จี้รัฐพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่สู้เวียดนาม-กัมพูชา

“เอเซีย โกลเด้น ไรซ์” ยักษ์ส่งออกข้าวเบอร์ 1 เตือนรัฐรับมือ “เวียดนาม-กัมพูชา” รุกส่งข้าวพันธุ์ใหม่ชิงตลาดข้าวไทย ฟาก “กรมการข้าว” เร่งพัฒนาพันธุ์ใหม่เกือบ 10 พันธุ์ ตอบโจทย์ลูกค้าจีนเน้นขาว-นุ่ม-ผลผลิตต่อไร่สูง

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธาน บริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดส่งออกข้าวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะคู่แข่งอย่างเวียดนามได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวขาวชนิดใหม่เพื่อรุกตลาดข้าวขาวคุณภาพสูงมากขึ้น ทั้งแต่ละชนิดยังมีผลผลิตสูง 900-1,000 กก.ต่อไร่ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 500 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ข้าวไทยมี 2 กลุ่ม คือข้าวหอมมะลิราคาสูงในตลาดบน และข้าวขาว ที่มีราคาตันละ 300-400 เหรียญสหรัฐทำให้มีช่องว่างในตลาดสำหรับข้าวขาวคุณภาพกลาง ๆ ราคา 400-500 เหรียญสหรัฐ

“แม้ปีที่ผ่านมาไทยจะส่งออกได้ 11 ล้านตัน และปีนี้คาดว่าจะทำได้ 10 ล้านตัน มียอดส่งออกในบางตลาดมากขึ้น เพราะเวียดนามไม่เข้ามาแข่งประมูลข้าวเช่นในอดีต ขณะที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สู้ราคากันตายไปข้างหนึ่งก็ไม่ยอมจบ แต่ในระยะหลังเริ่มลงตัวเห็นภาพชัดมาปีกว่าแล้ว แต่เรารับรู้ช้า หมกหมุ่นแก้ปัญหาสต๊อกข้าวสารของเราเอง ขณะที่เวียดนามพัฒนาสายพันธุ์ข้าวมากขึ้น เอกชนเวียดนามลงทุนศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวได้ แต่ของไทยมีข้อจำกัดเรื่องกฎหมายจึงมีเอกชนไม่กี่รายที่ลงทุนทำ”

สำหรับภาพรวมการส่งออกอย่างเป็นทางการของเวียดนามแม้ตัวเลขลดลงเหลือ 5.5 ล้านตันต่อปีจากเดิม 6.5 ล้านตันต่อปี แต่ไม่ใช่เพราะส่งออกได้น้อยลง แต่มีข้อมูลตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการว่าเวียดนามส่งออกข้าวผ่านชายแดนไปจีนได้ถึงปีละ 1-2 ล้านตันต่อปี สินค้าเวียดนามไม่ได้น้อยลง และยังดึงข้าวเปลือกจากกัมพูชาไปปรับปรุงส่งออกได้อีก ดังนั้นตัวเลขส่งออกที่แท้จริง ของเวียดนามจะอยู่ที่ 7-8 ล้านตัน

นอกจากนี้ สถานการณ์การผลิตข้าวของประเทศกัมพูชายังเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากนักลงทุนจีนเข้าไปลงทุนซื้อที่ดิน เพื่อจัดผังเป็นระบบนาแปลงใหญ่และวางระบบน้ำ เช่น พื้นที่ 5,000 ไร่ ขุดบ่อ 200-300 ไร่ ทำได้ทั้งปี และเป็นไปได้ที่จะใช้กัมพูชาเป็นฐานการผลิตข้าวในอนาคตด้วยจึงเป็นที่น่าสังเกตว่าปีนี้กัมพูชาได้โควตาส่งออกข้าวไปจีนเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ตัน รวมเป็น 300,000 ตัน

อย่างไรก็ตาม กรมการข้าวได้เชิญผู้ส่งออกไปหารือเพื่อทราบสถานการณ์การส่งออกและความต้องการของตลาด พร้อมกับเริ่มปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด เช่น จีนต้องการข้าวพันธุ์อะไร นิ่มแค่ไหนเพื่อดึงสายพันธุ์ในสต๊อกมาพัฒนา ล่าสุดมีการพัฒนาออกมาใหม่ เช่น กข 43 กข 21 กข 77 และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 3-4 สายพันธุ์ ซึ่งในเบื้องต้นทราบว่าสายพันธุ์ดังกล่าวให้ผลผลิตสูงถึง 900-1,000กก.ต่อไร่ จากเดิมให้ผลผลิต 400-600 กก.ต่อไร่ อีกทั้งมีคุณภาพตรงความต้องการของตลาดจีน และคาดว่าน่าจะเป็นรูปธรรมในปีหน้า 2562/2563

“กรมการข้าวมีสต๊อกสายพันธุ์อยู่แล้ว เพียงแค่ต้องการทราบความต้องการตลาดว่าต้องการข้าวพันธุ์อะไร นิ่มแค่ไหน แล้วจึงหยิบพันธุ์ในสต๊อกมาพัฒนา แต่จุดอ่อนของไทยคือกว่าจะพัฒนาพันธุ์หนึ่งสำเร็จใช้เวลาหลายปี ขณะที่รอบบ้านเรา 2 ปีกว่าก็ทำได้แล้ว การพัฒนาเร็วขึ้น เดิมไทยมีข้าวหอมมะลิอยู่ในตลาดระดับบน และข้าวขาวอยู่ตลาดล่าง เรากำลังทำข้าวขาวให้ไปอยู่ตรงกลาง ซึ่งเวียดนามทำข้าวคุณภาพบวกไป 500 เหรียญสหรัฐฯ ไทยทำข้าวขาว 300-400 เหรียญสหรัฐ ที่ผ่านมาถ้าทำได้ 500 กว่าเหรียญสหรัฐ ชาวนาก็จะขายข้าวได้เกวียนละ 10,000 บาทต้น ๆ ถือเป็นประโยชน์กับภาคเกษตรด้วย”

ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรม มีแผนพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่อย่างต่อเนื่องโดยในปีที่ผ่านมาให้การรับรองพันธุ์ใหม่ไปแล้ว 6-8 พันธุ์ เช่น กข 43 กข 21 สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 4-5 สายพันธุ์ ส่วนปีนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวแต่ยังไม่ได้ให้การรับรองอีกหลายสายพันธุ์ เช่น กข 77 พัฒนาต่อเนื่องถึง กข 79

“นโยบายการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ มุ่งเน้นการพัฒนาข้าวที่ตรงความต้องการตลาด และข้าวที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ โดยหารือกับเอกชนเพื่อทราบความต้องการของตลาดมากขึ้น จากเดิมจะพัฒนาสายพันธุ์เพื่อตอบโจทย์เกษตรกร เช่น พันธุ์ที่มีความต้านทานโรค, น้ำท่วม ซึ่งอาจไม่ตรงความต้องการของตลาด เช่น เอกชนต้องการข้าวขาว พื้นนุ่ม ผลผลิตต่อไร่สูง เพื่อแข่งขันส่งออกในตลาดจีนจึงพัฒนาข้าว กข 21 ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่เอกชนต้องการ ผลผลิตต่อไร่ในพื้นที่ปลูกจริงบางสายพันธุ์ทำได้ถึง 900-1,000 กก. หรือสูงสุด 1,200 กก.ต่อไร่สูงกว่าตัวเลขที่ทางวิชาการระบุว่าทำได้เพียง 500-600 กก.ต่อไร่”


หลังจากรับรองแล้วกรม จะประสานกับภาคเอกชนทั้งโรงสีและผู้ส่งออก เพื่อให้ทราบว่ามีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ พร้อมจัดเตรียมผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อเป็นสต๊อกไว้ก่อนส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ใช้เวลาเฉลี่ย 2 ปีหลังจากรับรอง