
‘ธรรมนัส’ รมว.เกษตรฯ เตรียมเปิดด่านสิงขรขนถ่ายสินค้าประมง 24 เมษายน 2567 พร้อมช่วยแก้ปัญหาชาวประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้าน อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เดินหน้ามาตรการช่วยเหลือประมง
วันที่ 7 เมษายน 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เรียกประชุมเตรียมความพร้อมเปิดด่านพรมแดนด่านสิงขร เพื่อเป็นศูนย์ขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำที่ได้มาตรฐาน พร้อมดันจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นโมเดลต้นแบบทั้งภาคเกษตรและภาคการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ด่านผ่อนปรนพิเศษ ยังไม่ใช่ด่านผ่านแดนถาวร ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งบริเวณขนถ่ายสินค้า (No man land) เป็นพื้นที่อ้างสิทธิระหว่างไทย-เมียนมา มีความแออัดในการขนถ่ายสินค้า และไม่เป็นไปตามมาตรฐานของสุขอนามัย รวมถึงมีความไม่ปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน
จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดในการประชุมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตราการร่วมกัน และให้กระทรวงเกษตรฯ เข้าร่วมการประชุมด้วย อย่างไรก็ตาม การกำหนดพื้นที่ในการขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย จะสามารถใช้กฎหมายในการควบคุมและกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพได้
“การเตรียมความพร้อมในการเปิดด่านพรมแดนด่านสิงขร รัฐบาล โดยกระทรวงการต่างประเทศจะเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ให้ทั้ง 2 ประเทศมีความพร้อมในการเปิดด่าน ซึ่งในวันที่ 24 เม.ย.นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการนำสินค้าภาคการเกษตรเข้ามาสู่ราชอาณาจักร โดยเฉพาะสินค้าประมง จึงมอบหมายกรมประมงและองค์การสะพานปลา เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดสรรพื้นที่เพื่อเป็นตลาดตรวจรับสินค้าภาคการเกษตรอย่างถูกต้อง”
สำหรับการลงพื้นที่พบปะชาวประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อรับฟังปัญหาการทำประมงพื้นบ้าน พร้อมชมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ (กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง) ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และตรวจติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างท่าเทียบเรือ โดยมี นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ต.เขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รับฟังปัญหาการทำประมงพื้นบ้าน
ทางกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้ชี้แจงและสร้างความเข้าใจในเรื่องการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พร้อมติดตามข้อเสนอของสมาคมสมาพันธ์ชางประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เช่น การสร้างท่าเทียบเรือให้กับชาวประมงพื้นบ้าน การสนับสนุนน้ำมันราคาถูก การพิจารณาแนวเขตชายฝั่งทะเล ต่ำกว่า 1.5 ไมล์ทะเล การดำเนินงานของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด และการแก้ไขราคาสินค้าประมงตกต่ำ
“การลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อมารับฟังปัญหาจากพี่น้องชาวประมงโดยตรง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นและสะสมมานาน และจากข้อเรียกร้องต่าง ๆ ได้มีการลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาข้อเรียกร้องของชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน อะไรก็ตามที่เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จะเร่งแก้ไขให้ได้อยากแน่นอน” ร้อยเอกธรรมนัสกล่าว
นอกจากนี้ ในส่วนของการพัฒนาภาคการเกษตร โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาภัยแล้งทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ปัญหา โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด อีกทั้งเร่งพัฒนาอาชีพภาคการเกษตรให้หันมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นโมเดลต้นแบบทั้งภาคเกษตรและภาคการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดอื่น ๆ และจะนำเสนอ ครม. ในภาพรวมต่อไป
ทั้งนี้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยทุกอำเภอ มีความยาวชายฝั่งทะเล 224.8 กิโลเมตร มีเรือประมงพื้นบ้าน 3,245 ลำ มีองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านการประมงชายฝั่ง จำนวน 56 องค์กร ชนิดเครื่องมือที่ใช้กัน เช่น อวนครอบหมึก (ไดหมึก) ครอบปลากะตัก อวนจมปลาทู อวนลอยปลา อวนลอยกุ้ง เป็นต้น โดยในพื้นที่อำเภอกุยบุรีมีเรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 287 ลำ เรือประมงพาณิชย์ จำนวน 34 ลำ สำหรับบ้านทุ่งน้อยร้อยละ 90 มีอาชีพประมง