
รัฐมนตรีใหม่ป้ายแดงใน ครม.แพทองธาร ชินวัตร ได้ฤกษ์ดีเริ่มทยอยเข้าทำงานที่กระทรวงกันวันแรกในวันที่ 11 ก.ย. 2567 ทำให้กระทรวงเศรษฐกิจคึกคักมากขึ้น ประชาชนเริ่มได้เห็น “ไฮไลต์” นโยบายเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ที่รัฐมนตรีวางเป้าหมายในการทำงานอย่างเร่งด่วนแบบไม่มีเวลาฮันนีมูน
เริ่มจากกระทรวงพาณิชย์ นำโดย “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีใหม่คนเดียว พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์หน้าเดิม ทั้ง “สุชาติ ชมกลิ่น และ “นภินทร ศรีสรรพางค์” โดยวางภารกิจหลักให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ค่าครองชีพลดลง การดูแลสินค้าเกษตร การดูแลผู้ประกอบการ SMEs การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และการป้องกันสินค้าไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ
“เศรษฐกิจของประเทศประสบปัญหามาหลายปี ต้องเร่งแก้ไข และเชื่อว่ากระทรวงพาณิชย์จะช่วยได้มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง SMEs ที่ปัจจุบันประสบปัญหาเยอะ ต้องเร่งช่วยเหลือ ซึ่งในส่วนที่ประสานได้ก็จะเร่งประสาน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ และส่วนกระทรวงพาณิชย์ก็จะช่วยเหลือในการหาตลาด บุกตลาด และเรื่องการเจรจาการค้าก็ต้องเดินหน้าต่อ มีแผนงานไว้แล้ว”
ส่วนประเด็นร้อนเรื่องปัญหาสินค้านำเข้า จะมีการพูดคุยกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยย้ำว่าหลักการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ คือการดูแลสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีมาตรฐานจากทุกประเทศที่เข้ามา เพื่อปกป้อง SMEs และผู้บริโภค
รวม “กองทุนอุตสาหกรรม”
ต่อเนื่องด้วย “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เข้ากระทรวงวันแรก 11 ก.ย. 2567 ประกาศนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที คือการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันแข่งขันได้ และผู้ประกอบการรายเล็กต้องถูกปกป้อง ถูกพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมใหม่
โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนยุบรวมกองทุนทั้งหมดที่อยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นกองทุนเดียว ในชื่อ “กองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม” มีวงเงินมากกว่า 20,000 ล้านบาท หน้าที่หลัก 4 อย่างคือ 1.การใช้เยียวยาชุมชนกรณีได้รับผลกระทบจากโรงงานที่อยู่ในกลุ่มสุ่มเสี่ยง สร้างผลกระทบทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม โดยจะให้โรงงานที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงวางเงินเพื่อเป็นหลักประกันส่งเข้ากองทุน
2.การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก SMEs ที่กำลังปรับตัว พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ หรือที่จะไปสู่ Go Green รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ 3.นำไปใช้สำหรับพัฒนาคนใหม่ ๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่อย่างยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 4.ใช้เพื่อพัฒนาพื้นที่ลงทุนใหม่สำหรับรายเล็ก SMEs โดยผลักดันให้เกิดการย้ายแหล่งลงทุนไปยังพื้นที่ที่นิคมอุตสาหกรรม จัดเตรียมไว้
ซึ่งขณะนี้ให้ทาง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งศึกษาการตั้งนิคมอุตสาหกรรม SMEs หรือนิคมอุตสาหกรรมบริการ เพื่อเป็นพื้นที่ให้โอกาสกับรายเล็กผลิตสินค้าป้อนเป็นซัพพลายเชนให้รายใหญ่ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ยังเป็นการจัดระเบียบพื้นที่การผลิตและที่อยู่อาศัยออกจากกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบชุมชน ซึ่งการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมดังกล่าวจะต้องออกกฎหมายขึ้นมาใหม่ โดยจะพยายามเร่งให้แล้วเสร็จในปี 2568
เสริมแกร่งสู้สินค้านำเข้า
พร้อมทั้งจะเร่งการแก้ปัญหาสินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และมีราคาถูกจากต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจจับ เตรียมหารือกระทรวงการคลังเรื่องมาตรการทางภาษี หารือกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องมาตรการสกัดสินค้าที่ทุ่มตลาด รวมถึงสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ของกระทรวงอุตสาหกรรมเองที่ต้องเร่งออกมาตรฐาน (มอก.) บังคับ มาควบคุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่มาตรการทั้งหมดนั้นจะต้องไม่กระทบกับสินค้าที่ผลิตและขายในประเทศไทย
“นโยบายที่กล่าวมาคือกรอบงานใหญ่ ในรายละเอียดเราลงลึกมาที่เรื่องการแก้ปัญหาเรื่องกากอุตสาหกรรม ปกป้องอุตสาหกรรมไทยจากการทุ่มตลาด สร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต New S-Curve สร้างสินค้าเกษตรเทคโนโลยีสูง พลาสติกชีวภาพ โอลีโอเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง อุตสาหกรรมยานยนต์ EV ชิปเซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมไปถึงปรับปรุงกฎหมาย กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน ที่สำคัญต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชน เอกชน ท้องถิ่น”
อุ้มราคาพลังาน-แก้กฎหมาย
ฟากฝั่งกระทรวงพลังงาน “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ยืนหยัดอยู่ในตำแหน่งเนื่องจากให้สัมภาษณ์ถึงแนวนโยบายเร่งด่วน ที่จะดำเนินการภายใต้ ครม.แพทองธาร ว่าจะมุ่งดูแลค่าครองชีพของประชาชน โดยเบื้องต้นได้เสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ไว้ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2567 ต่อเนื่องอีก 3 เดือน (1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2567) ส่วนราคาน้ำมันดีเซลที่ตรึงเพดานไว้ไม่เกิน 33 บาท ตามมติ ครม.ที่อนุมัติตรึงราคา 1 สิงหาคม-31 ตุลาคม 2567
พร้อมทั้งจะเร่งผลักดัน “กฎหมายด้านพลังงานฉบับใหม่” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1) กฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมัน ซึ่งล่าสุดได้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและด้านพลังงาน เพื่อตรวจทานรายละเอียดของกฎหมาย ซึ่งจะกำหนดให้การปรับราคาน้ำมันทำได้เดือนละหนึ่งครั้ง และให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงของต้นทุนน้ำมัน ซึ่งจะนำระบบ Cost Plus เป็นระบบที่คิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริง เข้าใช้แทนระบบอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ และจะกำกับดูแลไปถึงเรื่องของการจำหน่ายก๊าซหุงต้มด้วย
ทั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสาธารณกุศล รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร การประมง สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้ได้เอง เพราะถือเป็นการค้าเสรีอย่างแท้จริง ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีในการหาพลังงานของตัวเอง
2) กฎหมายที่อนุญาตส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ และ 3) กฎหมายการจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง ซึ่งจะต้องมีคลังจัดเก็บน้ำมันสำรองในเบื้องต้น 90 วัน หรือประมาณ 9,000 ล้านลิตร ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดเตรียมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการสํารองน้ำมันของประเทศ เพื่อดูแลปัญหาราคาน้ำมัน แทนกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจะเปลี่ยนกองทุนน้ำมันที่ใช้เงินและสร้างหนี้สาธารณะให้กลายมาเป็นทรัพย์สินของประเทศ
ทั้งหมดนี้คาดว่า 2 ฉบับแรกจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาภายในปีนี้ (2567) ส่วนฉบับที่ 3 จะเข้าสภาปี 2568
หญิงเหล็กแห่งกระทรวงเกษตรฯ
ขณะที่ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯป้ายแดง นายอิทธิ ศิริลัทธยากร และ นายอัครา พรหมเผ่า ซึ่งจะประกาศนโยบายในสัปดาห์นี้ หลายฝ่ายมั่นใจว่าการดำเนินการของกระทรวงเกษตรฯ ภายใต้การกุมบังเหียนของแม่ทัพหญิงเหล็ก จะสานต่อนโยบายที่ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์วางไว้แบบราบรื่นไร้รอยต่อ ทั้ง 1) การสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ โดยการจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนภาคการเกษตร สร้างครอบครัวเกษตร และขับเคลื่อนภารกิจ ยกระดับ MR. สินค้าเกษตร
2) การรับมือภัยธรรมชาติจะต้องวางแผนมาตรการต่าง ๆ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ 3) ปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยถือเป็นการประกาศสงครามสินค้าเกษตรเถื่อนอย่างจริงจัง 4) ยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกร ด้วยการผลักดันส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสร้าง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง และส่งเสริมเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร
5) การจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG/Carbon Credit จะต้องทำการเกษตรที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม การกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ถูกต้อง การลดปริมาณปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง มีการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย
และ 6) การอำนวยความสะดวกด้านการเกษตรด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาระบบการประกันภัยภาคการเกษตร การสนับสนุนให้บริการเครื่องมือทางการเกษตรที่เหมาะสมต่อการผลิต ทั้งหมดนี้เพื่อผลักดันสู่เป้าหมายเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี ให้ไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริงตามนโยบายที่ได้เคยวางไว้