BOI รับฟังข้อเสนอ 8 ค่ายรถจีน ปรับเงื่อนไขแพ็กเกจอีวี ชงบอร์ดชุดใหม่

EV

BOI รับฟังข้อเสนอ 8 ค่ายรถจีน เตรียมหารือปรับเงื่อนไขแพ็กเก็จอีวี 3.0-3.5 ชงบอร์ด EV ชุดใหม่

วันที่ 16 กันยายน 2567 หลังจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เปิดรับฟังปัญหาและการดำเนินธุรกิจในไทย และมีค่ายรถจีน 8 ค่าย คือ MG, เกรท วอลล์ มอเตอร์, NETA, BYD, AIONO, CHANGAN, OMODA&JAECOO, ZEEKR เสนอว่าควรจะมีการเจรจาต่อรองกับภาครัฐ ขอปรับเงื่อนไขมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV 3.0 และ EV 3.5

เนื่องจากปัจจุบันตลาดรถยนต์ในประเทศหดตัวอย่างรุนแรงมาก จากเศรษฐกิจประเทศไทยยังไม่ผงกหัวขึ้น กำลังซื้อก็อ่อนแอ ทั้งยังมีปัญหาการปล่อยสินเชื่อที่ต้องรัดกุมจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ตลาดส่งออกก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การขนส่งล่าช้า และมีหลายประเทศแบนรถ EV จากจีน ทำให้ตอนนี้ตลาดรถ EV ชะลอตัว

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเห็นเสนอบอร์ด EV ซึ่งขณะนี้กำลังรอแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่

สำหรับมาตรการ EV 3.5 รัฐจะให้เงินอุดหนุนตามประเภทของรถและขนาดของแบตเตอรี่

1.กรณีรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 50,000-100,000 บาทต่อคัน สำหรับขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 20,000-50,000 บาทต่อคัน

ADVERTISMENT

2.กรณีรถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 50,000-100,000 บาทต่อคัน

3.กรณีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อคัน

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ จะมีการลดอากรนำเข้าไม่เกิน 40% สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (CBU) ในช่วง 2 ปีแรก (ปี 2567-2568) กรณีเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท

โดยได้ตั้งเงื่อนไขกระตุ้นการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิต เพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 ต่อ 3 ภายในปี 2570 พร้อมทั้งกำหนดให้แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปที่นำเข้าและผลิตในประเทศไทยจะต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานตามมาตรฐานสากลจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC)

ขณะที่มาตรการ EV 3.0 ที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2023 (2566) จะต้องเริ่มการผลิตรถเพื่อชดเชยตามปริมาณรถที่นำเข้ามาจำหน่ายในเงื่อนไขที่กำหนด หรืออัตราส่วน 1 ต่อ 1 สำหรับการผลิตคืนในปี 2024 (ปีนี้) และ 1 ต่อ 1.5 สำหรับรถที่ผลิตคืนภายในปี 2025 โดยสำหรับรถที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะผลิตรถโมเดลใดก็ได้ แต่หากเป็นรถที่ราคาเกิน 2 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท จะต้องผลิตรถโมเดลเดียวกับที่นำเข้ามาจำหน่าย