
บ้านปูวาง งบฯลงทุน 350 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี’67 หนุ่ยพัฒนาพลังงานหมุนเวียน-แหล่งพลังงาน หลังประกาศ ผลงานครึ่งแรกปี’67 กวาดรายได้ 2,441 ล้านเหรียญสหรัฐ EBITDA 650 ล้านเหรียญสหรัฐ เน้นลดต้นทุน ลดคาร์บอน เพิ่มประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
วันที่ 15 สิงหาคม 2567 นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำ แผนการลงทุน 5 ปี คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 ทั้งนี้บริษัทมีเป้าหมายที่จะ ปรับสัดส่วนของ EBITDA ของถ่านหินลดลงจากปัจจุบัน 60% เหลือ 50% ในปี 2030 โดยในแผนใหม่นี้จะไม่มีการลงทุนในกลุ่มธุรกิจเหมืองถ่านหินแล้ว
สำหรับงบประมาณการลงทุน ปี 2567 บ้านปูวาง 350 ล้านเหรียญสหรัฐโดยจะแบ่งสัดส่วนการลงทุนเป็นการลงทุนในกลุ่มของ พลังงานหมุนเวียน 50% และแหล่งพลังงาน 50%
ขณะที่ผลประกอบการครึ่งปีแรก 2567 ด้วยรายได้จากการขายรวม 2,441 ล้านเหรียญสหรัฐ (*ประมาณ 88,425 ล้านบาท) กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 650 ล้านเหรียญสหรัฐ (*ประมาณ 23,547 ล้านบาท) และกำไรสุทธิ 69 ล้านเหรียญสหรัฐ (*ประมาณ 2,489 ล้านบาท)
บริษัทยังคงมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและมาตรการควบคุมต้นทุน เดินหน้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ยกระดับการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งจัดสรรงบประมาณการลงทุนอย่างรอบคอบเพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว
“การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) มีความคืบหน้าจากโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Sequestration : CCUS) ในสหรัฐ ที่ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon Sequestered Gas : CSG) ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งใน Scope 1 2 และ 3 ในขณะเดียวกัน เรายังผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาใช้ยกระดับการดำเนินงานในทุกกลุ่มธุรกิจ (Digitalization) เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบนิเวศภายในบ้านปู
รวมทั้งมีการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายโอกาสด้านการขายและการตลาด เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานในอินโดนีเซีย และสหรัฐ”
ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทย่อยของบ้านปูในสหรัฐ BKV Corporation (BKV) ได้ขายสินทรัพย์ในธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำบางส่วนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักในแหล่งก๊าซธรรมชาติมาร์เซลลัส (Marcellus) ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐ มูลค่าประมาณ 132 ล้านเหรียญสหรัฐ การขายสินทรัพย์ในครั้งนี้ทำให้ BKV ยังคงวินัยทางการเงินที่ดีและสามารถมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทรัพย์สินที่มีผลตอบแทนสูงกว่า ส่วนโครงการ Ponder Solar โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ในแหล่งก๊าซบาร์เนตต์ รัฐเทกซัส มีกำหนดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2567 โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ BKV
จะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 2 จากธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำในธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการเอง ทั้งนี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของ BKV จะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโดยตรงและทางอ้อม ลดการพึ่งพาการซื้อไฟฟ้าจากภายนอก และใช้พลังงานที่ผลิตเองจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการ Ponder Solar และการดำเนินโครงการ CCUS เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งของบริษัทและของบริษัทอื่น ๆ
สำหรับผลการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน มุ่งควบคุมประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด โดยตั้งเป้าลดต้นทุนในธุรกิจเหมืองที่ 1.5-3.0 เหรียญสหรัฐต่อตัน และในธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่ 0.06-0.07 เหรียญสหรัฐต่อพันลูกบาศก์ฟุต ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ BKV ได้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลางกับ ENGIE Energy Marketing NA, Inc. และ Kiewit Infrastructure South Co.
โดยคาร์บอนเครดิตที่ได้มาพร้อมกับก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลางของ BKV มาจากการดำเนินโครงการ CCUS และเมื่อได้รับการรับรองจาก American Carbon Registry แล้ว คาดว่าจะสามารถส่งมอบก๊าซดังกล่าวได้ภายในสิ้นปี 2567
2.กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ยังคงสร้างผลกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง โดยในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ II ในสหรัฐฯ มีรายได้จากการขายไฟฟ้า 288 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีปริมาณขายไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นจากการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ Temple II ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 สำหรับธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และออสเตรเลีย ยังสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ
3.กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ในครึ่งแรกของปี 2567 ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ได้ลงนามสัญญาใหม่เพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับพันธมิตรในประเทศไทยในหลากหลายอุตสาหกรรม กำลังผลิตรวม 1.9 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตที่ดำเนินการแล้วเพิ่มขึ้น 4.1 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 100 เมกะวัตต์ ขณะที่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop PPA) ในอินโดนีเซีย จำนวน 10 เมกะวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน
เริ่มเดินหน้าสายการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของโรงงาน SVOLT Thailand และส่งมอบแบตเตอรี่ลิเทียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) ชุดแรกให้กับผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย ขณะที่การก่อสร้างโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มอิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) ในญี่ปุ่น มีความคืบหน้าตามแผนถึง 97% สำหรับธุรกิจอีโมบิลิตี้ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi ได้เข้าร่วมโครงการเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและเดินหน้าขยายเส้นทางการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ให้บริการรับส่งแล้วมากกว่า 13 ล้านเที่ยว
ในขณะที่ธุรกิจการบริหารจัดการพลังงาน เดินหน้าเพื่อการขยายระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลางในเฟส 2 ของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี และยังได้ลงนามในสัญญาบริการจำนวน 25 สัญญาให้แก่ SB Design Square ในจังหวัดภูเก็ตด้วย นอกจากนั้น หน่วยงาน Corporate Venture Capital ยังได้เข้าลงทุนใน enspired ผู้นำในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการซื้อ-ขายพลังงานไฟฟ้า เป็นระบบข้อมูลที่มีการซื้อ-ขายเรียลไทม์ผ่านแพลตฟอร์มและระบบอัตโนมัติที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี AI เพื่อยกระดับการดำเนินงานในธุรกิจแบตเตอรี่และการซื้อขายพลังงานของบ้านปู เน็กซ์
“ด้วยพอร์ตพลังงานที่ครบวงจรและผสมผสานทั้งพลังงานรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่อย่างสมดุลของบ้านปูในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เราตั้งเป้าให้แต่ละกลุ่มธุรกิจสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้อย่างแข็งแกร่งเพื่อผลตอบแทนที่มั่นคง สร้างคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและร่วมขับเคลื่อนโลกให้ดีขึ้นในทุก ๆ วัน” นายสินนท์กล่าว