นหนึ่งในกรรมการในชุดของอนุกรรมการบอร์ด EV ได้เคยมีการเสนอไปแล้วว่าควรต้องส่งเสริมแบต EV ระดับเซลล์ โมดูลแพ็ก ให้ครบ ต้องมีทั้งมาตรการทางด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพราะขณะนี้มีเพียงในส่วนของเงินอุดหนุนส่วนของผู้ใช้ดังนั้นจึงต้องมีเหมือนกับที่ส่งเสริมผู้ผลิตรถ EV ส่วนหนึ่งอาจด้วยนักลงทุนยังไม่เห็นดีมานที่เกิดขึ้นมาพอ จึงใช้รูปแบบการนำเข้าแบตทั้งก้อน แต่ก็ต้องยอมรับในเรื่องของราคาที่ยังสูงอยู่”

สำหรับเป้าหมายของไทยนอกจากจะเป็น EV Hub แล้ว ยังมีเป้าให้เป็นฐานการผลิตและใช้แบตเตอรี่ EV ระบบกักเก็บพลังงานของอาเซียนเช่นกัน และขณะนี้ไทยมีการพบแหล่งแร่ลิเทียม แม้จะยังไม่รู้ว่าปริมาณลิเทียมที่ได้มานั้นจะมากน้อยขนาดไหน แต่ถือว่าไทยมีต้นน้ำแล้ว ต่อให้กระบวนการที่จะได้มาเป็นแบตเตอรี่ EV นั่นจะอีกนาน ซึ่งอาจเป็น 10 ปี แต่อย่างน้อยไทยก็มีจุดเริ่มต้นแล้ว ซึ่งขณะนี้มีการผลิตแบตที่เป็นระดับแพ็กแล้ว

 

แบต EV