บีโอไอ หนุนผู้ใช้รถบัส-รถบรรทุก EV หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า

บีโอไอ หนุนผู้ใช้รถบัส-รถบรรทุก EV หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า

บอร์ด EV เคาะมาตรการสนับสนุนใช้รถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า หากซื้อมาใช้งานได้ 1.5 เท่า เมื่อนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมขยายขอบเขตให้รถโดยสารที่นั่งไม่เกิน 10 คน-มอเตอร์ไซค์แบตต่ำกว่า 3 kWh เข้ามาตรการ EV 3.5 ได้ เผย EV ลงทุนแล้ว 103 โครงการ เฉียด 80,000 ล้านบาท

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด EV ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ

มาตรการดังกล่าวจะอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งาน โดยไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง ในกรณีซื้อรถที่ผลิต/ประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า และในกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า ไม่จำกัดจำนวนคันและราคา

โดยมาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี 2568 และที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป จากนี้ตามกระบวนการรอทางกระทรวงการคลัง ส่งไปที่กฤษฎีกา ครม. เห็นชอบ และทูลเกล้า ซึ่งอาจใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่จะมาขอมาตรการดังกล่าวต้องรอ ครม. เห็นชอบกฤษฎีกาก่อน

“การที่บอร์ดอีวีได้ออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากมาตรการ EV 3 และ EV 3.5 ที่เน้นกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถกระบะเป็นหลัก คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน ช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่ง และตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางอีวีของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภท เป้ารถ E-Bus ประมาณ 6,000 คัน รถ E-Truck 4,000 คัน

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ บอร์ด EV ยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 3 kWh แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า 75 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น

ที่ผ่านมา มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐสามารถกระตุ้นตลาดอีวีในประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีที่สูงถึงกว่า 76,000 คันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.5 เท่าจากปีก่อน นำมาสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีแบบครบวงจร

ADVERTISMENT

โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 บีโอไอได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท แบ่งเป็น รถยนต์อีวี 18 โครงการ 40,004 ล้านบาท รถจักรยานยนต์อีวี 9 โครงการ 848 ล้านบาท รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี 3 โครงการ 2,200 ล้านบาท แบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและ ESS 39 โครงการ 23,904 ล้านบาท ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ 6,031 ล้านบาท และสถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ 4,205 ล้านบาท

“ตอนนี้มันเป็นจังหวะปีทองของไทย ต้องมีอาวุธให้พร้อม มาตรการส่งเสริมที่มีให้สำหรับอุตสาหกรรม EV หลัก ๆ ครบแล้ว ซึ่งจากนี้เราก็ต้องรักษาโมเมนตัมไว้ให้ได้ ต่างประเทศอาจจะเห็นการเติบโตที่เริ่มแผ่วลง แต่ในไทยมันยังเติบโตเห็นได้จากตัวเลขที่เรามี ซึ่งตามปกติการส่งเสริมต่าง ๆ กลไกของมันก็ไม่แปลกที่เมื่อตลาดมันเริ่มโต มีดีมานเกิดขึ้น การส่งเวริมก็ต้องลดลง ทยอยถอยลงก็เห็นได้จาก EV 3 ให้เยอะ พอมาเป็น EV 3.5 ก็จะได้น้อยลง และในอนาคตเราอาจจะมี EV 4.0 ก็ได้ เพราะทุก ๆ มาตรการเราไม่ได้ตายตัวเรายืดหยุ่นและปรับไปตามสถานการณ์”