
สสว. สำรวจความเห็น SMEs พบสนใจนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทลดลง กังวลเงื่อนไข-การเบิกจ่าย
วันที่ 3 มิถุนายน 2567 มติชน รายงานว่า น.ส.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีต่อนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท
โดยการสำรวจดังกล่าวเป็นการสำรวจครั้งที่ 2 หลังจากการสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2566 เพื่อเจาะลึกความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs สำหรับความพร้อมและความสนใจเข้าร่วมโครงการ รวมถึงแผนการใช้จ่ายเงินดิจิทัล
โดยการสำรวจครั้งนี้เป็นการสอบถามจากผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 2,704 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 19-30 เมษายน 2567 พบว่า สัดส่วนความสนใจในการเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการ SMEs อยู่ที่ร้อยละ 75.2 ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่มีสัดส่วนความสนใจในการเข้าร่วมมากถึงร้อยละ 82.9
มีสาเหตุมาจากความกังวลเรื่องการใช้สิทธิและการเบิกจ่ายเงิน เงื่อนไขของโครงการที่ให้ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่สามารถเข้าร่วมได้ ทำให้ธุรกิจรายเล็กมีความกังวลต่อยอดผู้ที่จะมาใช้บริการ และบางกลุ่มธุรกิจประเมินว่าธุรกิจของตนไม่เหมาะกับโครงการ รวมถึงการขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์/เครื่องมือหรือทักษะความรู้ในการใช้งาน Super App
สำหรับแผนการใช้จ่ายเงินดิจิทัลของผู้ประกอบการ SMEs พบว่าผู้ประกอบการ SMEs มีแผนการใช้จ่ายเงินปรับเปลี่ยนไป เมื่อเทียบจากผลสำรวจครั้งก่อน โดยผู้ประกอบการ SMEs ร้อยละ 77 ประเมินว่าจะนำเงินไปใช้จ่ายในหมวดสินค้าในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 22.7 มีแผนนำเงินไปลงทุนต่อยอดทางธุรกิจ
ขณะที่ผลสำรวจครั้งก่อนพบว่า ผู้ประกอบการ SMEs จะนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 69.6 และร้อยละ 30.4 จะนำไปลงทุนในธุรกิจ
นอกจากนี้ เงื่อนไขของโครงการที่กำหนดว่าต้องใช้ในร้านค้าขนาดเล็กก่อน 2 รอบ ถึงเบิกเป็นเงินสดได้ ผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการ SMEs ร้อยละ 54.4 ที่สนใจเข้าร่วมโครงการมีแผนการนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่ายสินค้าในครัวเรือนมากที่สุดสำหรับการใช้จ่ายเงินรอบที่ 1 แต่สำหรับการใช้จ่ายครั้งที่ 2 ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ต้องการเบิกถอนเป็นเงินสดออกมาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและนำเงินไปต่อยอดในการทำธุรกิจ
นอกจากนี้ ในการสำรวจได้ให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ประเมินแนวโน้มด้านยอดขายและ/หรือบริการของตนจากการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ประเมินว่าธุรกิจของตนจะมียอดขายและ/หรือบริการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 21-40 ตลอดระยะเวลาจนสิ้นสุดโครงการ เพราะคาดการณ์ว่าผู้ที่มีสิทธิจะทยอยใช้งานอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ผู้ประกอบการ SMEs เคยประเมินว่าธุรกิจของตนจะมียอดขายและ/หรือบริการเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 จากการเข้าร่วมโครงการ และระยะเวลาที่ยอดขายและ/หรือบริการเพิ่มขึ้นน่าจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจระบุว่าผู้ประกอบการ SMEs ยังคงมีความกังวลในด้านระบบและขั้นตอนรองรับ รวมถึงเสถียรภาพของการใช้งานในแอปพลิเคชั่นใหม่มากที่สุด รองลงมาคือเงื่อนไขและการใช้สิทธิ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจรายเล็กและธุรกิจขนาดย่อม กังวลว่าไม่มีร้านค้าที่ตรงตามความต้องการในพื้นที่ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไปใช้จ่ายร้านสะดวกซื้อรายย่อย เช่น 7-11 สำหรับด้านอื่น ๆ คือการกลัวโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง
ในด้านข้อเสนอแนะ ผู้ประกอบการ SMEs ต้องการให้มีการปรับรูปแบบการเบิกจ่ายเป็นเงินสดเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจของตนเอง เช่น กลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่ต้องการหมุนเงินแบบวันต่อวัน เป็นต้น รองลงมาคืออยากให้มีการใช้สิทธิในแอปเป๋าตังเหมือนเดิม เนื่องจากมีความกังวลต่อการเรียนรู้การใช้งาน Super App ของโครงการ
และผู้ประกอบการ SMEs ยังเสนอให้ลดเงื่อนไขในการจำกัดพื้นที่การใช้งาน ให้สามารถใช้งานได้ทั่วประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs ต้องการความหลากหลายของสินค้าที่ให้บริการ จึงมีความต้องการซื้อสินค้า/วัตถุดิบทั้งจากตลาด/ร้านค้าภายในและนอกอำเภอ