สมาคมผู้ส่งออกข้าว คาดเดือนกรกฎาคม 2567 ไทยส่งออกข้าวได้ 700,000 ตัน ผลจากยังมีความต้องการ โดยเฉพาะตลาดหลักในเอเชีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น
วันที่ 5 สิงหาคม 2567 ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมคาดว่าในเดือนกรกฎาคม 2567 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 700,000 ตัน เนื่องจากผู้ส่งออกยังมีสัญญาที่ต้องส่งมอบพอสมควร
ประกอบกับประเทศผู้ซื้อยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มของข้าวขาว ที่ส่งไปยังตลาดหลักในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดหลักในภูมิภาคแอฟริกา เช่น โมซัมบิก แคเมอรูน แองโกลา ตะวันออกกลาง เช่น อิรัก รวมทั้งตลาดในแถบอเมริกา เช่น เม็กซิโก บราซิล เป็นต้น
ขณะที่ตลาดนำเข้าข้าวหอมมะลิที่สำคัญยังคงมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง เช่น สหรัฐ แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน ฝรั่งเศส เป็นต้น
โดยในปี 2567 นี้ สมาคมได้ปรับเป้าหมายการส่งออกข้าวจากเดิม 7.5 ล้านตัน เป็น 8.2 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่าความต้องการนำเข้าข้าวของตลาดที่สำคัญยังคงมีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี
ส่วนการส่งออกข้าวในเดือนมิถุนายน 2567 มีปริมาณ 1,022,553 ตัน มูลค่า 23,196 ล้านบาท โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 55.0% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 43.9% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2567 ที่มีการส่งออกปริมาณ 659,566 ตัน มูลค่า 16,124 ล้านบาท
เนื่องจากในเดือนมิถุนายน 2567 การส่งออกในกลุ่มของข้าวขาว ข้าวนึ่ง และปลายข้าว มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากมีการขนถ่ายสินค้าขึ้นเรือมากขึ้นหลังจากที่ตกค้างมาจากเดือนก่อน ประกอบกับผู้ส่งออกต่างเร่งส่งมอบข้าวให้ผู้ซื้อตามสัญญาที่ค้างอยู่ทั้งสัญญาเอกชนและสัญญารัฐบาล
ส่งผลให้การส่งออกข้าวขาวมีปริมาณมากถึง 651,908 ตัน เพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น อิรัก อินโดนีเซีย เม็กซิโก แคเมอรูน บราซิล ไอวอรีโคสต์ โมซัมบิก กานา ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่การส่งออกนึ่งมีปริมาณ 146,551 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 195% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 98,875 ตัน ลดลง 9.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวไทยในช่วงนี้ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนามที่ราคาต่ำกว่าไทยประมาณ 30 เหรียญสหรัฐ จึงทำให้ไทยเสียเปรียบในการประมูลข้าวของรัฐบาลอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ซึ่งคาดว่าเวียดนามประมูลได้ 185,000 ตัน และเมียนมาประมูลได้ 135,000 ตัน และคาดว่าการส่งออกข้าวของไทยในช่วงไตรมาส 3 อาจจะลดลงจากช่วงไตรมาส 1 และ 2 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 592 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม และปากีสถานอยู่ที่ 559-563 และ 574-578 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 596 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดียและปากีสถานอยู่ที่ 536-540 และ 593-597 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ
จากข้อมูลของกรมศุลกากรการส่งออกข้าวช่วง 6 เดือนแรกของปี (มกราคม-มิถุนายน 2567) มีปริมาณ 5,080,263 ตัน มูลค่า 117,836.4 ล้านบาท (3,303.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 25.3% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 55.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 ที่ส่งออกปริมาณ 4,055,184 ตัน มูลค่า 75,776.6 ล้านบาท