“รถยนต์นั่งไฟฟ้า EV” ไม่เกิด สศอ. แนะ BOI เลิกแพ็กเกจพ่วงค่ายรถ

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แนะ BOI ปรับแพ็กเกจรถยนต์ไฟฟ้า EV-สถานีชาร์จไฟใหม่ หลัง 1 ปี 2 เดือนที่ผ่านมายังไม่มีค่ายรถยนต์รายใดยื่นขอรับการส่งเสริม เหตุ 8 ค่ายรถยนต์หลักมุ่งไปที่รถแบบไฮบริด-ปลั๊กอินแทน ที่เหลือยังติดโครงการรถยนต์ ecocar การลงทุนโครงการใหม่ต้องรอโครงการเก่าผลิตคุ้มทุนก่อน ยกเว้นค่ายเบนซ์ที่ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่แล้ว

นับเป็นเวลามากกว่า 1 ปี 2 เดือนหลังจากที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้เปิดให้มีการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ (เดือนมีนาคม 2560) ปรากฏจนกระทั่งถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้รับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (battery electric vehicle หรือ BEV)

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนและอุปกรณ์กำลังจะสิ้นสุดการเปิดรับคำขอภายในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ หรือเท่ากับผู้ประกอบการมีระยะเวลาเหลืออยู่เพียง 7 เดือนเท่านั้น โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (hybrid electric vehicle หรือ รถ HEV) กับ โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (plug-in hybrid electric vehicle หรือ รถ PHEV) มากกว่า

“ถามว่า 8 ค่ายรถยนต์ที่ไปยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับทาง BOI ในแพ็กเกจยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) ไปเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา จะยื่นขอลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า(EV) หรือที่ใช้แบตเตอรี่เพียว ๆ เพิ่มหรือไม่ตรงนี้คงต้องใช้เวลาถึง 7 ปีเพราะ การลงทุนรถยนต์ไฮบริด HEV กว่าจะคุ้มทุนก็ 5 ปี และจะต้องใช้เวลาทำแผนเตรียมโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV อีก 2 ปี แต่ที่สำคัญก็คือ BOI มีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรถไฟฟ้า EV จะต้องผลิตแบตเตอรี่ได้เองอีกด้วย ซึ่งตอนนี้มีเพียงค่ายเบนซ์รายเดียวเท่านั้นที่พร้อม เพราะได้ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่แล้ว” นายศิริรุจ กล่าว

ทั้งนี้จากการหารือกับนักลงทุนญี่ปุ่นในการผลิตรถไฟฟ้า EV ยังคงมีความกังวลในเรื่องของผู้ผลิตชิ้นส่วน (supplier) ยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนให้กับรถ EV ได้ แม้ตัวสถานีชาร์จ(EV charger) จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเต็มที่ แต่ในแพ็กเกจรถ EV ที่ผ่าน ครม. ไปเมื่อปีที่แล้วกลับไปกำหนดการให้สิทธิประโยชน์ไว้ว่า สถานีชาร์จจะได้รับส่งเสริมการลงทุนต่อเมื่อจับคู่พ่วงมากับค่ายรถผู้ผลิต จากเหตุผลในขณะนั้นที่ว่า สถานีชาร์จยังไม่มีนักลงทุนรายใดลงทุนเฉพาะตัวสถานีเดี่ยว ๆ อย่างเดียว เนื่องจากต้นทุนสถานีสูงเมื่อเทียบกับดีมานด์รถไฟฟ้า “มันจึงไม่คุ้ม” ดังนั้นในอนาคตรัฐบาลควรจะปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ผู้ผลิตสถานีชาร์จที่ลงทุนเฉพาะตัวสถานีอย่างเดียวให้ได้รับส่งเสริมการลงทุนโดยไม่ต้องพ่วงการลงทุนมากับค่ายรถยนต์

“ที่ BOI ให้สิทธิประโยชน์พ่วงระหว่างค่ายรถผู้ผลิตรถไฟฟ้ากับตัวสถานีชาร์จก็เพราะมันจะเป็นการลงทุนสำหรับรถ EV แท้ ๆ ไม่อย่างนั้นเมื่อลงทุนเดี่ยว ๆ แล้วมันไม่คุ้มเขาจะผลิตอย่างอื่นไปด้วย ทำให้สุดท้ายเราจะไม่ได้สถานีชาร์จ EV เพียว ๆ แต่ในอนาคตเราก็ต้องดูหากอะไรที่ปรับแก้ได้เพื่อให้เกิดการลงทุน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า EV ได้เร็วก็ควรจะพิจารณาทบทวนกันอีกครั้ง” นายศิริรุจกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ชุดนโยบายส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน/อุปกรณ์ ของ BOI จะถูกประกาศใช้ออกมา ทาง BOI เคยหารือกับผู้ประกอบการรถยนต์ภายในประเทศอย่างน้อยมีอยู่ 4 ราย ได้แก่ Nis-san-Mercedes-Benz-BMW-FOMM ที่แสดงความสนใจจะลงทุนผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้า แต่มีความเห็นว่า แนวทางการสนับสนุนด้านภาษีของรัฐบาลชุดปัจจุบันยังไม่ “จูงใจ” ให้มีการลงทุนเกิดขึ้น

โดยมีผู้ประกอบการบางรายเสนอให้มีระยะเวลาในการ “ทดลอง” ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าด้วยการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน (CBU) อย่างน้อย 2-3 ปีขึ้นไป

ส่วนผู้ประะกอบการค่าย Toyota-Honda-Isuzu ยังไม่มีแผนการลงทุนและทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) อย่างจริงจัง โดยทั้ง 3 ค่ายนี้มุ่งเน้นไปที่การทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม hybrid เพราะเห็นว่า เทคโนโลยีเดิมยังคงสามารถพัฒนาต่อไปได้ ส่วนค่ายรถยนต์ที่ลงทุนในโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน ecocar ไปแล้วก็ยังไม่มีความพร้อมที่จะเริ่มโครงการรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ขึ้นมาอีก

ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่า ค่ายรถเบนซ์ และ BMW กำลังอยู่ในระหว่างยื่นขอรับส่งเสริมรถไฟฟ้า EV อยู่